โครงสร้างของดีเอ็นเอในสภาพธรรมชาติส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเกลียวคู่ (double helix) ประกอบด้วยสายดีเอ็นเอสองสายที่กลับทิศทางกัน (antiparallell) พันกันเป็นเกลียวโดยมีเบสที่เข้าคู่กัน (complementary bases) ซ้อนกันเป็นแกนกลางของเกลียวคู่

          เบสอะดีนีนจะจับคู่กับไทมีน และกวานีนจะจับคู่กับไซโทซีน การจับคู่เบสแบบนี้เรียกว่า การจับคู่เบสแบบวัตสันและคริก (Watson-Crick base-pairing) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างสายดีเอ็นเอสองสาย หรือระหว่างสายดีเอ็นเอหนึ่งสายกับสายอาร์เอ็นเอหนึ่งสาย หรือแม้แต่สายดีเอ็นเอหรืออาร์เอ็นเอสายเดียวที่พับกลับเข้าหาตัว


 

 


ภาพที่ 5.11 การจับคู่เบสแบบวัตสันและคริก


           โครงสร้างของดีเอ็นเอเกลียวคู่อาจเป็นโครงสร้าง แบบเอ (A-DNA) แบบบี (B-DNA) แบบซี (C-DNA) หรือ แบบแซด (Z-DNA) โครงสร้างแบบเอ แบบบี และแบบซี ต่างเป็นเกลียวคู่เวียนขวา แต่โครงสร้างแบบแซดเป็นเกลียวคู่เวียนซ้าย

 


ภาพที่ 5.12 โครงสร้างแบบต่างๆ ของดีเอ็นเอเกลียวคู่

          

ภาพที่ 5.13 โครงสร้างดีเอ็นเอเกลียวคู่ชนิดต่างๆ ที่แสดงทิศทางของคู่สายดีเอ็นเอ

 

           ดีเอ็นเอจะมีโครงสร้างแบบใดมักขึ้นอยู่กับชนิดของเบส ปริมาณน้ำ และอิออนโลหะที่จับอยู่กับดีเอ็นเอ

          โครงสร้างของดีเอ็นเอนอกจากจะเป็นชนิดสายคู่แล้ว ยังมีโครงสร้างแบบอื่นๆ เช่น ดีเอ็นเอแบบ 4 สาย  ดีเอ็นเอแบบเกลียวพันกัน 3 สาย  และดีเอ็นเอแบบสายทบกลับ อีกด้วย



 


ภาพที่ 5.14 โครงสร้างดีเอ็นเอที่นอกเหนือไปจากโครงสร้างแบบเกลียวคู่

 

          โครงสร้างของดีเอ็นเอตามแบบจำลองที่นักชีววิทยาชาวอเมริกันชื่อ เจมส์ วัตสัน (James Watson) กับนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษชื่อ ฟรานซิส คริก (Francis Crick) ได้เสนอขึ้นในปี ค. ศ. 1953 ที่นับได้ว่าเป็นการไขปริศนาความเร้นลับของชีวิตครั้งสำคัญแห่งศตวรรษนั้น เป็นโครงสร้างของดีเอ็นเอเกลียวคู่เวียนขวาแบบบี ซึ่งมีระยะหนึ่งรอบเกลียวเท่ากับ 3.4 นาโนเมตร หรือ 34 อังสตรอม มีเบสที่เข้าคู่กัน10 คู่ต่อรอบ เกลียวนี้มีร่องใหญ่ (major groove) และร่องเล็ก (minor groove) ตลอดความยาวของเกลียว



ภาพที่ 5.15 ดีเอ็นเอเกลียวคู่เวียนขวาแบบบี

 

 

ลักษณะโครงสร้างโมเลกุลของดีเอ็นเอเกลียวคู่เวียนขวาแบบบี
มีสมบัติทางเคมีสอดคล้องกับสมบัติทางชีววิทยาของยีน อย่างไรจ๊ะหนู
เจมส์ วัตสัน
(James Watson)
 

 

 

           ในการสืบพันธุ์และการแบ่งเซลล์ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการแบบไมโทซิส (mitosis) หรือ ไมโอซิส (meiosis) ก็ตาม ต้องมีการสร้างและจำลองแบบโครโมโซมแต่ละโครโมโซมให้เป็น 2 โครมาทิด (chromatids) ซึ่งต่างก็มีโครงสร้างและส่วนประกอบเหมือนเดิมทุกประการ ดังนั้นยีนหรือหน่วยพันธุกรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสายดีเอ็นเอและมีการถ่ายทอดไปตามโครโมโซม ก็ต้องมีสมบัติที่สามารถสังเคราะห์ ถอดแบบ และจำลองตัวเองได้ด้วย

           วัตสันและคริก ได้อธิบายกลไกที่น่าเป็นไปได้เกี่ยวกับกระบวนการถอดแบบและจำลองโมเลกุลดีเอ็นเอ (DNA replication) ขึ้นมาใหม่ จาก 1 โมเลกุล เป็น 2 โมเลกุล ไว้ว่า กระบวนการดังกล่าวเริ่มต้นจากการที่สายดีเอ็นเอเกลียวคู่คลายเกลียวออก และพันธะไฮโดรเจนที่ยึดระหว่างเบสที่เข้าคู่กันสลายไปทำให้สายคู่ของดีเอ็นเอเปิดอ้าออกคล้ายกับการรูดซิปเปิด ดีเอ็นเอแต่ละสายทำหน้าที่เป็นต้นแบบ (template) สำหรับการสร้างดีเอ็นเอสายใหม่ประกบกับสายเดิม เช่น ถ้าตรงจุดหนึ่งในดีเอ็นเอสายเดิมมีนิวคลีโอไทด์ที่มีเบสเป็น T นิวคลีโอไทด์ตัวที่จะเข้ามาประกบตรงจุดนั้นจะต้องมีเบสเป็น A หรือถ้าสายเดิมมีนิวคลีโอไทด์ที่มีเบสเป็น G นิวคลีโอไทด์ตัวที่จะเข้ามาประกบตรงจุดนั้นจะต้องมีเบสเป็น C เมื่อกระบวนการถอดแบบและจำลองโมเลกุลดีเอ็นเอเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ก็จะได้ดีเอ็นเอ 2 โมเลกุล ที่มีโครงสร้างเหมือนโมเลกุลเดิมทุกประการ โดยที่ในแต่ละโมเลกุลมีดีเอ็นเอสายเดิม 1 สาย กับสายใหม่ 1 สายเสมอ

 

 

ข้อเสนอของวัตสันและกระผมได้รับการพิสูจน์ในภายหลังว่าเป็นจริง
โดยที่การเปลี่ยนแปลงโมเลกุลของดีเอ็นเอเกิดขึ้นได้ด้วยความช่วยเหลือ
ของเอนไซม์ที่จำเพาะสำหรับการเปลี่ยนแปลงในแต่ละขั้นตอน
ฟรานซิส  คริก
(Francis Crick):
 

 

          ความรู้ในทางชีววิทยาที่ว่ายีนทำหน้าที่ควบคุมลักษณะทางพันธุกรรมนั้น แสดงให้เห็นว่าการแสดงลักษณะต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นจากการสื่อความหมายทางพันธุกรรมจากยีนบนสายดีเอ็นเอไปสู่โปรตีน

          การสื่อความหมายทางพันธุกรรมจากยีนไปสู่โปรตีนอาศัยการทำงานของอาร์เอ็นเอในเซลล์ ซึ่งประกอบไปด้วยขั้นตอนการถ่ายทอดข้อมูลพันธุกรรมจากดีเอ็นเอ ที่เรียกว่า การถอดรหัส (transcription) และการเปลี่ยนรหัสจากรหัสพันธุกรรมเป็นรหัสของโปรตีน ที่เรียกว่า การแปลรหัส (translation)

          อาร์เอ็นเอส่วนใหญ่จะพบอยู่ในไซโทพลาซึม มีโครงสร้างเป็นสายเดี่ยวแต่อาจมีการจับคู่ของเบสภายในเส้นเดียวกันทำให้เกิดห่วงภายในโครงสร้าง เราสามารถแบ่งชนิดของอาร์เอ็นเอได้ตามรูปร่างและหน้าที่ของมันได้เป็นสามพวกใหญ่ คือ อาร์เอ็นเอนำรหัส (messenger RNA หรือ mRNA) อาร์เอ็นเอส่งถ่าย (transfer RNA หรือ tRNA) และ อาร์เอ็นเอของไรโบโซม (ribosomal RNA หรือ rRNA)

          อาร์เอ็นเอนำรหัสเป็นตัวรับข้อมูลพันธุกรรมจากดีเอ็นเอ โมเลกุลของมันถูกสร้างขึ้นจากดีเอ็นเอต้นแบบสายหนึ่ง จึงมีลำดับนิวคลีโอไทด์เป็นลำดับที่เข้าคู่กับสายดีเอ็นเอต้นแบบ

 

 

รหัสคำสั่งในการสร้างสายพอลิเพปไทด์ของโปรตีนแต่ละชนิดมีความ
ยาวไม่เท่ากัน ดังนั้นเราจึงพบว่าอาร์เอ็นเอนำรหัสมีหลายขนาดด้วยกัน
มอรีส วิลคิน
(Mourice Wilkins)
 

 


          กลุ่มเบส 3 ตัว ที่เรียงกันเป็นลำดับ (triplet) บนสายอาร์เอ็นเอนำรหัส มีความหมายเป็นรหัสหนึ่งตัว (codon) ที่สื่อความหมายสำหรับกรดอะมิโน 1 ชนิด

 


ภาพที่ 5.16 รหัสพันธุกรรมที่ปรากฏบนสายอาร์เอ็นเอส่งข่าว


          รหัสกรดอะมิโนที่จุดเริ่มต้นบนสายอาร์เอ็นเอนำรหัสมีสูตรรหัส AUG ที่สื่อความหมายของการเริ่มต้นสร้างสายพอลิเพปไทด์ หลังจากนั้นก็เป็นรหัสกรดอะมิโนต่างๆ ที่สื่อความหมายสำหรับกรดอะมิโนที่จะเรียงตัวต่อกันเป็นสายพอลิเพปไทด์ของโปรตีนชนิดใดชนิดหนึ่ง ไปจนถึงปลายสุดของสายอาร์เอ็นเอนำรหัส ซึ่งมีรหัสกรดอะมิโนเป็น UAA หรือ UAG หรือ UGA ซึ่งเป็นรหัสหยุด ทำหน้าที่ให้สัญญาณว่าสิ้นสุดการสังเคราะห์สายพอลิเพปไทด์สำหรับโปรตีนชนิดนั้นๆ

          อาร์เอ็นเอส่งถ่ายมีบทบาทในขั้นตอนการแปลรหัสโดยทำหน้าที่เป็นตัวขนย้ายกรดอะมิโนไปต่อเข้าด้วยกันบนไรโบโซมจนเป็นพอลิเพปไทด์สายยาวตามลำดับรหัสกรดอะมิโนบนสายอาร์เอ็นเอนำรหัส

 


ภาพที่ 5.17 อาร์เอ็นเอส่งถ่าย

 

          ในอาร์เอ็นเอส่งถ่ายแต่ละโมเลกุลมีเบสส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่พ่วงกรดอะมิโนได้ 1 โมเลกุล   และยังมีเบสส่วนหนึ่งที่ที่สามารถจับคู่กับเบสในรหัสของอาร์เอ็นเอนำรหัส เบสส่วนนี้เรียกว่าแอนติโคดอน ประกอบไปด้วยเบส 3 ตัว ที่เข้าคู่กับโคดอนบนสายอาร์เอ็นเอนำรหัส 1 โคดอน

          อาร์เอ็นเอส่งถ่ายแต่ละโมเลกุลจึงมีแอนติโคดอนที่แตกต่างกัน และจะพ่วงกรดอะมิโนที่มีความสัมพันธ์กับแอนติโคดอนนั้น เช่น อาร์เอ็นเอส่งถ่าย ที่มีแอนติโคดอนประกอบไปด้วยเบส UAG ก็จะจับคู่กับโคดอน AUC ของอาร์เอ็นเอนำรหัส และจะพ่วงกรดอะมิโนไอโซลิวซีน   

          แต่อย่างไรก็ตามการจับคู่เบสระหว่างแอนติโคดอนของอาร์เอ็นเอส่งถ่ายกับโคดอนของอาร์เอ็นเอนำรหัส อาจเป็นแบบอื่นที่ไม่ใช่การจับคู่เบสแบบวัตสันและคริกก็ได้ และในโมเลกุลของอาร์เอ็นเอส่งถ่ายในบริเวณอื่นๆ ยังอาจมีเบสชนิดอื่นที่นอกเหนือไปจากเบสพื้นฐาน 4 ตัว คือ A, U, G และC อีกด้วย

          ส่วนอาร์เอ็นเอของไรโบโซมช่วยในการสื่อความหมายระหว่างอาร์เอ็นเอนำรหัสและอาร์เอ็นเอส่งถ่ายที่มาประกบกันบนไรโบโซมในขณะที่มีการสร้างสายพอลิเพปไทด์ของโปรตีน

 

น้องๆ คิดว่าโครงการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ (Human
Genome Project) มีประโยชน์อย่างไรบ้างคะ



          ในสิ่งมีชีวิตยังมีอาร์เอ็นเอ และดีเอ็นเอ ที่มีโครงสร้างเป็นรูปวงอีกด้วย ดีเอ็นเอรูปวงพบได้ในโครโมโซมของพืช และแบคทีเรียบางชนิด ส่วนอาร์เอ็นเอรูปวงสามารถพบได้ในไวรัสบางชนิด นอกจากนี้ยังมีอาร์เอ็นเอสายคู่ ซึ่งพบว่ามีหน้าทีสำคัญในการยับยั้งการทำงานของยีนอีกด้วย

 


ภาพที่ 5.18 ไวรัส SARS