กล้วยถือเป็นพืชปลูกที่เก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่งของโลก แม้จะเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่ามีการปลูกกล้วยเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่ยังไม่ทราบว่าท้องถิ่นใดเป็นแหล่งกำเนิดที่ชัดเจน หลักฐานซากดึกดำบรรพ์ของกล้วยนั้นนับว่าพบได้น้อยมากทั้งนี้เพราะกล้วยเป็นพืชที่อวบน้ำจึงเกิดเป็นฟอสซิลได้ยาก แต่ก็มีรายงานการพบ
ฟอสซิลของเซลใบที่กลายเป็นหิน (phytolith) ของกล้วยในดิน ตามถ้ำหรือรวมอยู่กับซากฟอสซิลของพืชชนิดอื่นบ้าง จากการศึกษาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของกล้วยโดยการเปรียบเทียบลักษณะทางสัณฐานวิทยาและการศึกษาลักษณะทาง
พันธุกรรมพบว่ากล้วยที่บริโภคกันในปัจจุบันนี้พัฒนามาจากหรือเป็นลูกผสมระหว่างกล้วยป่า  2 ชนิดได้แก่ กล้วยป่า (Musa acuminata Colla) และกล้วยตานี (Musa balbisiana Colla) ทำให้เกิดกล้วยหลากหลายสายพันธุ์ ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของกล้วยซึ่งอาจส่งผลต่อวิวัฒนาการของกล้วยนั้นนอกจากจะสามารถเกิดขึ้นตามธรรมชาติแล้ว ปัจจัยที่มีอิทธิพลมากคือการคัดเลือกและปรับปรุงลักษณะพันธุ์ปลูกของกล้วยโดยมนุษย์เพื่อให้ได้ลักษณะตามที่ต้องการ

          ในเรื่องวิวัฒนาการของกล้วยร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นก็มีผู้สนใจศึกษาเช่นกัน เช่น การศึกษาติดตามการอพยพย้ายถิ่นของกลุ่มมนุษย์ยุคหินใหม่จากเอเชียไปยังแอฟริกาโดยศึกษาพันธุ์กล้วยปลูก หรือการกระจายของไวรัสกล้วยซึ่งแฝงอยู่ในต้นพันธุ์กล้วยและถูกนำไปยังท้องถิ่นต่างๆ นอกจากนี้วิวัฒนาการร่วมของกล้วยกับพาหะถ่ายเรณู เช่น ค้างคาว นกและแมลงต่างๆก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาต่อไปเพราะยังไม่มีรายงานออกมามากนัก และในประเทศไทยเองนับว่าเป็นแหล่งที่มีตัวอย่างกล้วยหลากหลายสายพันธุ์ให้ได้ศึกษามากมายจึงเป็นโอกาสดีที่สามารถศึกษาวิจัยวิวัฒนาการของกล้วยในแง่มุมต่างๆต่อไป

 

(ข้อมูลจาก ดร.ศศิวิมล แสวงผล ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
และ ดร.จามร สมณะ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)