หลังจากที่เราทำความเข้าใจฟังก์ชันสภาวะไปแล้ว เราจะมาทำความเข้าใจกับฟังก์ชันอีก 2 ตัว คือ งานกับความร้อน เราจะได้ทราบว่า งานในทางเทอร์โมไดนามิกส์คืออะไร เหมือนกับงานในทางฟิสิกส์หรือไม่ และความร้อนที่ว่านั้น คือ อุณหภูมิที่เราวัดได้จากเทอร์โมมิเตอร์หรือไม่

       โดยทั่วไปแล้วหลายๆ คนอาจจะบอกว่างาน (w) คือ แรง (F) คูณระยะทาง (d) แต่ในทางเทอร์โมไดนามิกส์ (อุณหพลศาสตร์) งาน (w) หมายรวมทั้ง แรงคูณด้วยระยะทาง งานเชิงกล งานเชิงไฟฟ้า และงานในรูปอื่นๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น งานเชิงกลที่เกิดจากการขยายตัวของแก๊สในกระบอกสูบซึ่งมีลูกสูบที่ไร้น้ำหนักและไร้แรงเสียดทาน ณ อุณหภูมิ ความดัน และปริมาตรที่กำหนด

       เราอาจจะบอกว่า งานในทางเทอร์โมไดนามิกส์ คือ “การเปลี่ยนแปลงปริมาตรของระบบ ภายใต้อิทธิพลของความดันภายนอก (external pressure)” ก็ได้
        
งานที่สิ่งแวดล้อมกระทำต่อระบบ (ระบบหดตัว) มีค่าเป็นบวก
         งานที่เกิดจากระบบกระทำต่อสิ่งแวดล้อม (ระบบขยายตัว) มีค่าเป็นลบ

        เนื่องจากงานเกิดจากการเปลี่ยนแปลงปริมาตรของระบบภายใต้แรงดันภายนอก (Pext) ดังนั้น จึงใช้เป็น -Pext เพื่อทำให้งานที่เกิดจากหดตัวมีค่าเป็นบวก และงานที่เกิดจากการขยายตัวมีค่าเป็นลบ (ในทางฟิสิกส์ w   =    + PextDV และคิดเครื่องหมายไม่เหมือนกัน)

w   =    -PextDV

เมื่อ DV เป็นการเปลี่ยนแปลงปริมาตร (Vf - Vi)
  Vf และ Vi เป็นปริมาตรของระบบที่สภาวะสุดท้าย (final volume) และสภาวะเริ่มต้น (initial volume) ตามลำดับ

 

นักเรียนคิดว่า งานเป็นสมบัติของระบบหรือเป็นฟังก์ชันสภาวะหรือไม่ ? เราลองมาดูตัวอย่างการเกิดงาน 2 วิธี นี้ก่อน แล้วเราจะทราบคำตอบ

ตัวอย่าง  แก๊สชนิดหนึ่งขยายตัวที่อุณหภูมิคงที่จาก 264 mL เป็น 971 mL จงคำนวณงานที่เกิดขึ้น ถ้าแก๊สนี้ขยายตัว
               ก) ต้านกับสุญญากาศ
               ข) ต้านกับความดันคงที่ 4.0 atm
วิธีคิด
               ก) เนื่องจากความดันภายนอกเป็นศูนย์

                              w   =    - PDV
                                    =    -0(971 mL - 264 mL)    =    0

               ข) ความดันภายนอกเท่ากับ 4.0 atm

                              w   =   - PDV
                                    =   - (4.0 atm)(0.971L – 0.264 L) = - 2.828 L.atm

เนื่องจาก 1 L.atm = 101.3 J

                              w   =   - 2.828 L.atm (101.3 J/1 L.atm)
                                    =   - 2.86 x 102  J

         งานในกระบวนการ ก) และ ข) มีค่าไม่เท่ากันทั้งๆ ที่สภาวะเริ่มต้นและสภาวะสุดท้ายเหมือนกัน เพราะงานขึ้นอยู่กับกระบวนการเกิดด้วย งานจึงไม่ใช่ฟังก์ชันสภาวะ