ประสิทธิภาพของการสื่อสารข้อมูล

      ในการสื่อสารข้อมูลเราต้องอาศัยองค์ประกอบ 5 อย่างคือ ผู้รับ, ผู้ส่ง, สื่อกลาง, ข้อมูล และโปรโตคอล จึงจะทำการสื่อสารกันได้ สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงลำดับถับไปคือ เรื่องของประสิทธิภาพของการสื่อสารว่าการสื่อสารครั้งนั้น ๆ ดีหรือไม่ดีอย่างไร องค์ประกอบที่มีผลต่อประสิทธิภาพของการสื่อสาร ได้แก่
      1. สารสนเทศ (Information) ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารนั้น ทั้งผู้รับและผู้ส่งต้องสามารถเข้าใจได้ดี เช่น เราใช้ภาษาไทยในการพูดคุยกัน สามารถเข้าใจได้ดีกว่าใช้ภาษาอื่น การสื่อสารจึงมีประสิทธิภาพ หรือข่าวสารที่ได้รับบางส่วนสูญหายทำให้ประสิทธิภาพของการสื่อสารลดลง หรือในกรณีการส่งข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง หากเครื่องหนึ่งส่งข้อมูลด้วยอัตราเร็ว 9,600 bps (bit per second หรือบิดต่อวินาที) แต่อีกเครื่องหนึ่งรับข้อมูลด้วยอัตราเร็ว 2,400 bps การสื่อสารข้อมูลครั้งนั้นจะไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะผู้ส่งส่งข้อมูลเร็วจนผู้รับไม่สามารถรับได้ทัน
      2. คุณลักษณะเฉพาะตัว (Individual Characteristic) ขององค์ประกอบของการสื่อสารแต่ละอย่าง เช่น ผู้ส่ง ผู้รับ สื่อกลาง เป็นต้น ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพของการสื่อสาร ตัวอย่างเช่น การพูดคุยกัน บางคนเป็นผู้พูดที่ดี พูดชัดเจน มีวรรคตอน แต่ผู้ฟังบางคนไม่สามารถจับใจความได้ หรือการส่งข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ 2 เครื่องโดยใช้สายใยแก้วนำแสง ประสิทธิภาพของการสื่อสารย่อมดีกว่าใช้สายทองแดงในสภาพแวดล้อมเดียวกัน
      3. การรบกวน (Interfere) มีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพของการสื่อสารทุก ๆ แบบ หากการรบกวนการสื่อสารมีน้อย ประสิทธิภาพของการสื่อสารจะมีมาก เช่น เมื่อเราพูดคุยกันในโรงภาพยนตร์จะทำความรบกวนการชมภาพยนตร์ของบุคคลอื่น ที่กำลังรับข้อมูลจากจอภาพและเสียงจากลำโพง หรือมีคนใส่หมวกปีกกว้างเข้ามานั่งชมภาพยนตร์ทำให้เกิดการรบกวนคนที่นั่งแถวหลังได้

      การที่เราจะเปรียบเทียบว่าระบบการสื่อสารระบบใดดีกว่ากันนั้น เราต้องเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการสื่อสาร โดยทำการเปรียบเทียบสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
      1. การจัดส่ง (Delivery) หมายถึง การจัดส่งที่นำสารจากต้นทางไปยังปลายทางได้อย่างถูกต้อง ตัวอย่างเช่น พนักงานส่งพิซซ่าต้องจัดส่งพิซซ่าให้กับลูกค้าที่โทรศัพท์มาสั่งได้ถูกที่
      2. ความเที่ยงตรง (Accuracy) หมายถึง ข้อมูลที่ส่งไปให้ผู้รับ ผู้รับต้องได้รับข้อมูลเช่นเดียวกันกับที่ผู้ส่งส่งมาให้ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์และสามารถนำไปใช้ได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อลูกค้าได้รับพิซซ่าที่สั่งต้องได้รับพิซซ่าชนิดที่ได้สั่งไปและมีจำนวนชิ้นครบถ้วน
      3. เวลา (Timeliness) หมายถึง ระยะเวลาในการส่งจนกระทั่งผู้รับได้รับข้อมูล ใช้เวลามากน้อยเพียงไร เช่น ลูกค้าต้องได้รับพิซซ่าภายในเวลา 30 นาที หลังจากที่โทรศัพท์สั่งแล้ว
 
     
   
 



























 





 
     
 
 
<< ทิศทางในการไหลของข้อมูล | ระบบเครือข่าย LAN >>
 
   

Copyright © 2004 Institute for Innovation and Development of Learning Process.  All rights reserved.