หลังจากที่ฮอร์โมนถูกหลั่งออกมาจากต่อมไร้ท่อ และอยู่ในกระแสเลือดแล้ว ฮอร์โมนจะถูกกำจัดออกไปได้อย่างไร ?

 

          มีปัจจัยอยู่ 2 ประการ ที่จะเพิ่มหรือลดความเข้มข้นของฮอร์โมนตัวใดตัวหนึ่งในเลือด ปัจจัยประการแรกคืออัตราการหลั่งฮอร์โมนเข้ากระแสเลือด ประการที่สองคืออัตราการกำจัดฮอร์โมนจากกระแสเลือด ซึ่งเราเรียกว่า
metabolic clearance rate หรือ MCRซึ่งหมายถึงปริมาตรของพลาสมา( plasma) ที่ ถูกกำจัดฮอร์โมนออกได้หมดในหนึ่งหน่วยนาที (มีหน่วยเป็นมิลลิลิตรต่อนาที)

          การคำนวณทำเช่นนี้

       1 ต้องห าอัตราการกำจัดของฮอร์โมนจากพลาสมาต่อหนึ่งหน่วยนาที และ

        2 ความเข้มข้นของฮอร์โมนต่อหนึ่งมิลลิลิตรของพลาสมา

        metabolic clearance rate หรือMRC เท่ากับ อัตราการกำจัดฮอร์โมนจากพลาสมาต่อหนึ่งหน่วยนาทีหารด้วยความเข้มข้นของฮอร์โมนต่อหนึ่งหน่วยมิลลิลิตร(นำข้อ 1 หารด้วยข้อ 2)

 

จากปริมาณของฮอร์โมนทั้งหมดในกระแสเลือดมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เข้าสู่เซลล์เป้าหมาย สำหรับฮอร์โมนที่ไปถึงเซลล์เป้าหมาย ภายหลังจากจับกับตัวรับสัญญาณและออกฤทธิ์แล้ว ฮอร์โมนจะถูกเซลล์ทำลาย    โดยทั่วไปตับเป็นอวัยวะที่ทำให้ฮอร์โมนหมดฤทธิ์ (inactive) นอกจากนี้บางฮอร์โมนยังทำให้หมดฤทธิ์ได้ที่ไตและตับด้วยกระบวนการที่ใช้สารเร่งปฏิกิริยาเคมี(enzyme) เช่น ฮอร์โมนบางตัวถูกกำจัดด้วยกระบวนการไฮโดรไลซิส ( hydrolysis) และ/หรือดีคาบ็อกซิเลชั่น (decarboxylation) เป็นต้น อันดับแรกฮอร์โมนจะถูกขับทิ้งในปัสสาวะ   ดังนั้นถ้าตับและไตทำงานตามปกติ การวัดระดับความเข้มข้นของฮอร์โมนที่ขับออกทางปัสสาวะจะบอกได้ถึงการทำงานของต่อมไร้ท่อนั้นๆ เพราะอัตราการกำจัดฮอร์โมนออกมาในปัสสาวะจะสัมพันธ์โดยตรงกับอัตราการหลั่งของฮอร์โมนนั้น

ฮอร์โมนที่เป็นเปปไทด์และแคททีโคลามีน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ละลายน้ำได้ จะไปถึงอวัยวะเป้าหมายโดยละลายในกระแสเลือดซึ่งมีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นน้ำได้อย่างรวดเร็วและอยู่ในกระแสเลือดในระยะเวลาสั้นๆ (นาทีหรือไม่หลายชั่วโมง) เมื่อฮอร์โมนจับกับตัวรับสัญญาณได้เป็นโมเลกุลเชิงซ้อนที่เรียกว่า ฮอร์โมน รีเซปเตอร์ คอมเพล็กซ์ ( hormone-receptor complex) เมื่อถูกนำเข้าเซลล์และเกิดปฏิกิริยาเรียบร้อยแล้วจะถูกย่อยออกเป็นส่วนๆ ส่วนที่เป็นโมเลกุลของฮอร์โมนจะถูกทำลายในไลโซโซม ( lysosome) เซลล์อาจนำตัวรับสัญญาณไปใช้ใหม่ได้

         ส่วนไทรอยด์ฮอร์โมน และ สเตรอยด์ฮอร์โมนที่ละลายในไขมัน ไม่สามารถกำจัดออกทางปัสสาวะได้ทันที ดังนั้นฮอร์โมนประเภทนี้จึงอยู่ในร่างกายได้เป็นเวลานานอาจหลายชั่วโมง (เช่นสเตรอยด์ ฮอร์โมน) หรือเป็นสัปดาห์ (เช่นไทรอยด์ ฮอร์โมน) และต้องผ่านขบวนการหลายขั้นตอนที่จะทำให้หมดฤทธิ์และละลายน้ำได้แล้วจึงขับออกทางปัสสาวะ