การสาธิตวิธีการใช้งานเครื่องสเปกโทรโฟโตมิเตอร์

 
         เทคนิคยูวี-วิสิเบิล สเปกโทรโฟโตมิทรี (spectrophotometry) เป็นเทคนิคหนึ่ง
ที่นิยมใช้ในงานวิเคราะห์ โดยจุดประสงค์ของการใช้งานก็เพื่อ

1. วิเคราะห์หาปริมาณสารที่มีสี โดยการเทียบกับสารละลายมาตรฐานของสารที่มีสีนั้น
เช่น การวิเคราะห์หาปริมาณสารละลายด่างทับทิมหรือโพทัสเซียมเปอร์แมงกาเนต
(KMnO4) ซึ่งเป็นสารละลายที่มีสีม่วง ดังนั้นสามารถนำสารละลายด่างทับทิมไปวัดค่า
การดูดกลืนแสงได้เลย โดยเลือกความยาวคลื่นในช่วงแสงที่มองเห็นได้ให้เหมาะสม

2. วิเคราะห์หาปริมาณสารที่ไม่มีสี
 โดยการวัดการดูดกลืนแสงในช่วงยูวี หรือนำสารที่
ไม่มีสีนั้นมาทำปฏิกิริยาให้เกิดสีก่อนแล้วค่อยวัดในช่วงแสงที่มองเห็นได้ ยกตัวอย่างเช่น สารละลายเหล็ก (III) ที่ความเข้มข้นต่ำๆ จะมีสีเหลืองอ่อนจนเกือบดูเหมือนไม่มีสี
เราสามารถวัดการดูดกลืนของสารละลายเหล็ก (III) ในช่วงยูวีได้ แต่ค่า molar
absorptivity ในช่วงยูวีนี้ค่อนข้างต่ำ เราจึงอาจนำสารละลายเหล็ก (III) มาทำปฏิกิริยา
กับสารละลายไทโอไซยาเนต (SCN-) เกิดเป็นสารผลิตภัณฑ์ที่มีสีแดง ถ้าเรากำหนดให้
ในปฏิกิริยามีสารละลายไทโอไซยาเนตมากเกินพอ ดังนั้นความเข้มของสีแดงที่เกิดขึ้น
จึงขึ้นกับความเข้มข้นของเหล็ก (III) ที่มีอยู่ ดังนั้นเราจึงสามารถหาปริมาณสารละลาย
เหล็ก (III) โดยวัดการดูดกลืนแสงของสารผลิตภัณฑ์สีแดง

3. ติดตามการเกิดปฏิกิริยา โดยการวัดการดูดกลืนแสงที่เปลี่ยนไปตามเวลา คือ เราสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงสีของสารที่เกิดขึ้นหรือลดลงในขณะที่ปฏิกิริยากำลัง
ดำเนินไป โดยการวัดการดูดกลืนแสงของสีนั้นที่เปลี่ยนไป ข้อมูลที่ได้สามารถนำมา
คำนวณหาอัตราการเกิดปฏิกิริยาได้

       ในการสาธิตครั้งนี้ จะแนะนำเครื่องสเปกโทรโฟโตมิเตอร์ และนำเสนอการใช้
เครื่องสเปกโทรโฟโตมิเตอร์สำหรับงานวิเคราะห์ทั้ง 3 แบบตามที่กล่าวไปข้างต้น