บทความพิเศษ: วิวัฒนาการร่วม( Coevolution )

Science Magazineสิ่งมีชีวิตนับ 10 ล้านชนิดที่เรารู้จักในโลกนี้ ทุกชนิดล้วนมีปฏิสัมพันธ์ต่อสิ่งมีชีวิตต่างชนิดกันทั้งนั้น เช่นการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในลักษณะแก่งแย่งกัน (Competition) เป็นผู้ล่าและผู้ถูกล่า (Predator/prey) และพึ่งพาอาศัยกัน (Mutualistic) ดังนั้นโครงสร้างสังคมสิ่งมีชีวิตจะประกอบไปด้วยการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันของสิ่งมีชีวิตต่างๆมากมาย ซึ่งในที่นี้จะเลือกกล่าวถึงเฉพาะการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันระหว่างพืชกับสัตว์ (Plant - animal interactions) ในลักษณะพืชกับผู้ผสมเกสร (Plant – pollinator interactions)
ในธรรมชาติการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันระหว่างพืชกับสัตว์ (Plant - animal interaction) มีความสำคัญอย่างมากต่อความหลากหลายในระบบนิเวศป่าเขตร้อน โดยเฉพาะปฏิสัมพันธ์ในลักษณะที่สัตว์เป็นผู้ผสมเกสรให้กับพืช ซึ่งจากการเข้ามาใช้ประโยชน์จากดอกไม้ จะทำให้เกิดการผสมเกสรในรูปแบบที่แตกต่างกัน และการผสมเกสรที่ทำให้เกิดการติดผลได้ดีที่สุด คือการผสมที่นำพาเกสรของพืชชนิดเดียวกันจากต้นหนึ่งเข้ามาผสมกับอีกต้นหนึ่ง หรือเป็นไปในลักษณะการผสมข้ามต้น (Out-crossing) อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความหลากหลายของลักษณะทางพันธุกรรมของต้นไม้ชนิดนั้นด้วย


วิวัฒนาการร่วมระหว่างพืชกับสัตว์ในลักษณะพืชกับผู้ผสมเกสร ทำให้พืชและสัตว์มีการปรับเปลี่ยนลักษณะบางประการเพื่อให้เหมาะสมและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ในส่วนของพืชมีวิวัฒนาการของดอกเพื่อดึงดูดและให้เหมาะสมกับผู้ผสมเกสรชนิดนั้นๆเช่น เวลาบานของดอก   รูปร่าง สี กลิ่น ปริมาณน้ำหวาน จำนวนละอองเกสรตัวผู้ และตำแหน่งของดอก เป็นต้น (Faegri and van der Pijl, 1971 in Bawa, 1990) ส่วนผู้ผสมเกสรก็มีวิวัฒนาการในด้านสัณฐานวิทยา    สรีรวิทยา และวิธีการหากิน เป็นต้น (Barnard, 1983) โดยปฏิสัมพันธ์ระหว่างพืชกับสัตว์           ในลักษณะนี้จะได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายคือ พืชได้รับการผสมเกสร (มีโอกาสเป็นแบบข้ามสูง ซึ่งเป็นแบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด) และสัตว์ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการหาอาหาร ค้างคาวจัดเป็นผู้ผสมเกสรตามธรรมชาติที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง ดังนั้นพืชที่ต้องการค้างคาวเป็นผู้ผสมเกสรนั้น จึงมีการปรับเปลี่ยนลักษณะบางประการให้เหมาะสมและเอื้อประโยชน์สูงสุดซึ่งกันและกันระหว่างค้างคาวกับพืช โดยในส่วนของค้างคาวประมาณ 250 ชนิดจากกว่า 850 ชนิดที่มีการสำรวจพบบนโลกหรือประมาณ 30% ของชนิดค้างคาวทั้งหมดใช้ประโยชน์จากพืชเพื่อเป็นแหล่งอาหาร (Fleming, 1982) ซึ่งเราเรียกค้างคาวในกลุ่มนี้ว่า ค้างคาวกินผลไม้ (Frugivorous bat) ค้างคาวเหล่านี้ได้รับอาหารจากพืชในรูปของ น้ำหวาน ละอองเกสรดอกไม้ และผลไม้ ซึ่งลักษณะรูปร่างภายนอก และพฤติกรรมการหาอาหารโดยทั่วไปของค้างคาวกลุ่มนี้คือ
1. มีจมูกยาวคล้ายสุนัข (ในบางพื้นที่ ชาวบ้านจะเรียกว่า ค้างคาวหน้าหมา) รวมถึงมีระบบประสาทการรับกลิ่นที่ดี
2. ดวงตากลมโต ช่วยให้สามารถมองเห็นในตอนกลางคืนได้ดี
3. ลิ้นยาวเรียว โดยเฉพาะในบางชนิดที่กินน้ำหวานจากดอกไม้เป็นอาหาร ลิ้นยาวจนโผล่ออกมานอกปาก (ภาพที่ 1)
4. มีพื้นที่หากินไกล ทั้งนี้เป็นการช่วยนำละอองเกสรจากต้นหนึ่งไปผสมกับอีกต้นหนึ่งที่อยู่ห่างไกลออกไป เป็นการเพิ่มโอกาสในการติดผล หรือช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไปยังพื้นที่ที่ไกลออกไป เป็นการเพิ่มโอกาสในการงอกของเมล็ด

ในส่วนของพืช จะสังเกตได้อย่างชัดเจนจากดอก โดยลักษณะของดอกที่ได้มีวิวัฒนาการเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ผสมเกสรที่เป็นค้างคาว (Faegri and van der Pijl, 1971 in Bawa, 1990) คือ
1. ดอกบาน ละอองเกสรตัวผู้พร้อมผสม และน้ำหวานหลั่ง ในเวลากลางคืน
2. ดอกบานช้าและเริ่มบานตั้งแต่ตอนกลางวัน
3. กลีบดอกมีสีขาว ขาวครีม เหลืองอ่อน และม่วง เป็นต้น
4. ดอกมักจะอยู่ได้คืนเดียวหลังบาน
5. ดอกจะมีกลิ่นแรง คล้ายกลิ่นอับ กลิ่นบูดเปรี้ยว เป็นต้น
6. ตัวดอกและก้านดอกมีความแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักของค้างคาวได้ (ภาพที่ 2)
7. น้ำหวานมีปริมาณมาก (ภาพที่ 3)
8. ละอองเกสรตัวผู้มีปริมาณมาก
9. ตำแหน่งของดอกยื่นออกมานอกลำต้นชัดเจน
จากลักษณะที่กล่าวมาของทั้งค้างคาวและพืช แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวที่ให้ผลในลักษณะการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน  ซึ่งจะช่วยให้สิ่งมีชีวิตทั้ง 2 กลุ่มนี้สามารถอยู่รอดและดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ในธรรมชาติ
ตัวอย่างคู่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพืชกับค้างคาวที่มีความใกล้ชิดกันมาก นั่นก็คือ ต้นเพกา กับค้างคาวเล็บกุด โดย เพกา เป็นพืชชนิดหนึ่งที่ต้องการค้างคาวเป็นผู้ผสมเกสร  จากลักษณะของดอกที่สามารถรองรับผู้ผสมเกสรที่มีน้ำหนักมากอย่างค้างคาวได้ มีกลีบดอกและก้านชูดอกที่แข็งแรงแต่ยืดหยุ่น (ภาพที่ 4) ขณะที่ค้างคาวเข้ามาเกาะที่ดอกเพื่อกินน้ำหวาน น้ำหนักของค้างคาวทำให้ดอกเพกาโน้มลงมาพร้อมกับเทน้ำหวานที่เก็บกักไว้ตรงโคนดอกออกมา และจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ค้างคาวเล็บกุด (ภาพที่ 1) โดยเฉพาะตัวเต็มวัย ที่มีน้ำหนักประมาณ 35-82 กรัม สามารถเข้าไปกินน้ำหวานจากดอกเพกาได้ง่ายที่สุด ในทางตรงกันข้ามถ้าหากค้างคาวมีน้ำหนักไม่มากพอ จะไม่สามารถทำให้ดอกเพกาโน้มลงมาพร้อมกับเทน้ำหวานออกมาได้ เช่น ค้างคาวหน้ายาว เป็นค้างคาวกินน้ำหวานขนาดเล็ก น้ำหนักตัวประมาณ 25 กรัม ไม่สามารถทำให้ดอกเพกาโน้มลงมาได้ขณะเข้ามาเกาะ จึงไม่ได้กินน้ำหวาน และจากการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่เป็นสิ่งยืนยันว่าค้างคาวหน้ายาวไม่สามารถกินน้ำหวานจากดอกเพกาได้คือ ไม่พบละอองเกสรของดอกเพกาที่ตัวค้างคาวหน้ายาวเลย แต่จะพบที่ตัวค้างคาวเล็บกุดเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากลักษณะดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันเฉพาะเจาะจงระหว่างพืชอย่างเพกาและผู้ผสมเกสรอย่างค้างคาวเล็บกุด และในธรรมชาติความสัมพันธ์อันเฉพาะเจาะจงระหว่างสิ่งมีชีวิต 2 ชนิดในลักษณะดังกล่าวนี้ยังมีอยู่อีกมากที่กำลังรอการค้นพบ
ประโยชน์ที่ได้จากงานวิจัยในลักษณะนี้นอกจะเป็นการทำความเข้าใจว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นมีรูปแบบพฤติกรรมการดำรงชีวิตอย่างไร จึงสามารถอยู่รอดได้ดีในธรรมชาติและสืบทอดเผ่าพันธุ์ของตนเองมาได้ถึงปัจจุบันแล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงงานวิจัยกับโครงการอนุรักษ์ในอนาคตได้ ซึ่งจะเป็นไปในลักษณะการทำความเข้าใจต่อสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆที่มีบทบาทสำคัญในธรรมชาติและเอื้อประโยชน์ต่อมนุษย์ ชี้ให้เห็นถึงผลเสีย ของการฆ่า รบกวนและทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต แม้เพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็จะสามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอีกหลายชนิดได้ ซึ่งผลดังกล่าวจะกระทบต่อๆกันเป็นลูกโซ่ และสุดท้ายมนุษย์เราก็จะได้รับผลดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งการทำความเข้าใจในลักษณะนี้อาจจะช่วยส่งเสริมให้วัตถุประสงค์ของการอนุรักษ์สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีในเวลาอันสั้น แต่ในปัจจุบันงานวิจัยในลักษณะนี้ยังมีน้อยมากในประเทศไทย ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ ควรหันมาสนใจงานในด้านนี้เพิ่มขึ้น เพราะยังมีสิ่งชีวิตอีกหลายชนิดที่กำลังถูกคุกคามจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมนุษย์

เอกสารอ้างอิง

Barnard, C. J.  1983.  Animal behaviour ; Ecology and evolution.  Great Britain :
      Biddles Ltd., Guildford and King ’s Lynn.  339 pp.
Bawa, K. S.  1990.  Plant – pollinator interactions in tropical rain forests. Ann. Rev. Ecol.
      Syst.  21 : 399 - 422.
Fleming, T. H.  1982.  Foraging strategies of plant - visiting bats.  In Kunz, T. H. (ed.)
      Ecology of bats. New York : Plenum Press.  287 - 325 pp. 
Gould, E.  1978.  Foraging behaviour of Malaysian Nectar-Feeding Bats.  Biotropica 10
      (3) : 184 - 193.




 
· ข้อมูลเพิ่มเติม Science Magazine
· เสนอข่าวโดย administrator


 หน้าเอกสารสำหรับพิมพ์  หน้าเอกสารสำหรับพิมพ์

 ส่งเรื่องนี้ต่อให้เพื่อน  ส่งเรื่องนี้ต่อให้เพื่อน






พลังงานขับเคลื่อนเว็บไซต์นี้มาจาก PHP-Nuke และThaiNuke เสริมสร้าง. PHP-Nuke เป็นฟรีซอฟท์แวร์ที่ถูกแจกจ่าย โดยภายใต้ลิขสิทธิ์ของGNU/GPL .

การสร้างหน้าเอกสาร: 0.551 วินาที