4. แผนผังวัฏภาค (phase diagram)

        เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า สสาร มี 3 สถานะ คือ ของแข็ง ของเหลว และแก๊ส และในแต่ละสถานะสามารถเปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างกันได้เมื่ออยู่ในสภาวะที่เหมาะสม เราสามารถเขียนแผนผังการเปลี่ยนแปลงของสารที่อยู่ในสถานะของแข็ง ของเหลว และแก๊ส ที่อุณหภูมิและความดันต่าง ๆ ไว้ในแผนผังเดียวกันได้ และเรียกแผนผังนี้ว่า แผนผังวัฏภาค (phase diagram) ดังรูป

        จากรูป แผนผังแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน แต่ละส่วนจะมีอยู่เพียงวัฏภาค (phase) เดียว คือ ของแข็ง ของเหลว หรือแก๊ส เส้น AB เป็นเส้นสมดุลวัฏภาคระหว่างของแข็งกับแก๊ส และเป็นเส้นแบ่งส่วนที่เป็นของแข็งกับแก๊ส เส้น BC เป็นเส้นสมดุลวัฎภาคระหว่างของแข็งกับของเหลว และเป็นเส้นแบ่งส่วนที่เป็นของแข็งกับของเหลว โดยทั่วไปแล้ว แนวโน้มของเส้น BC ส่วนใหญ่จะเบนไปทางขวามือ (ดังกราฟ) ยกเว้น น้ำ เพราะว่าน้ำที่เป็นของแข็งจะมีปริมาตรมากกว่าน้ำที่เป็นของเหลว จึงทำให้ความหนาแน่นของน้ำที่เป็นของแข็งจะมีค่าน้อยกว่าความหนาแน่นของน้ำที่เป็นของเหลว และเส้น BD เป็นเส้นสมดุลวัฏภาคระหว่างของเหลวกับแก๊ส และเป็นเส้นแบ่งส่วนที่เป็นของเหลวกับแก๊ส

        จุดที่เส้นสมดุลทั้ง 3 เส้นมาตัดกันที่จุด B ซึ่งเป็นจุดที่แสดงถึง อุณหภูมิและความดันที่ทำให้ ของแข็ง ของเหลว และแก๊ส อยู่ร่วมในภาวะสมดุลกันที่จุดเดียวกัน เรียกว่า จุดร่วมสาม (triple point)

        จุด D เรียกว่า จุดวิกฤต (critical point) เป็นจุดสุดท้ายที่สามารถแบ่งและเห็นขอบเขตสมดุลระหว่างของเหลวกับแก๊สได้ เมื่อเราพิจารณาจุดที่อยู่เหนือขอบเขตจุดนี้ขึ้นไป สสารจะมีพฤติกรรมแตกต่างไปจากของเหลวและแก๊ส กล่าวง่ายๆ คือ เราจะไม่สามารถพิจารณา และแบ่งแยกระหว่างของเหลวและแก๊สได้เลย

จากกราฟแผนผังวัฏภาคของน้ำ ที่ความดัน 1บรรยากาศ เราสามารถพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดังต่อไปนี้

     จุดหลอมเหลว (melting point) คือ จุดที่ทำให้น้ำเปลี่ยนจากสถานะของแข็งกลายเป็นของเหลวที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส เราสามารถเปลี่ยนน้ำจากสถานะของแข็งเป็นแก๊ส โดยไม่ผ่านสถานะของเหลว (จากพื้นที่ส่วนที่เป็นสีฟ้าไปสีเหลืองโดยไม่ผ่านสีเขียว) ได้จนความดันต่ำกว่า 6 x 10-3 บรรยากาศ

     จุดเดือด (boiling point) คือ จุดที่ทำให้น้ำเปลี่ยนจากสถานะของเหลวกลายเป็นแก๊ส ที่จุดเดือดปกติ (ความดัน 1 บรรยากาศ) น้ำมีจุดเดือดที่ 100 องศาเซลเซียส

     จุดร่วมสาม (triple point) ของน้ำ จะอยู่ที่ความดัน 6 x 10-3 บรรยากาศ อุณหภูมิ 0.0098 องศาเซลเซียส

     จุดวิกฤต (critical point) ของน้ำ จะอยู่ที่ความดัน 217.7 บรรยากาศ อุณหภูมิ 374.4 องศาเซลเซียส

 

คำถามชวนให้คิด

         1. จากการเปลี่ยนแปลงสถานะของน้ำ เราทราบกันดีแล้วว่า ปกติที่ความดัน 1 บรรยากาศ จุดหลอมเหลว และจุดเดือดของน้ำ จะพบที่อุณหภูมิเท่ากับ 0 และ 100 องศาเซลเซียส ซึ่งเรียกว่าจุดหลอมเหลว และจุดเดือดปกติ ตามลำดับ แต่ในความเป็นจริงแล้ว จุดหลอมเหลว และจุดเดือดของน้ำมีมากกว่า 1 จุด จากแผนผังวัฏภาคของน้ำ นักเรียนสามารถระบุจุดต่างๆ ที่เราสามารถพบจุดหลอมเหลว และจุดเดือดของน้ำได้อีกหรือไม่?

         2. จากรูปต่อไปนี้

  

หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่อยู่ในที่ราบ ระดับน้ำทะเล


เทือกเขาหิมาลัย


         แม่บ้านคนหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในที่ราบระดับน้ำทะเล ได้ต้มไข่เพื่อทำกับข้าวให้สมาชิกในครอบครัว ทุกๆ ครั้งที่ต้มไข่ พบว่า น้ำในหม้อจะเดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสเสมอ ถ้าแม่บ้านคนนี้นำไข่ไปต้มที่ยอดเขาเอเวเรส ของเทือกเขาหิมาลัย น้ำในหม้อจะเดือดที่อุณหภูมิสูงกว่าหรือต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียส?

         ตารางต่อไปนี้ แสดงค่าอุณภูมิวิกฤติ (critical temperature; Tc ) และความดันวิกฤติ (critical pressure; Pc ) ของสารต่างๆ ที่สำคัญ

สาร
Tc (OC)
Pc (atm)
แอมโมเนีย (NH3)
132.4
111.5
อาร์กอน (Ar)
-186
6.3
เบนซีน (C6H6)
288.9
47.9
คาร์บอนไอออกไซด์ (CO2)
31.1
73
เอทานอล (CH3CH2OH)
243
63
ไดเอทิลอีเทอร์ (CH3CH2OCH2CH3)
192.6
35.6
ปรอท (Hg)
1462
1036
มีเทน (CH4)
-83
45.6
ไฮโดรเจน (H2)
-239.9
12.8
ไนโตรเจน (N2)
-147.1
33.5
ออกซิเจน (O2)
-118.8
49.7
ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6)
45.5
37.6
น้ำ (H2O)
374.4
217.7

คำถามชวนให้คิด

         สมมติว่า เรานำเครื่องดื่มน้ำอัดลมชนิดกระป๋อง เช่น coke หรือ pepsi เป็นต้น ซึ่งยังไม่ได้เปิดฝาแต่อย่างใด แล้วนำไปแช่ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิเท่ากับ -5 OC โดยแช่กระป๋องให้มีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิดังกล่าว หลังจากนั้นนำกระป๋องมาเปิดฝา โดยเปิดฝาออกอย่างรวดเร็ว ลองทำนายซิว่า ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร?

กราฟแสดงแผนผังวัฏภาคของคาร์บอนไดออกไซด์ (phase diagram of carbondioxide : CO2)

           จากกราฟ จะเห็นได้ว่า ที่ความดัน 1บรรยากาศ (atm) อุณหภูมิที่จะทำให้เราสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงสถานะของคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างของแข็งกับของแก๊สได้นั้น ก็คือที่ -78.5 OC จากกราฟ อุณหภูมิห้อง (25 OC) คาร์บอนไดออกไซด์จะมีสถานะเป็นแก๊ส ดังนั้น จึงไม่เป็นเรื่องแปลกเลยที่ในชีวิตประจำวัน เราจะพบคาร์บอนไดออกไซด์ในสถานะแก๊สเท่านั้น

    จุดร่วมสาม ของคาร์บอนไดออกไซด์ จะพบได้ที่ความดัน 5.11 บรรยากาศ อุณหภูมิ -56.4 องศาเซลเซียส

    จุดวิกฤต ของคาร์บอนไดออกไซด์ จะอยู่ที่ความดัน 73.0 บรรยากาศ อุณหภูมิ 31.1 องศาเซลเซียส

            ในอุตสาหกรรมการทำน้ำแข็งแห้ง หรือการทำคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นของแข็ง สามารถทำโดยการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์จากสถานะแก๊ส (อุณหภูมิห้อง 25 oC) ไปเป็นของแข็ง สามารถทำได้โดยใช้ประโยชน์จากแผนผังวัฏภาคของคาร์บอนไดออกไซด์

เก็บตกความรู้
คาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งมีสูตรโมเลกุล เป็น CO2

           จากผลรวมของค่า dipole moment ซึ่งมีค่าเท่ากับ 0 ดังนั้น คาร์บอนไดออกไซด์จึงเป็นสารที่ไม่มีขั้ว ในอุตสาหกรรมการสกัดสารคาเฟอีน (caffeine) จากกาแฟ

        จากสูตรโครงสร้างทางเคมีของสารคาเฟอีน จะเห็นได้ว่า จากลักษณะโครงสร้างที่เป็นวง (cyclic) สามารถทำนายได้ว่า คาเฟอีนเป็นสารที่ไม่มีขั้ว (nonpolar)

 

       เนื่องจากคาเฟอีน เป็นสารที่ไม่มีขั้ว การเลือกใช้ตัวทำละลายเพื่อใช้ในการสกัดคาเฟอีน ก็จะต้องเลือกใช้ตัวทำละลายที่ไม่มีขั้วเช่นกัน ในการสกัดสารที่ไม่มีขั้ว ส่วนใหญ่แล้ว มักจะใช้เฮกเซน (hexane : C6H14) หรือ คลอโรฟอร์ม ( chloroform : CHCl3) เป็นต้น แต่สารทั้งสองตัวเป็นสารที่มีพิษต่อร่างกาย

       ตัวทำละลายที่ดี เหมาะสม และประหยัดที่สุด คือ supercritical carbondioxide โดยใช้กระบวนการสกัดแบบ freez dry เพราะเราสามารถแยกคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากคาเฟอีนได้ง่ายกว่าเฮกเซนและคลอโรฟอร์ม โดยการเปลี่ยนความดันและอุณหภูมิตามแผนผังวัฎภาค