กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช
           สิ่งมีชีวิตดำรงชีพได้ด้วยการรับพลังงาน สารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ต่างๆ จาก
สิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปใช้ในร่างกายและจะขับของเสียรวมทั้งพลังงานที่ใช้ไม่ได้้กลับคืน
สู่สิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถในการผลิตอาหารเลี้ยงตัวเองได้เราเรียกว่า
ออโตโทรฟ (autotroph) ซึ่งแบ่งออกเป็นสองพวก ได้แก่ พวกที่ใช้พลังงานแสงโดยเฉพาะ
อย่างยิ่งแสงจากดวงอาทิตย์ และพวกที่ใช้สารอนินทรีย์พวกซัลเฟอร์และแอมโมเนีย
ในการสร้างอาหารดังนั้นเราจึงเรียกสิ่งมีชีวิตที่ใช้พลังงานแสงเพื่อการดำรงชีพว่า
โฟโตโทรฟ (phototroph) สิ่งมีชีวิตพวกนี้ได้แก่ พืช สาหร่าย โปรติสท์บางชนิด
เช่น ยูกลีนา รวมทั้งสิ่งมีชีวิตพวกโปรคารีโอตบางพวก เช่น สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน
ส่วนสิ่งมีชีวิตที่ใช้สารอนินทรีย์ในการสร้างอาหารโดยไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานแสง
เลยเราเรียกว่า คีโมโทรฟ (chemotroph) ซึ่งได้แก่แบคทีเรียบางชนิด





รูปที่ 8.1 สิ่งมีชีวิตพวกโฟโตโทรฟ (ก) พืช (ข) สาหร่าย (ค) โปรติสต์
(ง) สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน
(จ) แบคทีเรียที่ใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในการสังเคราะห์ด้วยแสงแทนน้ำ




     นักเรียนคิดว่าผู้ผลิตรายใหญ่ที่ผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลก
คือสิ่งมีชีวิตจำพวกใด



การสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชเกิดขึ้นที่คลอโรพลาสต์
           การสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชเกิดขึ้นบริเวณที่มี คลอโรฟิลล์ (chlorophyll) ซึ่ง
ส่วนใหญ่จะปรากฏอยู่ในบริเวณที่มีสีเขียวของพืช เช่น ส่วนของลำต้น ผลที่ยังไม่สุก และ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนใบ คลอโรฟิลล์เป็นสารสีเขียวทำหน้าที่รับพลังงานจากแสงอาทิตย์
และพบอยู่ใน คลอโรพลาสต์ (chloroplast) คลอโรพลาสต์ในส่วนใบของพืชพบอยู่
ในเนื้อเยื่อที่ชื่อ เมโซฟิลล์ (mesophyll) ใบพืชยังมีส่วนที่เป็นช่องว่างเล็กๆ ที่เรียก
ปากใบ (stomata) คาร์บอนไดออกไซด์สามารถผ่านเข้ามาในใบและออกซิเจน
จะถูกปล่อยออกมาผ่านทางปากใบนี้ ส่วนน้ำที่รากดูดขึ้นมายังส่วนบนของลำต้นจะถูกส่ง
ไปยังส่วนต่างๆ ของใบทางเส้นใบ เส้นใบยังใช้ในการขนส่งน้ำตาลไปยังรากและส่วนอื่นๆ
ของพืชที่ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้เองอีกด้วย




รูปที่ 8.2 ตำแหน่งและองค์ประกอบของคลอโรพลาสต์ในใบของพืชใบเลี้ยงคู่


            เซลล์เมโซฟิลล์แต่ละเซลล์ในใบพืชโดยทั่วไป ประกอบด้วยคลอโรพลาสต์ประมาณ
30-40 อัน คลอโรพลาสต์มีรูปร่างคล้ายผลแตงไทย ส่วนกว้างที่สุดมีขนาดประมาณ 2-4
ไมโครเมตร ส่วนยาวที่สุดมีขนาดประมาณ 4-7 ไมโครเมตร คลอโรพลาสต์ประกอบด้วย
เยื่อหุ้ม 2 ชั้น หุ้มของเหลวข้นๆ ที่เรียก สโตรมา (stroma) เอาไว้ เยื่อหุ้มชั้นในของ
คลอโรพลาสต์บางตอนม้วนตัวจนเกิดเป็นถุงที่เรียกว่า ไทลาคอยด์ (thylacoid) ซึ่งมีโพรง
(thylakoid space) อยู่ภายใน บางบริเวณเยื่อหุ้มชั้นในพับซ้อนไปมามีลักษณะเป็นถุง
ไทลาคอยด์เรียงซ้อนกันเป็นตั้งๆ เรียก กรานา (grana) เยื่อที่หุ้มไทลาคอยด์เอาไว้นี้คือ
บริเวณที่มีสารคลอโรฟิลล์ ซึ่งทำหน้าที่รับพลังงานจากแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในการสังเคราะห์
ด้วยแสงอยู่