การประยุกต์ใช้ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในการเพาะปลูกพืชอินทรีย์
เรื่อง : ดร.ติณณภพ แพงผม1 ดร.จิระศักดิ์ พุกดำ2 น.ส.วลี อมาตยกุล3
ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดนครปฐมส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร โดย ไผ่ตอง สถานที่ท่องเที่ยว วิสาหกิจชุมชนที่ร่วมโครงการวิจัย ตั้งอยู่ ณ หมู่ 7 ต.หนองงูเหลือม อ.เมือง จ.นครปฐม เป็นอีกพื้นที่ซึ่งทำเกษตรกรรมซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรในชุมชน เพื่อพัฒนาการทำเกษตรอินทรีย์โดยมีความตั้งใจเป็นชุมชนตัวอย่างในการเพาะปลูกพืชปลอดสารพิษเพื่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของตัวเกษตรกร และผู้บริโภค กิจกรรมและระบบในการทำเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดภัยค่อนข้างที่จะละเอียดอ่อนและต้องเอาใจใส่อย่างมาก นอกจากนี้ยังต้องมีต้นทุนทั้งในด้านวัสดุอุปกรณ์ในการเพาะปลูกและสิ่งหนึ่งที่เลี่ยงไม่ได้ คือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายทางพลังงาน ดังนั้นหนึ่งในโจทย์วิจัยนี้คือ การสร้างระบบสูบน้ำอัจฉริยะที่ใช้ในการสูบน้ำขึ้นมาบนบ่อพักน้ำขนาด 15 x 25 เมตร ของวิสาหกิจชุมชน การแก้ปัญหาโดยการใช้เทคโนโลยีควรเหมาะสมกับวิถีชีวิตและกิจกรรมทางการเกษตรของชุมชนเป้าหมาย ต้องเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ชุมชนสามารถลดการใช้พลังงานฟุ่มเฟือยจากกิจกรรมทางการเกษตร ลดค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานของชุมชน สามารถใช้งานได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้งานเทคโนโลยีทางด้านพลังงานทดแทนของชุมชนทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) ความเหมาะสมทางด้านเทคนิค 2) ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐศาสตร์ 3) ความเหมาะสมทางด้านนโยบายและความสอดคล้องกับชุมชนเกษตรกรรม และ 4) ความเหมาะสมทางด้านสิ่งแวดล้อม รูปที่ 1 แสดงพื้นที่เพาะปลูกและบ่อน้ำที่จะนำเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้งาน
รูปที่ 2 ระบบเครื่องสูบพลังงานแสงอาทิตย์ประกอบด้วย เซลล์แสงอาทิตย์ที่ใช้ในงานนี้จะเป็นแผงที่ให้กำลังไฟฟ้า 330 W 36V ทำการต่อ อนุกรมกันเพื่อให้ได้ความต้านทานสูงเป็น 36×8 = 288 V มีการติดตั้งเบรกเกอร์ในการตัดกระแสไฟฟ้าเพื่อลดอุบัติเหตุ มีการ tab สายออกมา 1 เส้น เพื่อติดต่อกับตู้คอนโทรลระบบ IoT เพื่อแสดงค่าการผลิตไฟฟ้าของโซล่าเซลล์ การเปิด-ปิดระบบ และคำนวณค่าไฟที่ประหยัดออกทางมือถือ ปั๊มน้ำที่ใช้เป็นปั๊มหอยโข่งกำลัง 1500 W 192 V ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า DC brushless 3 เฟส ในการดูดน้ำขึ้นมาพักในบริเวณบ่อพักน้ำ
ผลการศึกษาในการปลูกผักสลัดอินทรีย์ในพื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน การนำระบบสูบอัจฉริยะขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในการสูบน้ำมาพักไว้สามารถลดค่าไฟฟ้าได้เดือนละประมาณ 1,250 บาท ซึ่งถ้าใช้เวลา 6 ปีสามารถคืนทุนค่าระบบสูบน้ำอัจฉริยะได้
เอกสารอ้างอิง
[1] ติณณภพ แพงผม. (2563). บูรณาการระบบสูบน้ำอัจฉริยะและอากาศยานไร้คนขับร่วมกับการเกษตรแม่นยำสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกพืชมาตรฐานอินทรีย์ The Integration of Smart Pump System and Unmanned Aerial Vehicle with Precision Agriculture for Increasing the efficiency of Organic Farming(รายงานผลการวิจัย). กรุงเทพฯ. สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน
(No Ratings Yet)Loading…