ทางน้ำโค้งตวัดอยู่ตัว


          สำหรับทางน้ำโค้งตวัดอยู่ตัว (incised meander) เป็นทางน้ำโค้งตวัดระยะปัจฉิมวัย ที่ไหลกัดเซาะผ่านพื้นที่หินแข็ง โดยไม่เปลี่ยนแนว แต่จะกัดเซาะชั้นหินให้ลึกลงไปเรื่อยๆ และถ้าเปลือกโลกบริเวณนั้นค่อยๆ มีการยกตัวสูงขึ้น ทางน้ำก็มีพลังที่จะกัดลึกลงไปเรื่อยๆ จนถึงชั้นที่จะกัดเซาะลงไปได้ จึงเกิดเป็นหุบลึกและโค้งไปมาในพื้นที่นั้นเรียกว่า โกรกธาร (gorge) เช่น ออบหลวง ที่จังหวัดเชียงใหม่ เกิดจากการกัดเซาะหินในระดับลึกลงไปเรื่อย และโกรกธารหลายสายรวมอยู่ด้วยกัน พื้นที่นั้นจะเป็นหุบผาชัน หรือแคนยอน (canyon) ดังเช่น แกรนด์แคนยอน ในสหรัฐอเมริกา การกัดเซาะโดยทางน้ำในหินแข็งนอกจากจะทำให้เกิดหุบผาชัน แล้วยังทำให้เกิดสะพานหินธรรมชาติ (natural bridge) ที่ทางน้ำกัดเซาะชั้นหินเป็นร่องลึกลงไปเรื่อยๆ จนเหลือชั้นหินส่วนบนเป็นรูปสะพานโค้ง

 

ภาพออบหลวง หรือ โกรกธาร (gorge) จังหวัดเชียงใหม่ ที่เกิดจากการกัดเซาะหินในระดับลึก

ภาพโกรกธารหลายสายรวมกันกลายเป็นหุบผาชัน หรือที่เรียกว่า แคนยอน (canyon)

ภาพสะพานหินธรรมชาติ (natural bridge) ที่ทางน้ำกัดเซาะชั้นหินเป็นร่องลึกจนเหลือชั้นหินส่วนบนเป็นรูปสะพานโค้ง