นักวิทยาศาสตร์คาดว่าพืชดอกหรือแองจิโอสเปิร์ม
(angiosperm) มีวิวัฒนาการแยกจากพืชเมล็ดเปลือยเมื่อราว 350
ล้านปีมาแล้ว จากหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่พบมีอายุ
130 ล้านปี ทำให้สันนิษฐานว่าบรรพบุรุษของพืชดอกน่าจะเป็นพืชมีเนื้อไม้ขนาดเล็ก
ดอกเดี่ยว มีฐานรองดอกยื่นยาวและมีใบที่เปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่เป็นกลีบรวม
อับเรณูยังมีลักษณะยาวแบนคล้ายใบ ดอกในระยะแรกน่าจะกระจายเรณูโดยลม
พืชดอกปัจจุบันที่มีลำดับพันธุกรรมดึกดำบรรพ์ที่สุด คือ
Amborella trichopoda ซึ่งพบในป่าฝนเขตร้อนชื้นบนเกาะนิวคาลิโดเนียในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้
ซากดึกดำบรรพ์และภาพวาดของ
Amborella trichopoda
พืชดอกหรือแองจิโอสเปิร์ม
มีลักษณะร่วมกันที่สำคัญ ได้แก่ การมีเนื้อเยื่อห่อหุ้มเมล็ด
( ตรงตามชื่อ angiosperm ซึ่งมาจากคำว่า angios
= vessel หมายถึงวัตถุที่มีสิ่งหุ้มห่อ และสเปิร์มซึ่งในที่นี้หมายถึงเมล็ด)
มีการปฏิสนธิซ้อน (double fertilization) ซึ่งทำให้เกิดเอ็มบริโอและเอนโดสเปิร์ม
นักวิทยาศาสตร์คาดว่าพืชดอกประสบความสำเร็จในแง่วิวัฒนาการเนื่องจากการวิวัฒนาการร่วม
(coevolution) กับแมลงซึ่งปรากฏขึ้นบนโลกในช่วงต้นของมหายุคซีโนโซอิก
โดยการสร้างดอกและน้ำหวานที่ทำหน้าที่เชิญชวนแมลงเข้ามาผสมเกสร
โดยที่แมลงก็ได้รับประโยชน์เป็นอาหารจากน้ำหวานจากดอกไม้ การวิวัฒนาการร่วมกันนี้ทำให้โอกาสของการถ่ายละอองเรณูระหว่างต้นของพืชดอกมีมากขึ้นและกว้างไกลขึ้น
ผิดกับการถ่ายละอองเรณูโดยการใช้ลมของพืชพวกเมล็ดเปลือย ซึ่งต้องผลิตละอองเรณูจำนวนมากที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์และไม่สามารถไปได้ไกล
ผึ้งกำลังดูดน้ำหวานจากดอกไม้และทำหน้าที่ผสมเกสรไปพร้อมกัน
|