รูปที่ 1.29 ชีวาลัยต่างๆ
สิ่งมีชีวิตบนโลกอาศัยอยู่ในบ้านที่มีอาณาบริเวณเหมาะสมกับตัวเอง บ้านของปลา คือหนองน้ำและมหาสมุทร บ้านของเสือคือป่าดงดิบ บ้านของสิงโต คือทุ่งหญ้าสะวันนา ในบ้านแต่ละแห่งมีพืชพรรณหลากหลาย มีสัตว์หลากหลายแตกต่างกัน แต่ละบริเวณเรียกว่า ชีวาลัย (biomes หรือ biosphere)
โลกของเรามีชีวาลัยหลายแบบ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อุณหภูมิ ความสูงจากระดับน้ำทะเล ปริมาณน้ำฝน และสภาพดิน - หิน - แร่ธาตุในดิน
รูปที่ 1.30 ความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนซึ่งมีผลต่อการเกิดชีวาลัยแบบต่างๆ
ตัวอย่างของชีวาลัยในโลกนี้ ได้แก่
ทุนดรา ( tundra ) เป็นบริเวณหนาวเย็นที่มีหิมะปกคลุมเกือบตลอดปี
แม้ในช่วงฤดูร้อนสั้นๆ ใต้พื้นดินก็ยังเป็นน้ำแข็ง ทำให้เป็นบริเวณที่ไม่พบไม้ต้นใดๆ
มีแต่พืชล้มลุก และไม้พุ่ม เขตทุนดรา ได้แก่ พื้นที่ของรัฐอลาสกา และไซบีเรีย
สัตว์ที่พบในเขตทุนดรามีไม่มากชนิดนัก เช่น นก ซึ่งจะอพยพหนีหนาวไปเมื่อฤดูร้อนสิ้นสุดลง
รูปที่ 1.31พรรณไม้เขตทุนดราในเอเชีย
รูปที่ 1.32 ดอกไม้หลากชนิดที่บานในช่วงฤดูร้อนแสนสั้นในแถบอาร์กติก
รูปที่ 1.33 นกฮูกหิมะ Snowy Owl นกนักล่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเขตทุนดรา
รูปที่ 1.34 สุนัขจิ้งจอกเขตอาร์กติก ( arctic fox)
รูปที่ 1.35 กระต่ายป่าอาร์กติก ( arctic hare)
ป่าสน หรือไทก้า ( taiga ) เป็นบ้านหนาวเย็นและแห้ง แต่มีฝนตกมากกว่าเขตทุนดรา
คือประมาณ 300-500 มม. ต่อปี และมีฤดูร้อนยาวนานกว่าเขตทุนดราเล็กน้อย มีสนเป็นพรรณไม้หลัก
พบในแคนาดา จีน ฟินแลนด์ ฯลฯ สัตว์ที่พบในป่าสน เช่นกวางมูส และนกฮูกเทาใหญ่
รูปที่ 1.36 ป่าสนบนเทือกเขายูลองซู ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนาน
ประเทศจีน มีสนหลายชนิด เช่น ลาร์ช สปรูซ และเฟอร์
รูปที่ 1.37กวางมูส (Moose-- Alces alces )
รูปที่ 1.38 นกฮูกเทาใหญ่ ( great grey owl-- Strix nebulosa )
ป่าผลัดใบ (deciduous forest) ป่าผลัดใบได้รับน้ำฝนประมาณ 600-2,500 มม. ต่อปี พบทั้งในเขตอบอุ่น และเขตร้อนของโลก เช่น ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป ประเทศจีน และในประเทศไทย พรรณไม้หลักเป็นไม้ต้นใบกว้างซึ่งทิ้งใบในช่วงฤดูแล้ง หรือช่วงฤดูหนาว และผลิใบอีกครั้งเมื่อมีฝนตก สัตว์ที่พบ เช่น กวางเอลก์ และสุนัขจิ้งจอก
รูปที่ 1.39 ป่าผลัดใบบนเทือกเขาสโมคกี สหรัฐอเมริกา
รูปที่ 1.40 สุนัขป่าสีเทา ( grey wolf-- Canis lupus )
รูปที่ 1.41 กวางเอลก์ ( elk )
ทุ่งหญ้า ( grassland ) ทุ่งหญ้าได้รับน้ำฝนประมาณ 250-600 มม. ต่อปี ทุ่งหญ้ามักมีฝนตกในช่วงฤดูร้อน และแห้งแล้งในฤดูหนาว ทุ่งหญ้าในเขตอบอุ่นที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ เรียกว่า แพรรี่ ( prairie ) ในเขตยูเรเชีย เรียก สเต็ปป์ (steppe) และในทวีปอเมริกาใต้เรียก แพมพา (pampa) ส่วนทุ่งหญ้าในเขตร้อนเช่นที่พบในทวีปอัฟริกา ตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และออสเตรเลีย ประเทศอินเดีย และในประเทศไทย เรียกว่า สะวันนา (savanna) ซึ่งมีพืชพรรณ
ที่มีลักษณะแตกต่างจากทุ่งหญ้าในเขตอบอุ่นเล็กน้อย คือ นอกจากทุ่งหญ้าแล้ว ยังมีไม้พุ่มที่มีหนาม มีไม้ต้นทนแล้ง และทนไฟป่า เช่น เบาบับ (baobab) และพวกกระถิน (Acacia sp.) สัตว์ที่พบมีหลากหลาย เช่น ช้าง ม้าลาย สิงโตในอัฟริกา หมีโคลา จิงโจ้ และนกอีมูในออสเตรเลีย
รูปที่ 1.42 ฝูงช้างในทุ่งหญ้าสะวันนา ทวีปอัฟริกา
ทะเลทราย ( desert ) คือบริเวณที่มีปริมาณน้ำฝน 250 มม. ต่อปี และบางช่วงอาจไม่มีฝนตกยาวนานถึง 8-10 ปี ทะเลทรายบางแห่งซึ่งมีอากาศร้อน เช่น ทะเลทรายซาฮาราในอัฟริกา ทะเลทรายโซโนรันในเม็กซิโก มีฤดูหนาวสั้นๆ
ที่ไม่หนาวมากนัก แต่ทะเลทรายบางแห่ง เช่น ทะเลทรายโกบีในมองโกเลียอาจมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งยาวนานในฤดูหนาวพืชที่พบในทะเลทรายเป็นพวกไม้พุ่มทนแล้ง พืชอวบน้ำ และพืชปีเดียว ในทะเลทรายมีสัตว์เลื้อยคลาน พวกงูและกิ้งก่า และสัตว์ใช้ฟันกัดแทะ เช่น พวกหนูชุกชุม สัตว์ส่วนใหญ่หากินกลางคืนเพื่อหลีกเลี่ยงอากาศร้อนในตอนกลางวัน
รูปที่ 1.43 ทะเลทรายธาร์บริเวณรอยต่อของประเทศอินเดียและปากีสถาน
รูปที่ 1.44 ตะกวดทะเลทราย ( desert monitor-- Varanus griseus )
รูปที่ 1.45 โอนาเกอร์ (Onager-- Equus hemionus onager ) ลาป่าเอเชีย พบในทะเลทรายในอิหร่าน
ป่าดงดิบ ( evergreen forest) หรืออาจเรียกว่า ป่าฝนเขตร้อน (tropical rainforest) เป็นบ้านเขียวชอุ่มร่มรื่นที่พบบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรของโลก อากาศบริเวณนี้มีการเปลี่ยนไม่มากนัก ที่สำคัญคือมีฝนตกชุกถึงปีละ 2,000-5,000 มม. (2-5 เมตร ) ต่อปี ทำให้มีความชุ่มชื้น มีอินทรียสารอุดมสมบูรณ์มาก และมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากมายมหาศาล ป่าดงดิบมีหลายแบบ ที่พบในประเทศไทย มีทั้งป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าพรุ ฯลฯ
รูปที่ 1.46 ป่าอเมซอน ในทวีปอเมริกาใต้
รูปที่ 1.47 โอกาปิ ( Okapi-- Okapia johnstoni ) ญาติใกล้ชิดกับยีราฟ พบในป่าดงดิบในทวีปอัฟริกา
รูปที่ 1.48 กอริลลา ( Gorilla gorilla gorilla ) ในคองโก
ชนิดป่าหลากหลายในประเทศไทย
ประเทศไทยตั้งอยู่ในบริเวณรอยต่อระหว่างแนวภูเขาของแผ่นดินใหญ่ทางทิศเหนือกับเกาะต่างๆในมหาสมุทรสองฝั่ง คือมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ได้รับทั้งความหนาวเย็นและความชุ่มชื้นจากลมมรสุม ทำให้พืชพรรณของประเทศไทยมีความ หลากหลาย ประกอบเป็นสังคมพืชที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นชนิดของป่าในประเทศไทยอาจแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ ได้แก่ ป่าดงดิบ กับป่าผลัดใบ
ป่าดงดิบ (evergreen forest) เป็นสังคมพืชที่ประกอบด้วยพรรณไม้เขียวชอุ่มตลอดปี
พบประมาณร้อยละ 30 ของเนื้อที่ป่าในประเทศไทย ป่าดงดิบอาจแยกเป็นกลุ่มย่อยๆคือ
ป่าดิบชื้น (tropical evergreen rain forest) อยู่ในที่ต่ำคือไม่เกิน 100 เมตรจากระดับน้ำทะเล และมีฝนตกมาก พบในภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พรรณไม้ที่พบ เช่น ยางชนิดต่างๆ ตะเคียน ปาล์ม หวาย ไผ่ และเถาวัลย์ ป่าประเภทนี้มีซากพืชสะสม อุดมสมบูรณ์ และอุ้มน้ำได้มาก
ป่าดิบแล้ง (dry evergreen forest)
พบในบริเวณที่ราบและหุบเขาทั่วไป อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 100-500
เมตร ฝนตกน้อยกว่าป่าดิบชื้น มีพรรณไม้หลัก เช่น ยางนา พะยอม สัตตบรรณ มะค่า
พลอง ส่วนพรรณไม้ชั้นล่างใกล้ผิวดิน พวกปาล์ม หวาย ขิง ข่า อาจไม่หนาแน่นเท่าป่าดิบชื้น
แต่นับว่าอุดมสมบูรณ์ดี หากถูกทำลาย มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นป่าเบญจพรรณ
ป่าดิบเขา (hill evergreen) เป็นป่าที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่
1,000 เมตรขึ้นไป ฝนตกมากใกล้เคียงกับป่าดิบแล้ง มีพรรณไม้หลักเฉพาะที่ เช่น
นางพญาเสือโคร่ง สนสามพันปี สนแผง กุหลาบป่า มีไลเคน มอส และตะไคร่น้ำเกาะอยู่
พืชชั้นล่างเป็นกูด เฟิร์น และไผ่ หากถูกทำลาย อาจเปลี่ยนเป็นป่าสน หรือป่าหญ้าได้ง่าย
ป่าสน (pine forest) พบสนสองใบและสนสามใบเป็นหลัก นอกนั้นมีพลวง ก่อ เหียง กำยาน ฯลฯ ดินเป็นกรดอ่อนๆ พืชชั้นล่างเป็นหญ้า และพืชกินแมลง
ป่าพรุ (peat swamp forest) เป็นป่าที่มีน้ำขังอยู่เสมอ พบมากในภาคใต้ ที่ระดับน้ำทะเล มีฝนตกชุก ดินชั้นล่างเป็นกรด มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก พรรณไม้หลัก ได้แก่ สะเตียว หว้าน้ำ กันเกรา ตังหน พืชชั้นล่างเป็นพวกปาล์ม เช่น ค้อ สาคู หมากแดง กระจูด เตยต่างๆ เป็นที่สะสมซากพืชหนาถึง 10 เมตร
ป่าบึงน้ำจืด (fresh-water swamp forest) เป็นป่าที่มีน้ำท่วมขัง พบมากในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พรรณไม้หลัก อาจมีเพียงชนิดเดียว ได้แก่ เสม็ดขาว อาจมีไม้อื่น เช่น สะแก จิก ข่อย กระทุ่มน้ำ ส่วนพืชชั้นล่าง เช่น ผักบุ้ง แพงพวย บัว โสน และพืชน้ำอื่นๆ
ป่าชายเลน (mangrove forest) เป็นป่าตามชายฝั่งที่น้ำทะเลท่วมถึง มีพืชพรรณน้อยชนิด พรรณไม้หลัก คือ โกงกางใบเล็ก และโกงกางใบใหญ่ แสม ฝาด ลำพู ลำแพน พืชชั้นล่างเป็นพวกเหงือกปลาหมอ ปรงทะเล จาก ฯลฯ
ป่าชายหาด (beach forest) อยู่ตามชายฝั่งทะเล มีพรรณไม้น้อยชนิด ถ้าเป็นดินทราย จะพบสนทะเล และพืชชั้นล่างพวกคนทีสอ และผักบุ้งทะเล ถ้าเป็นกรวดหิน จะพบกระทิง หูกวาง เกด และพืชชั้นล่างเป็นหญ้า หรือพืชมีหนามต่างๆ
ป่าผลัดใบ ( deciduous forest) ประกอบด้วยพืชที่ทิ้งใบในฤดูแล้ง เป็นสังคมป่าส่วนใหญ่ของประเทศไทย คือ
มีถึงร้อยละ 70 ของพื้นที่ ป่าผลัดใบแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้ดังนี้
ป่าเบญจพรรณ (mixed deciduous forest) พบทั่วประเทศตามที่ราบและเนินเขา ฝนตกไม่มากนัก มีฤดูแล้งยาวนาน พรรณไม้ที่พบมีวงปีเด่นชัด ที่พบมาก ได้แก่ สัก แดง ประดู่ มะค่าโมง พยุง ชิงชัน พี้จั่น ฯลฯ พืชชั้นล่าง คือ ไผ่หลายชนิด
ป่าเต็ง - รัง (dry deciduous dipterocarp forest) พบทั่วไปเช่นเดียวกับป่าเบญจพรรณ แต่แห้งแล้งกว่าเนื่องจากดินอุ้มน้ำน้อย พรรณไม้มักทนแล้ง และทนไฟ เช่น เต็ง รัง เหียง พลวง กราด มะขามป้อม มะกอก ผักหวาน พืชชั้นล่างเป็นหญ้า ไผ่เพ็ก ปรง กระเจียว เปราะ
ป่าหญ้า ( grassland forest) ในประเทศไทย ป่าหญ้าเกิดภายหลังเมื่อป่าธรรมชาติอื่นๆถูกทำลาย ดินมีสภาพเสื่อมโทรม หญ้าที่พบมีหญ้าคา แฝก อ้อ แขม มีไม้ต้นบ้าง เช่น ติ้ว แต้ สีเสียดแก่น ซึ่งทนแล้งและทนไฟ
|