จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 72 – สาระน่ารู้ เรื่อง ลอยกระทง : ความสุขของคนลอย ความทุกข์ของธรรมชาติ

Newsletters

ลอยกระทง : ความสุขของคนลอย ความทุกข์ของธรรมชาติ

เรื่อง : ดร.มนัสวี ศรีนนท์

         สาระน่ารู้ฉบับนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอเรื่องราวความรู้สึกที่มีต่อการลอยกระทงของคนไทยที่ตนเองได้เห็นตามหน้าสื่อต่าง ๆ ที่นำเสนอถึงปรากฏการณ์ขยะทางน้ำหรือน้ำกำลังจะเน่าหลังจากผ่านวันลอยกระทงไปแล้ว คือในภาพข่าวต่าง ๆ ที่นำเสนอความรู้สึกของคนที่ไปลอยกระทงตามที่ต่าง ๆ ที่จัดให้มีการลอยนั้นดูหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส สนุกสนาน เพลิดเพลิน มีความสุข ดังนั้น ถ้าจะให้ดูที่หน้าตาคนลอยกระทงแล้ว ก็น่าจะมั่นใจได้ว่าการลอยกระทงนี้จะเป็นการทำให้ตนเอง คนอื่น และสังคมโดยรวมได้ประโยชน์สุขกันถ้วนหน้า แต่ก็ปรากฏภาพว่าหลังจากวันลอยกระทงแล้ว กลับกลายเป็นว่าคนที่ต้องมาเก็บกระทงหรือคนที่ทำงานรักษาความสะอาดทางน้ำไม่ได้รู้สึกสุขเต็ม ๆ เหมือนกับคนลอยกระทง ในเรื่องนี้ ผู้เขียนก็เลยมาคิดวิเคราะห์ดูว่าทำอย่างไรจะให้การลอยกระทงนี้เป็นประเพณีอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไปเรื่อย ๆ และการลอยกระทงก็ต้องไม่ทำให้เกิดมลภาวะทางน้ำด้วย สรุปแล้ว การลอยกระทงนี้ ทุกฝ่ายควรได้ร่วมกันดำเนินการดังนี้

        1.ฝ่ายประชาชนผู้ลอยกระทง ผู้เขียนเห็นว่าฝ่ายนี้ควรให้ความสำคัญกับความรู้ความเข้าใจในวัตถุประสงค์จริง ๆ ของการลอยกระทง ไม่ใช่เป็นการลอยกระทงตามกระแส เรียกว่าอย่าได้ไปลอยกระทงเพียงเพราะอยากให้คนอื่นไม่มองว่าตนเองผิดแผกแตกต่างจากคนอื่น หรืออย่าลอยกระทงเพราะกลัวว่าคนอื่นจะหาว่าตนเองไม่ทันสมัย แต่ประชาชนควรได้ลอยกระทงอย่างรู้ความหมายที่แท้จริงของการลอยและต้องลอยอย่างมีความรู้ความเข้าใจในการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ไม่ใช่แค่อยากจะลอยกระทงอย่างเดียว ส่วนกระทงจะทำจากวัสดุอะไรก็ไม่สนใจ แบบนี้ถือว่าเป็นการลอยกระทงแบบเห็นแก่ตัว เอาประโยชน์หรือความรู้สึกดีของตนเองเป็นเป้าหมาย ไม่สนใจว่าหลังจากลอยกระทงแล้ว คนอื่นที่ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมหรือแม่น้ำจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ดังนั้น การลอยกระทงที่ดีจะต้องเป็นการลอยอย่างมีความรู้ความเข้าใจและมองถึงความยากลำบากของคนอื่นในสังคมที่จะต้องมาทำหน้าที่จัดเก็บในวันต่อมา ตลอดถึงต้องให้สำคัญกับแม่น้ำลำคลองด้วย เพราะกระทงบางส่วนไม่ได้ทำจากวัสดุตามธรรมชาติ การย่อยสลายจึงเป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลาอีกนานจึงจะย่อยสลายได้ ฉะนั้น จึงควรช่วยกันคนละไม้คนละมือในการส่งเสริมให้ใช้กระทงที่ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ

        2.ฝ่ายสังคมโดยรวมที่จัดงาน ผู้เขียนเห็นว่าการที่สังคมประชาสัมพันธ์ให้คนในสังคมเห็นความสำคัญของประเพณีลอยกระทงนี้นับว่าดีแล้ว เพราะตามที่ทราบกันโดยทั่วไป การลอยกระทงถือว่าเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณต่อแม่น้ำที่คนเราได้อาศัยเลี้ยงชีพ ดังนั้น การสนับสนุนให้ประชาชนเห็นคุณค่าของการลอยกระทงจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าการลอยกระทงที่แต่ละสถานที่จัดขึ้นนั้นจะมีเรื่องธุรกิจหรือผลประโยชน์ตอบแทนด้วย กล่าวคือ เมื่อเจ้าของสถานที่แต่ละแห่งจัดให้มีการลอยกระทง การค้าขายหรือการออกร้านค้าเพื่อขายสิ่งของก็จะมีตามมา ประชาชนก็จะหลั่งไหลกันมาลอยกระทงและซื้อของกินของใช้ไปในขณะเดียวกัน จึงทำให้เศรษฐกิจของสังคมหรือพื้นที่ดีขึ้นได้เหมือนกัน ทั้งนี้ บางสถานที่ก็จัดให้มีการขายกระทงด้วยและก็ปรากฏว่ากระทงที่ทำขาย บางทีก็ไม่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ไม่ย่อยสลายไปตามกาลเวลา จึงทำให้เกิดมลภาวะทางน้ำเพิ่มขึ้น สรุปแล้ว สังคมโดยรวม จึงไม่ควรมองการลอยกระทงที่จัดโดยสถานที่ต่าง ๆ แค่เพียงมิติความเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ควรที่จะมองมิติการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะหากสังคมได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการจัดงานลอยกระทง แต่กลับเสียประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อม ย่อมถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย

        ตามที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียนขอกล่าวสรุปสั้น ๆ ดังนี้ การลอยกระทงนับว่าเป็นประเพณีที่ประชาชนควรให้ความสำคัญที่วัตถุประสงค์การลอย มากกว่าจะลอยเพราะเห็นว่าเป็นประเพณี หากเป็นเช่นนี้ การลอยกระทงก็เป็นการลอยที่สักแต่ว่าทำไปตามประเพณีหรือสังคมพาทำเท่านั้น การลอยกระทงที่ว่านี้ก็อาจจะไม่เป็นเครื่องหมายแห่งคุณธรรมที่ปรากฏในตัวคนลอยเลย หรือการลอยกระทงนี้อาจไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์หรือคุณค่าที่แท้จริงอะไรเลย โดยเฉพาะในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงหรือเป็นภัยต่อตนเอง คนอื่น และสังคมโดยรวมได้ จึงอยากเห็นการลอยกระทงคือการลอยทุกข์ โศก โรคภัย เสนียดจัญไร ให้หายไปจากโลก ให้ทุกคนประสบพบเจอแต่ลาภ โดยเฉพาะลาภลอย หลังจากลอยกระทง

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 80 views