ในการทำอาหาร เราจะสังเกตว่าต้องมีปริมาณส่วนผสมที่พอดีเพื่อที่จะได้อาหารออกมา 1จาน แต่ถ้าเกิดต้องการเพิ่มปริมาณอาหารให้เหมาะสมกับจำนวนคนที่มาในงานเลี้ยง เราต้องคำนวณส่วนผสมเพิ่มขึ้นตามอัตราส่วนที่ต้องการ โดยที่แต่ละจานที่ได้จะต้องมีส่วนผสมที่เท่ากันด้วย ลองคิดดูว่า ถ้าเราใช้การคำนวณก่อนที่จะทำอาหารทุกครั้ง เราก็จะสามารถวางแผนในการผลิตอาหาร ซึ่งจะทำให้ใช้วัตถุดิบที่พอดีและคุ้มค่ากับเงินที่ใช้ไป ซึ่งคล้ายกับปริมาณสารสัมพันธ์ ที่อธิบายถึงการคำนวณปริมาณของสารตั้งต้นที่ใช้ในปฏิกิริยาเคมีหนึ่งเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ออกมาตามความต้องการ เนื่องจากสารเคมีที่ใช้บางชนิดเป็นสารที่อันตราย บางชนิดอาจราคาแพง บางชนิดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เราควรที่จะใช้สารเคมีให้คุ้มค่า และไม่เหลือทิ้ง ดังนั้นการคำนวณจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการวางแผนการผลิต แนวความคิดที่สำคัญในปริมาณสารสัมพันธ์ คือ การดุลสมการซึ่งจะทำให้ทราบถึงจำนวนโมลที่เข้าไปทำปฏิกิริยา เหมือนกับเป็นการทำบัญชีของอะตอมในแต่ละข้างของสมการเคมี โดยที่ข้างซ้ายและข้างขวาของสมการจะต้องมีจำนวนอะตอมเท่ากัน ดังตัวอย่าง

รูปแสดงบัญชีอะตอมด้านซ้ายและด้านขวาต้องเท่ากัน

          สิ่งที่สำคัญในบทนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นการคำนวณ แต่ไม่ใช่การคำนวณที่จะต้องมีสูตรต้องจำมากมาย เพียงแต่เราต้องทำความเข้าใจกับความหมายของหน่วยต่างๆ ความสัมพันธ์ระหว่างโมล ,กรัม, น้ำหนักโมเลกุล รวมไปถึงความเข้าใจในสมการเคมีว่าเป็นตัวบ่งบอกว่าเราจะใช้สารเคมีเท่าไร ความสัมพันธ์ที่กล่าวมาข้างต้นแสดงดังรูปภาพด้านล่าง

ความสำคัญและประโยชน์ในการเรียนปริมาณสารสัมพันธ์

        1. ใช้คำนวณหาปริมาณสารที่จะใช้เป็นสารตั้งต้น เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ตามต้องการ
        2. นำไปแปรผล หรืออธิบายผลจากการวิเคราะห์ทางเคมี
        3. ใช้ในอุตสาหกรรม หรือการค้า เพื่อใช้ในการตัดสินใจในการเลือกปฏิกิริยาที่คุ้มค่า และประหยัดที่สุด
        4. สามารถบอกได้ว่าจะมีสารตัวใดเหลือเท่าไร จากปฏิกิริยาเคมี

        การเรียนเรื่องปริมาณสารสัมพันธ์ให้ได้ประสิทธิภาพนั้นนักเรียนควรที่จะทำโจทย์ให้มากที่สุด
และเข้าใจแนววิธีการคิด และความสัมพันธ์ของหน่วยต่างๆให้ชัดเจน