เนื่องจากลิพิดเป็นชีวโมเลกุลที่ประกอบไปด้วยโมเลกุลที่มีคุณสมบัติทางเคมีที่แตกต่างกัน 2 ชนิดได้แก่  กลุ่มที่มีขั้วหรือมีประจุไฟฟ้า และกลุ่มที่ไมีมีขั้วหรือไม่มีประจุไฟฟ้า ทำให้ลิพิดประพฤติตัวคล้ายกับสายพอลิเพปไทด์เมื่ออยู่ในน้ำ คือสามารถที่จะจัดตัวเองเข้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นได้ เช่น โมเลกุลของฟอสโฟลิพิด เมื่อรวมตัวกันเองตามธรรมชาติ ก็สามารถจัดตัวเองเป็นโครงสร้างของเยื่อหุ้มเซลล์สองชั้นได้  โดยจัดตัวเองเป็นแนวยาวออกไป และหันด้านที่มีประจุไฟฟ้าหรือมีขั้วทั้งหมดออกด้านนอก  ทำหน้าที่เป็นส่วนผนังที่สัมผัสกับโมเลกุลของน้ำ ส่วนที่เป็นสายไฮโดรคาร์บอนซึ่งไม่มีประจุไฟฟ้าหรือไม่มีขั้วนั้น จะถูกห่อเข้าไว้ด้านในของโครงสร้าง

         นอกจากนี้ ลิพิดยังสามารถจัดตัวเป็นไมเซลล์ (micelle)หรือไลโพโซม (liposome) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีทรงกลมได้อีกด้วย โดยหันด้านที่มีประจุไฟฟ้าหรือมีขั้วทั้งหมดออกด้านนอก ทำหน้าที่เป็นส่วนผนังที่สัมผัสกับโมเลกุลของน้ำ และจัดตำแหน่งส่วนหางของกรดไขมันเข้าด้านในไม่ให้สัมผัสกับโมเลกุลของน้ำได้อย่างเหมาะสม 

ีเพื่อนๆ รู้ไหมเอ่ยว่า แรงอะไรทำให้ลิพิดเหล่านี้เกิดการรวมตัวกัน เป็นโครงสร้างสองชั้นที่เรียกว่า"ไบแลร์ "

 

เยื่อหุ้มเซลล์เกิดจากการรวมตัวของลิพิดและโปรตีน

         เยื่อหุ้มเซลล์เป็นโครงสร้างที่มีความสำคัญที่สุดชนิดหนึ่งของเซลล์ ทำหน้าที่ห่อหุ้มและแบ่งอาณาเขตของเซลล์จากสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีหน้าที่สำคัญอื่นๆด้วย เช่น ทำหน้าที่เสมือนแผ่นกรองที่ยอมให้เฉพาะสารอาหารและเกลือแร่บางชนิดผ่านเข้าออกเซลล์ได้ มีความสำคัญในการทำหน้าที่เป็นตัวรับ (receptor) ในการรับส่งสัญญาณทางประสาทและการออกฤทธิ์ของฮอร์โมน อีกทั้งยังมีหน้าที่ยึดโครงสร้างของเซลล์กับแมทิรกซ์ (matrix) ภายนอกเซลล์

         โดยทั่วไป เยื่อหุ้มเซลล์ประกอบด้วยไขมันประมาณ 30-40% โปรตีนประมาณ 50-70% และคาร์โบไฮเดรตต่ำกว่า 10% ไขมันที่พบมากที่สุดเป็นพวกฟอสโฟลิพิด (phospholipid) นอกจากนี้ยังมีคอเลสเตอรอล (choleterol) และไกลโคลิพิด (glycolipid) ไขมันเหล่านี้เป็นสารชนิดแอมฟิพาธิค (amphipathic) กล่าวคือ มีทั้งกลุ่มมีขั้ว (polar) ชอบน้ำ และกลุ่มที่ไม่ชอบน้ำ (้hydrophobic) ในโมเลกุลเดียวกัน ก่อให้เกิดการรวมตัวเป็นไมเซลล์ (micelle) หรือแผ่นสองชั้น (bilayer)

         โปรตีนที่พบในเยื่อหุ้มเซลล์มีหลายชนิด และอาจทำหน้าที่ได้หลายอย่าง เช่นเป็นเอนไซม์ ช่วยในการขนส่งหรือเป็นตัวรับสัญญาณก็ได้ การวางตัวของโปรตีนในชั้นลิพิดไม่มีแบบแผนที่แน่นอน บางชนิดวางตัวอยู่รอบนอกของชั้นลิพิดด้านใดด้านหนึ่ง (peripheral protein) บางชนิดฝังตัวแน่นภายในชั้นลิพิด (integral protein)

ภาพแสดงโครงสร้างของเยื่อหุ้มเซลล์

เอ...โปรตีนที่อยู่ตรงผิวของเยื่อหุ้ม และโปรตีนที่แทรกตัวในเยื่อหุ้ม มีคุณสมบัติเหมือนกันหรือเปล่านะ

 

ไคโลไมครอน เป็นไลโพโปรตีนที่ทำหน้าที่ขนส่งไตรกลีเซอไรด์

         ไคโลไมครอนจัดเป็นไลโพโปรตีนที่ทำหน้าที่ขนส่งไตรกลีเซอร์ไรด์จากลำไส้เล็กไปยังตับ จะมีลักษณะพิเศษกล่าวคือ แกนกลาง จะเป็นไขมันชนิดที่ไม่มีขั้ว (nonpolar lipid) เช่น ไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอลเอสเตอร ์ เป็นต้น และล้อมรอบด้วยไขมันชนิดที่สามารถละลายน้ำได้บางส่วน (amphipatic lipid) เช่น ฟอสโฟลิพิด คอเลสเตอรอล เป็นต้น และยังมีโปรตีนแท้ๆที่ปราศจากโมเลกุลอื่นที่ยึดอยู่ด้วยที่เรียกว่า "อะโปโปรตีน" (apoprotein) แทรกอยู่ในชั้นของไขมันเหล่านี้ โดยทำหน้าที่เป็นตัวรับ-ส่งสัญญาน (recepter)

ภาพแสดงโครงสร้างของไลโพโปรตีน