1. สมบัติของเหลว (property of liquid)

      1.2 การระเหย (evaporation)

            จากที่ได้ทราบมาแล้วว่า โมเลกุลของของเหลวไม่ได้อยู่นิ่งกับที่ แต่จะเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ก็แสดงว่าโมเลกุลของของเหลวแต่ละโมเลกุลจะต้องมีความเร็ว หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ โมเลกุลของเหลวมีพลังงานจลน์ เมื่อโมเลกุลมีการเคลื่อนที่ ย่อมจะทำให้เกิดการชนกันของโมเลกุลที่อยู่ในของเหลว สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ทำให้โมเลกุลของของเหลวมีการแลกเปลี่ยนพลังงานซึ่งกันและกัน หลังจากที่เกิดการชนของโมเลกุล อาจจะทำให้โมเลกุลหนึ่งมีพลังงานจลน์เพิ่มขึ้น และอีกโมเลกุลหนึ่งอาจจะมีพลังงานจลน์ลดลง ซึ่งในที่สุด จะทำให้แต่ละโมเลกุลของของเหลวมีพลังงานจลน์แตกต่างกัน ซึ่งอาจจะสูงกว่าหรือต่ำกว่าพลังงานจลน์เฉลี่ย

        โมเลกุลที่มีพลังงานจลน์สูง ก็จะเอาชนะแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุล และในที่สุดก็จะหลุดออกไปจากผิวหน้าของของเหลว และกลายเป็นแก๊ส เรียกกระบวนการที่โมเลกุลของของเหลวบริเวณผิวหน้าหลุดออกไปเป็นแก๊สว่า การระเหย (evaporation)

        ในของเหลวชนิดเดียวกัน โดยทั่วไปแล้ว เมื่ออุณภูมิของของเหลวสูงขึ้นจะทำให้อัตราการระเหยเร็วกว่าของเหลวที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า เมื่อโมเลกุลระเหยออกไปแล้ว สิ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ จะทำให้พลังงานจลน์เฉลี่ยของโมเลกุลที่เหลือมีค่าลดลง และทำให้อุณหภูมิของของเหลวลดลงตามไปด้วย เพราะพลังงานความร้อนส่วนหนึ่งถูกใช้กับการระเหย

        ดังนั้น ปัจจัยที่ผลต่ออัตราการระเหยของของเหลว ก็คือ อุณหภูมิ พื้นที่ผิวหน้า และแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุล

ลองพิจารณารูปต่อไปนี้

 

จากรูป สามารถสังเกตเห็นได้ว่าหยดน้ำที่เกาะอยู่บนผิวหนัง จะระเหยกลายไปเป็นไอน้ำ

            เมื่อคนรู้สึกร้อน โดยธรรมชาติแล้วร่างกายคนเราจะขับเหงื่อออกมา องค์ประกอบหลักที่อยู่ในเหงื่อ จะประกอบไปด้วยโมเลกุลของน้ำและเกลือ เมื่อพิจารณาที่หยดเหงื่อ (บนหัวไหล่) จะเห็นว่าเมื่อหยดน้ำดูดพลังงานความร้อนจากร่างกาย จะทำให้โมเลกุลของน้ำที่บริเวณผิว มีพลังงานจลน์สูงขึ้น โมเลกุลเหล่านี้จะระเหย โดยเปลี่ยนสถานะจากของเหลวกลายเป็นแก๊ส (ไอน้ำ) เนื่องจากความร้อนแฝงของการกลายเป็นไอของน้ำ มีค่าเท่ากับ 40.79 kJ/mol ดังนั้นพลังงานความร้อนที่ถูกโมเลกุลของน้ำในหยดเหงื่อใช้ไปในกระบวนการระเหย ซึ่งถูกดึงออกไปพร้อมๆ กับการระเหยของไอน้ำ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง รู้สึกเย็น และรู้สึกสดชื่น