บทเรียนสื่อผสม เรื่อง วิทยาศาสตร์พื้นพิภพ ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นบทเรียนเสริม สำหรับทั้งอาจารย์และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เนื้อหาเรื่องนี้มีอยู่ในหนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ สื่ออิเล็กทรอนิกส์นี้ได้นำปรากฏการณ์ธรณีวิทยาต่างๆ ที่อธิบายเพิ่มเติมและนำความรู้ทางด้านเคมี ฟิสิกส์ และชีววิทยาซึ่งได้เคยเรียนมาและมีอยู่แล้วในตำราเรียนมาช่วยอธิบายเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แบบบูรณาการทางวิชาการ
เนื้อหาของสื่อผสมนี้ ประกอบด้วย 6 บท คือ ภูมิทัศน์ของโลกและประเทศไทย แร่ หิน ซากดึกดำบรรพ์ แหล่งแร่เศรษฐกิจ และแหล่งเรียนรู้ การนำเสนอในแต่ละบทนั้น ผู้จัดทำได้ใช้ศัพท์หรือคำอธิบายภาษาไทยที่เข้าใจง่าย รวมทั้งศัพท์บัญญัติที่มีการใช้แพร่หลาย โดยจะให้ศัพท์ภาษาอังกฤษไว้ในวงเล็บเพื่อให้ผู้ใช้สื่อเกิดความคุ้นเคยและสามารถอ่านตำราและบทความภาษาอังกฤษได้ง่ายขึ้น เนื้อหาในแต่ละบทมีการสอดแทรกเกร็ดความรู้ต่างๆ รวมทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวที่จะช่วยเพิ่มความเข้าใจในเนื้อหาวิชา อนึ่ง สื่อนี้มิใช่บทเรียนฉะนั้นจึงจะมีเนื้อหาวิชาไม่ครบตามหลักสูตร นักเรียน นักศึกษา จะต้องศึกษาเพิ่มเติมจากตำราเรียน สื่อนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะนำสิ่งที่ยากต่อความเข้าใจมาอธิบายในรูปแบบที่จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น และเพิ่มเติมบางหัวข้อที่มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้เข้าไปด้วย สื่อผสมเพื่อเสริมการเรียนรู้นี้ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในสาระสำคัญของวิชาธรณีวิทยาหรืออาจเรียกว่าวิทยาศาสตร์พื้นพิภพในเบื้องต้น และสามารถนำมาเชื่อมโยงกับการดำรงชีวิตประจำวันได้ การเรียนรู้เพื่อให้เกิดผลดังกล่าวอาจต้องใช้เวลานานเพื่อพิจารณาและทำความเข้าใจในเนื้อหาอย่างละเอียดท่านสามารถข้ามหัวข้อที่ยังไม่ต้องการอ่านไปได้โดยเลือกคลิกหัวข้อที่ต้องการจากปุ่มแสดงเนื้อหาย่อยของแต่ละบทที่ปรากฏอยู่
ในทุกๆ หน้าของสื่อ
ข้อมูลบางส่วนที่นำมาใช้ในการทำสื่อนี้ได้มาจากเอกสารชื่อ ธรณีวิทยาประเทศไทย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม และเอกสารชื่อ Earth Science โดย Edward J. Tarbuck and Frederic K. Lutgens และจากเอกสารประกอบการอบรมเชิงปฏิบัติการธรณีศาสตร์ สำหรับอาจารย์ระดับมัธยมศึกษา เมื่อ พฤศจิกายน 2547 - มกราคม 2548 ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ คือ ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล อ.สิน สินสกุล อ.วินัย เยาวน้อยโยธิน อ.วิลาวัณย์ อติชาติ อ. อภิชาต เครือวัลย์ และ อ.บุญทวี ศรีประเสริฐ คณะผู้จัดทำขอขอบพระคุณทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ สำหรับรูปภาพที่ใช้ในการทำสื่อนี้บางส่วนได้มาจากการถ่ายภาพจากของจริงที่มีอยู่ที่กรมทรัพยากรธรณีและจากการถ่ายภาพจากแหล่งธรณีวิทยาในจังหวัดต่างๆของประเทศไทยโดยทีมงาน
ขอให้ทุกท่านใช้ประโยชน์จากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง "วิทยาศาสตร์พื้นพิภพ" นี้อย่างเต็มที่ คณะผู้จัดทำเข้าใจดีว่าการที่จะทำสื่อผสมให้สมบูรณ์แบบคงเป็นไปโดยยาก หากท่านมีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะใดๆ เพื่อช่วยปรับปรุงสื่อให้มีความสมบูรณ์มากขั้นทางคณะผู้จัดทำขอน้อมรับด้วยความยินดีอย่างยิ่ง
|