วิวัฒนาการร่วมเป็นวิวัฒนาการแบบพึ่งพิงอาศัย
(mutualism) ของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิดหรือมากกว่าที่มีความเกี่ยวข้องกัน
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตหนึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่ออีกสิ่งมีชีวิตหนึ่ง
ส่งผลให้การวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ดำเนินไปร่วมกัน
จากบทความพิเศษเรื่องวิวัฒนาการร่วม
(coevolution) ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
(http://www.nsm.or.th/modules.php?name=News&file=article&sid=490) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิวัฒนาการร่วม
ดังนี้ วิวัฒนาการร่วมระหว่างพืชกับสัตว์ในลักษณะพืชกับผู้ผสมเกสร
ทำให้พืชและสัตว์มีการปรับเปลี่ยนลักษณะบางประการเพื่อให้เหมาะสมและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน
ในส่วนของพืชมีวิวัฒนาการของดอกเพื่อดึงดูดและให้เหมาะสมกับผู้ผสมเกสรชนิดนั้นๆเช่น
เวลาบานของดอก รูปร่าง สี กลิ่น ปริมาณน้ำหวาน จำนวนละอองเกสรตัวผู้
และตำแหน่งของดอก เป็นต้น ส่วนผู้ผสมเกสรก็มีวิวัฒนาการในด้านสัณฐานวิทยา
สรีรวิทยา และวิธีการหากิน เป็นต้น
โดยปฏิสัมพันธ์ระหว่างพืชกับสัตว์ในลักษณะนี้จะได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายคือ
พืชได้รับการผสมเกสรแบบข้ามต้นข้ามดอกสูง ซึ่งส่งเสริมความหลากหลายทางพันธุกรรม
และสัตว์ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการหาอาหาร
บทความดังกล่าวยังได้ยกตัวอย่างของวิวัฒนาการร่วมระหว่างค้างคาวและต้นเพกาไว้อย่างน่าสนใจ
ลักษณะการเข้ากินน้ำหวานจากดอกเพกาของค้างคาวเล็บกุด
"ค้างคาวจัดเป็นผู้ผสมเกสรตามธรรมชาติที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง
ดังนั้นพืชที่ต้องการค้างคาวเป็นผู้ผสมเกสรนั้น จึงมีการปรับเปลี่ยนลักษณะบางประการให้เหมาะสมและเอื้อประโยชน์สูงสุดซึ่งกันและกันระหว่างค้างคาวกับพืช ตัวอย่างคู่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพืชกับค้างคาวที่มีความใกล้ชิดกันมาก
นั่นก็คือ ต้นเพกา กับค้างคาวเล็บกุดดังแสดงในภาพ โดยเพกาเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ต้องการค้างคาวเป็นผู้ผสมเกสร
จากลักษณะของดอกที่สามารถรองรับผู้ผสมเกสรที่มีน้ำหนักมากอย่างค้างคาวได้
มีกลีบดอกและก้านชูดอกที่แข็งแรงแต่ยืดหยุ่น ขณะที่ค้างคาวเข้ามาเกาะที่ดอกเพื่อกินน้ำหวาน
น้ำหนักของค้างคาวทำให้ดอกเพกาโน้มลงมาพร้อมกับเทน้ำหวานที่เก็บกักไว้ตรงโคนดอกออกมา"
|