จากคำกล่าวที่ว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” หรือ การที่สิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ยังคงลักษณะ
เผ่าพันธุ์ของตัวเองเสมอ คุณทราบหรือไม่ว่า การถ่ายทอดลักษณะต่างๆ จากพ่อแม่ไปสู่ลูก
เกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรเป็นตัวกลางสำคัญ และ การถ่ายทอดลักษณะจากพ่อแม่สู่ลูก เช่น
สีผม  สีตา  มีหลักการอะไรที่สำคัญ?

      สำหรับคำอธิบายที่เคยมีผู้คิดว่าเป็นไปได้อย่างหนึ่งคือ การผสมกันของสารพันธุกรรมของ
พ่อแม่ เช่นเดียวกับการผสมสี เช่น สีฟ้าผสมกับสีเหลืองได้สีเขียวตามสมมติฐานการผสม
(blending hypothesis) คือการที่สารพันธุกรรมของพ่อผสมกับสารพันธุกรรมของแม่
จนเป็นเนื้อเดียวเหมือนการผสมสีแล้วถ่ายทอดมาสู่ลูก


รูปที่ 2.1 แสดงสมมติฐานการผสม (blending hypothesis)

        ถ้าสมมติฐานการผสมเป็นจริง การถ่ายทอดลักษณะต่างๆในคนหรือสิ่งมีชีวิตอื่นจะเป็น
อย่างไร?  แต่เมื่อลองคิดดูดีๆ ก็จะพบว่าถ้าการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมเป็นเช่นนั้นจริง
เราก็ควรสังเกตเห็นแบบแผนตายตัวของลักษณะต่างๆของลูกๆ แต่ความจริงที่เห็น คือ
บางลักษณะปรากฏในรุ่นพ่อแม่ หายไปในรุ่นลูกแล้วมาปรากฏอีกครั้งในรุ่นหลาน
เป็นเพราะอะไร และทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?