ตำนานและความเป็นมาของปลากัดไทย

ปลากัดไทยกับวิถีความเป็นไทย

                วิถีชีวิตของคนไทยในอดีตเป็นวิถีชีวิตชนบทของผู้คนในสังคมเกษตรกรรมที่คนส่วนใหญ่มักผูกพันกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ละครอบครัวมีการเลี้ยงสัตว์ต่างๆเอาไว้โดยมีจุดประสงค์เพื่อเอาไว้ใช้งาน เอาไว้เป็นอาหาร และเอาไว้เป็นงานอดิเรก เช่น การเลี้ยงไก่ชน การเลี้ยงวัว ควาย และการเลี้ยงปลากัด เป็นต้น
                เมื่อเสร็จสิ้นฤดูการเก็บเกี่ยว ชาวบ้านมักนำสัตว์ที่ตนเองเลี้ยงมาใช้ในกิจกรรมนอกเหนือจากที่เป็นอยู่ เช่น การกัดปลา การตีไก่ การแข่งวิ่งควาย และชนวัว เป็นต้น จนกลายเป็นประเพณีและขนบธรรมเนียมของสังคมในชนบทและมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นการพนันอีกด้วย
                นานกว่า 200 ปีแล้วที่คนไทยรู้จักการเลี้ยงและนำปลากัดมาต่อสู้กัน เนื่องจากปลากัดมีลักษณะเด่นคือเป็นนักสู้ที่มีความทรหดอดทน มีสีสันที่สวยงาม จนกลายเป็นเกมส์กีฬาที่ได้รับความนิยมไม่แพ้การตีไก่
ตามตำนานการกัดปลาไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่ามีมาตั้งแต่สมัยใด  แต่มีเรื่องเล่าต่อมาว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพวกมอญและพม่าเอากลองยาวมาเผยแพร่ให้คนไทย เพื่อใช้เล่นกันในช่วงเทศกาลงานประเพณีต่างๆ ส่วนคนไทยก็สอนการเล่นกัดปลาเป็นการตอบแทน ต่อมา พม่าก็ได้นำการเล่นกัดปลากลับไปยังประเทศ และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
               ปัจจุบันการแข่งขันกัดปลาได้เสื่อมความนิยมลงไปแล้ว ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่นิยมนำปลากัดมาเลี้ยงเพื่อความสวยงามมากกว่า

 
(ภาพจากหนังสือชื่อ Twentieth Century Impression of Thailand ในปีค.ศ.1908
ซึ่งชาวต่างชาติสร้างฉากแสดงการกัดปลาของคนไทยและวาดภาพไว้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20)


สมญานามของปลากัดไทย
 
          

                ในประวัติศาสตร์ได้ระบุไว้ว่า ในราวปี พ.ศ.2383 หรือราวๆร้อยกว่าปีมาแล้ว พระมหากษัตริย์แห่ง
กรุงสยาม (รัชกาลที่ 4) ได้มอบปลากัดของพระองค์ให้กับชายไทยคนหนึ่ง และชายคนดังกล่าวได้นำปลากัดไปให้เพื่อนที่เป็นแพทย์ชาวอเมริกันชื่อ นายแพทย์ทีโอดอร์ แคนเตอร์ (Dr.Theodor Canter) ซึ่งทำงานอยู่ที่สถาบันบริการทางการแพทย์ เบงกอล (The Bengal Medical Service) ในประเทศอินเดีย

 
   
รัชกาลที่ 4
 

                 อีก 9 ปีต่อมานายแพทย์ทีโอดอร์ ได้พิมพ์เอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับปลากัดไทยชนิดดังกล่าวและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แมคโครโพดัส ปักแนกซ์ (Macropodus pugnax) ซึ่งต่อมาในปีพ.ศ.2452 ชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาชนิดนี้ได้เปลี่ยนไปเป็น เบตตา สเปลนเดนส์ (Betta splendens) โดยนายเท็ต ซี เรแกน (Mr. Tate C. Regan) เนื่องจากชื่อวิทยาศาสตร์ แมคโครโพดัส ปักแนกซ์ (M. pugnax ) มีผู้ตั้งชื่อไว้แล้วและเป็นปลากัดคนละสายพันธุ์กัน เบตตา สเปลนเดนส์ (B. splendens) มีชื่อสามัญว่า Siamese Fighting Fish คำว่า Betta มาจากคำว่า Bettah หมายถึงชนชาติของผู้เป็นนักรบ ส่วนคำว่า splendens มาจากคำว่า splendid หมายถึงความสวยงาม
ดังนั้นชื่อวิทยาศาสตร์ Betta splendens จึงหมายถึง นักรบหรือนักสู้ที่สวยงามและมีสง่า นั่นเอง

เส้นทางสายปลากัด

                ในปีพ.ศ.2439 ปลากัดชนิดนี้ได้ถูกนำเข้าไปเลี้ยงในประเทศเยอรมันเป็นครั้งแรก และได้แพร่ขยาย
เข้าไปเลี้ยงในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปีพ.ศ.2453 จากนั้นมาปลากัดเริ่มได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ จนมีการพัฒนาสายพันธุ์กันมาอย่างต่อเนื่องโดยในระยะแรกนิยมผสมปลากัดให้ได้สีแปลกใหม่และมีรูปแบบของสีที่สมบูรณ์
                ในช่วงปีพ.ศ.2470-2480 ผู้เลี้ยงปลากัดนิยมปลากัดสีอ่อนหรือสีเผือก โดยเฉพาะที่เรียกว่า ปลากัดเขมร ซึ่งมีลำตัวสีอ่อน และครีบมีสีแดง ต่อมาในปีพ.ศ.2490 ได้มีการเพาะพันธุ์ปลากัดสีดำได้เป็นผลสำเร็จ

ปลากัดป่าภาคกลาง
(Betta splendens)
ปลากัดหางมงกุฎหนาม (crown tail)
(Betta splendens)
ปลากัดหางสามเหลี่ยม (delta tail)
(Betta splendens)

                ความสนใจในการพัฒนาลักษณะรูปทรงลำตัวและครีบมีมากขึ้นจนในปีพ.ศ.2507 นักเพาะเลี้ยงปลาที่สหรัฐอเมริกาได้ประสบความสำเร็จในการผลิตสายพันธุ์ปลากัด “ลิบบี้” ซึ่งมีครีบหางที่ใหญ่และกว้างกว่าลำตัวถึง 3 เท่า ต่อมาในช่วงปีพ.ศ.2510-2520 นักเพาะเลี้ยงปลากัดในประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถสร้างสายพันธุ์ปลากัดหางสามเหลี่ยมที่เรียกว่า “เดลต้า” และปลากัดหางสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “ซุปเปอร์เดลต้า” หางของปลากัดชนิดนี้จะแผ่ทำมุม 45-61 องศากับโคนของครีบหาง
                ต่อมาประมาณปีพ.ศ.2530 นักเพาะพันธุ์ปลากัดในทวีปยุโรปสามารถเพาะพันธุ์ปลากัดที่มีหางรูป
ครึ่งวงกลมที่เรียกว่า “ฮาร์ฟมูน” หรือ “ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีก ได้สำเร็จและแพร่กระจายออกไปทั่วโลก
                ในปีพ.ศ. 2543 นักเพาะเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดชาวสิงค์โปร์ได้พัฒนาปลากัดหางจัก ซึ่งลักษณะเหมือนมงกุฎที่มีหนามเรียกว่า “ปลากัดหางมงกุฎหนาม” หรือ “คราวน์เทล” และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
จนในระยะต่อมาได้มีการพัฒนาปลากัดหางมงกุฎออกไปจนมีรูปแบบใหม่ๆ อีกมากมาย
                ปัจจุบันนอกจากการพัฒนาในเรื่องของครีบที่สวยงามแล้วยังมีการพัฒนารูปแบบของหางจากปลากัดหางเดี่ยวไปเป็นปลากัดหางสองแฉก (double tail)

                ในประเทศไทยแหล่งเพาะพันธุ์ปลากัดส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดนครปฐม ฉะเชิงเทรา กรุงเทพฯ ราชบุรี เพชรบุรี และนครศรีธรรมราชแต่การซื้อขายปลากัดมีแหล่งซื้อขายแหล่งใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ คือ ตลาดนัด
สวนจตุจักร ตลาดซันเดย ์ตลาดเซเวนเดย ์1 ตลาดเซเวนเดย์2 และตลาดไท
ซึ่งตลาดดังกล่าว อยู่ในเขตกรุงเทพฯ เปิดซื้อขายทุกวัน ยกเว้น ตลาดนัดสวนจตุจักรที่เปิดเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ ส่วนตลาดไทการค้าขายปลากัดจะเป็นลักษณะของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ส่งออกปลากัดออกไปขายต่างประเทศ

 
     
 
 
 
แผนที่ตลาดไท
 
     
     
พ่อค้าขายปลากัดที่ตลาดนัดสวนจตุจักร
ปลากัดที่ใส่ถุงขาย
                การบรรจุปลากัดเพื่อขายให้ลูกค้ามักนิยมใส่ปลาลงไปในถุงพลาสติกถุงละ 1 ตัว โดยใส่น้ำลงไปประมาณ 1 ใน 3 ของถุง แล้วอัดอากาศลงไปอีกประมาณ 2 ใน 3 เสร็จแล้วมัดปากถุงให้แน่นด้วยยางรัด ปลากัดสามารถอาศัยอยู่ในถุงได้นานหลายชั่วโมง เนื่องจากปลากัดมีอวัยวะพิเศษที่ช่วยในการหายใจเอาอากาศที่อยู่เหนือผิวน้ำไปใช้ได้ ดังนั้นการบรรจุปลาลงในถุงจึงไม่จำเป็นต้องใช้น้ำในปริมาณมาก และถ้าหากต้องการส่งออกไปต่างประเทศก็จะบรรจุถุงปลากัดเหล่านี้เรียงสลับหัวท้ายลงในกล่องโฟมที่เตรียมไว้ แล้วนำไปผ่านขั้นตอนทางศุลกากรการส่งออกอีกครั้งหนึ่ง
วิธีการบรรจุปลากัดใส่ถุงเพื่อขายในตลาดหรือส่งออกไปขายต่างประเทศ
 
สำนวนไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากปลากัด

           เนื่องจากคนไทยตั้งแต่อดีตมีความผูกพันกับปลากัดมานานจึงทำให้เกิดมีคำศัพท์ต่างๆ มาเป็นสำนวนเปรียบเทียบพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ อาทิเช่น

                    ก่อหวอด หมายถึง คนที่เริ่มก่อร่างสร้างตัว
                    ดีแต่ในหวอด หมายถึง คนที่เก่งแต่ในบ้านตัวอง
                    คร่ำหวอด หมายถึง คนที่มีีความเชี่ยวชาญ  ความชำนาญในงานด้านใดด้านหนึ่ง เนื่องจากทำงานนั้นมานาน
                    ลูกหม้อ หมายถึง มีเชื้อสายคนสำคัญ หรือ ผู้ที่รับราชการมานานและรู้ตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับหน่วยงานจนได้รับตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานนั้นๆ
                    หน้าถอดสี หมายถึง อาการกลัว หรือขี้ขลาด
                    ลูกไล่ หมายถึง คนที่มักถูกคนอื่นข่มเหงเล่นตามชอบใจ
                    ซ้ำสาม หมายถึง คนเลวๆ หรือคนที่มีเชื้อสายต่ำต้อย
                    รัดตัว หมายถึง คนที่มีงาน หรือหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่างจนไม่มีเวลาว่าง
     
   
     
 

กิจกรรมที่ทำได้ในชั้นเรียนเกี่ยวกับเรื่องชีวิตกับสิ่งแวดล้อม

          นักเรียนสามารถศึกษาความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในแหล่งที่อยู่อาศัย และระบบนิเวศในท้องถิ่น หากโรงเรียนมี/อยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ บ่อน้ำ หรือพื้นที่น้ำท่วมขัง โดยมีหญ้าปกคลุม  หรือพรรณไม้น้ำหลากหลายชนิด โดยสังเกตชนิดของปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ หากพบว่าแหล่งน้ำนั้นมีปลากัดอาศัยอยู่ ให้นักเรียนศึกษาและตั้งคำถามพร้อมตรวจสอบว่าแหล่งที่อยู่อาศัยลักษณะเช่นใดที่สามารถพบปลากัด เพราะเหตุใด และส่งเสริมให้นักเรียนเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์สัตว์ในท้องถิ่น โดยอาจจัดกิจกรรมให้นักเรียนสร้างระบบนิเวศที่ใกล้เคียงกับแหล่งที่อยู่อาศัยของปลากัด และนำปลากัดที่พบในบริเวณท้องถิ่นมาเลี้ยงและฝึกให้นักเรียนรู้จักการดูแล
สัตว์เลี้ยง
อย่างใกล้ชิด

         
 
   
ปลากัดที่เลี้ยงในบ่อดิน