ข้อควรรู้เกี่ยวกับรูปวิธาน

           การใช้รูปวิธานเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่สามารถใช้ในการระบุชนิดพืชได้ในทุกระดับ ตัวอย่างพืชที่จะใช้ในการระบุชนิด นิยมใช้ตัวอย่างพืชสดซึ่งควรมีส่วนของใบ ดอก ผล และ
เมล็ด ครบถ้วน ถ้าเป็นไม้เนื้ออ่อน หญ้า หรือพืชจำพวก กก ควรมีส่วนของรากด้วย ตัวอย่าง
พืชที่มีความสมบูรณ์เช่นนี้ จะส่งผลให้การระบุชนิดพืชมีความถูกต้องสมบูรณ์มากที่สุด


การพิจารณาตัวอย่างพืชก่อนเริ่มทำการระบุชนิด

         1. พิจารณาว่าตัวอย่างพืชเป็นพืชที่มีเนื้อไม้หรือไม่มีเนื้อไม้ (พืชล้มลุก) ถ้าเป็นพืชที่
ไม่มีเนื้อไม้ มีอายุปีเดียว (annual) หรือหลายปี (perennial)

         2. พิจารณาดูส่วนดอก ตลอดจนการเรียกชื่อแต่ละส่วนของดอก

         3. นับจำนวนกลีบดอกและกลีบเลี้ยง

         4. พิจารณาว่ากลีบดอก และ/ หรือ กลีบเลี้ยง มีการเชื่อมติดกันหรือแยกกัน

         5. นับจำนวนของเกสรเพศผู้ (stamen) ตลอดจนสังเกตการเชื่อมติดกันของ
เกสรเพศผู้ ลักษณะการติดของก้านชูอับเรณูและอับเรณู และความยาวของก้านชูอับเรณู

         6. นับจำนวนของเกสรเพศเมีย (pistil)

         7. ลอกส่วนของวงกลีบรวม (perianth) และเกสรเพศผู้ (stamen) ออก ตัดส่วนของ
รังไข่ตามแนวขวาง นับจำนวนของ lucule, ออวุล (ovule) ตลอดจน พิจารณาตำแหน่งและ
ลักษณะของพลาเซนตา (placenta) ในเกสรเพศเมีย

         8. ตัดส่วนของดอกตามแนวยาว พิจารณาตำแหน่งของรังไข่ และการเชื่อมติดกัน
ของวงกลีบรวม

         9. พิจารณาชนิดของใบ การจัดเรียงตัวของใบ และการจัดระเบียบของเส้นใบ


         10. พิจารณาลักษณะของผิวใบและเนื้อใบ



ข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้รูปวิธาน (key)

         1. หาข้อมูลเกี่ยวกับตัวอย่างพืชให้มากที่สุดก่อนที่จะเริ่มทำ ถ้าตัวอย่างไม่สมบูรณ์
ก็ยากที่จะใช้รูปวิธานได้ เช่น ตัวอย่างพืชที่มีใบเพียงใบเดียว หรือมีดอกเพียงดอกเดียว

         2. เลือกใช้รูปวิธานให้เหมาะกับตัวอย่างพืช และพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของพืช

         3. อ่านคำำนำของรูปวิธาน เพื่อให้ทราบถึงตัวย่อต่างๆ และรายละเอียดอื่นๆ
ที่เกี่ยวข้อง

         4. อ่านทางเลือก (ข้อคู่เลือก)ทั้งสองทางอย่างระมัดระวัง

         5. ควรเข้าใจศัพท์เทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการใช้รูปวิธานทั้งหมด อาจใช้หนังสือ
คำศัพท์ช่วย

         6. ถ้าตัวอย่างพืชไม่ตรงกับรูปวิธานและทางเลือกทุกทาง อาจเกิดจากการทำผิด
ควรลองทำใหม่

         7. ถ้าลักษณะของพืชนั้นเป็นไปได้ทั้งสองข้อคู่เลือก ให้ทำทั้งสองข้อคู่เลือก

         8. เมื่อได้ชื่อของตัวอย่างพืชแล้ว เพื่อความแน่นอนควรอ่านลักษณะของ taxon
นั้นจากหนังสือว่าตรงกับตัวอย่างพืชหรือไม่

        9. ตรวจสอบขั้นสุดท้าย โดยเปรียบเทียบตัวอย่างพืชกับรูปภาพหรือตัวอย่าง
พรรณไม้แห้งในหอพรรณไม้ (herbarium specimen)


ชนิดของรูปวิธาน
       
      รูปวิธานมีการเขียน 2 แบบ คือ

1. Indented key หรือ Yoked key

          การเขียนรูปวิธานแบบนี้เป็นที่นิยมใช้กันทั่วไป โดยแต่ละข้อคู่เลือก (couplet) จะมีระยะห่างที่แน่นอนจากขอบซ้ายของกระดาษ และเขียนเยื้องกันไปเรื่อยๆ

ตัวอย่าง

a. Pollinia present
            b. Symmetry regular
                     c. Shrub.........................................รัก
                     c. Climber....................................โฮย่า
            b. Symmety irregular........................กล้วยไม้

a. Pollinia absent
                    c. Stipule adnate.....................กุหลาบ
                    c. Stipule budscale......................จำปี


2. Bracket key หรือ Parallel key

          การเขียนรูปวิธานแบบนี้ ข้อคู่เลือกที่ติดกันจะเขียนเยื้องติดกันคล้ายฟันปลา และตรงท้ายสุดของแต่ละข้อคู่เลือก จะมีชื่อพืชนั้นหรือหมายเลขของข้อคู่เลือกถัดไป

ตัวอย่าง

a. Pollinia present..............................................b
a. Poliinia absent...............................................c

          b. Symmetry regular................................d
          b. Symmetry irregular.......................กล้วยไม้

d. Shrub.........................................................รัก
d. Climber....................................................โฮย่า

         c. Stipule adnate..............................กุหลาบ
         c. Stipule budscale...............................จำปี


การสร้างรูปวิธาน

         1. รูปวิธานควรเป็นแบบ dichotomous

         2. คำแรกของแต่ละข้อคู่เลือกให้ใช้เหมือนกัน เพื่อให้สังเกตได้ง่าย เช่น ถ้าข้อคู่
เลือกหนึ่งใช้คำว่า pollinia ขึ้นต้น อีกข้อคู่เลือกหนึ่งก็ควรใช้คำว่า pollinia เหมือนกัน
แต่ต่างกันตรงลักษณะที่แตกต่างกัน ดังตัวอย่าง

                 a. Pollinia present............................b

                 a. Pollinia absent.............................c

         3. ทางเลือกทั้ง 2 ทางควรมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพื่อที่จะยอมรับทางหนึ่ง
และปฏิเสธอีกทางหนึ่งได้

         4. หลีกเลี่ยงการใช้ลักษณะที่ซ้อนทับกัน เช่น ทางเลือกหนึ่งใช้ลักษณะของใบ
ยาว 4-8 ซม. อีกทางเลือกหนึ่งใช้ลักษณะของใบ ยาว 6-10 ซม. หรือหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า ขนาดเล็กและขนาดใหญ่

         5. ควรใช้ลักษณะที่สามารถตรวจสอบได้จริงๆ หลีกเลี่ยงการใช้ลักษณะทางภูมิประเทศและภูมิอากาศในการแยก

         6. ในกรณีที่สามารถทำรูปวิธานเป็น 2 ชุดกับพืชในกลุ่มนั้นได้ ควรทำเพื่อให้ใช้
identify ให้ได้หลายระยะ

         7. ข้อคู่เลือกควรเขียนเป็น positive statement เช่น ควรหลีกเลี่ยงการใช้
leave narrow-leave not narrow

        8. ข้อคู่เลือกของรูปวิธาน อาจใช้หมายเลขหรือตัวอักษรหรืออาจใช้การผสมระหว่าง
หมายเลขและตัวอักษร หรือใน indented key อาจทิ้งว่างไว้