ยีนโดยทั่วไปจะอยู่รวมกับโปรตีนประกอบกันเป็นโครโมโซม โครโมโซมเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนรูปร่าง และมีความหนา ความยาวขนาดต่าง ๆ ตามระยะของวัฏจักรเซลล์ เซลล์แต่ละประเภททำหน้าที่แตกต่างกัน และมีการแสดงออกยีนที่ต่างกันด้วย ทั้งที่โดยทั่วไปแล้ว ยีนในแต่ละเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเดียวกันควรจะมียีนที่เหมือนกัน และจำนวนเท่ากัน ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าในเซลล์ต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิต มีการแสดงออกที่ต่างกันและไม่เท่ากัน โดยที่ส่วนประกอบอื่นของโครโมโซมนอกเหนือจากตัว DNA มีส่วนร่วมด้วย ดังนั้น การแสดงออกยีนจึงควรเป็นการเลือกว่ายีนตัวไหนจะถูกปิดบังไว้ ยีนตัวไหนควรเปิดออก เพื่อทำการสร้าง RNA โปรตีน และอื่นๆ

 

 

        โครโมโซมเป็นแหล่งบรรจุสารพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต อยู่ในนิวเคลียส ไมโตคอนเดรีย และคลอโรพลาสต์   (ภาพที่ 1.1) มีความจำเพาะทั้งขนาด รูปร่าง และจำนวนในสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด บนโครโมโซมมียีน ซึ่งส่วนใหญ่ทำหน้าที่กำหนดการสร้างโปรตีนไว้ใช้ ทั้งในและนอกเซลล์ โครงสร้างของโครโมโซมคือ DNA รวมอยู่กับโปรตีนหลายชนิด    (ภาพที่ 1.2) ซึ่งประกอบขึ้นเป็นหน่วยย่อยมากมาย แต่ละหน่วยเรียกว่า นิวคลีโอโซม (nucleosome) จากโครงสร้างนี้เอง ทำให้โครโมโซมมีหน้าที่ป้องกันความเสียหาย ที่จะเกิดขึ้นกับสารพันธุกรรมไม่ให้ถูกทำลายได้โดยง่าย นอกจากนั้น โครโมโซมยังมีหน้าที่เพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม และถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานผ่านทางการแบ่งเซลล์

 
ภาพที่ 1.1
เซลล์ที่แสดงส่วนประกอบของออแกเนลล์ซึ่งบรรจุสารพันธุกรรม





 

 ภาพที่ 1.2 โครโมโซมในนิวเคลียสรูปร่างเป็นแท่งประกอบด้วย DNA รวมกับโปรตีน

 

คำถาม :
ถ้าเอา DNA ทั้งหมดของคนมายืดจะยาวในระดับเมตร เราจะพับ DNA อย่างไรเพื่อจะอยู่ในโครโมโซมซึ่งมีความยาวในระดับไมครอน

 

 

 

          นิวคลีโอโซมคือหน่วยย่อยของโครโมโซม ประกอบด้วย DNA ที่รวมอยู่กับโปรตีนฮีสโตน (histone protein) ซึ่งมีกรดอะมิโนที่เป็นเบสอยู่มาก โปรตีนฮีสโตนแบ่งเป็นชนิดย่อยๆ มีชื่อเรียกว่า H1, H2A, H2B, H3 และ H4 การรวมตัวของ DNA และโปรตีนฮีสโตนหลายๆ โมเลกุล ทำให้เกิดเป็นโพลีนิวคลีโอโซม (polynucleosome) ขึ้นมา (ภาพที่ 1.3)
        โพลีนิวคลีโอโซมในสภาพปกติ จะขดตัวแน่นเป็นเกลียว ในระยะแรกที่เริ่มขดเป็นเกลียวเรียกว่าโซลีนอยด์ (solenoid) ระยะต่อมาเรียกโครมาติน (chromatin) ระยะของการขดตัวดังกล่าว จะยังเห็นรูปร่างไม่ชัดเจน จนกระทั่งขดตัวแน่นที่สุดจะเห็นเป็นรูปร่างคล้ายกากบาท ระยะนี้จึงเรียกว่าโครโมโซม (ภาพที่ 1.4) 

 

 

 




 ภาพที่ 1.3 โครงสร้างนิวคลีโอโซมซึ่งเกิดจาก DNA รวมกับโปรตีนฮีสโตน 5 ชนิด

 
คำถาม :
โปรตีนฮีสโตนมีประจุเป็นบวก ท่านคิดว่าประจุบวกนี้เอาไปทำอะไรได้บ้าง
 

 

   

ภาพที่ 1.4 นิวคลีโอโซมหลายโมเลกุลมาเชื่อมกันโดยขดเป็นเกลียวโซลีนอยด์ โครมาตินและโครโมโซมตามลำดับ

 

 คำถาม :
โครโมโซมและโครมาตินต่างกันอย่างไร

 

 

 

           เนื่องจากเซลล์มีหลายชนิด แต่ละชนิดมีหน้าที่ในการทำงานที่แตกต่างกันออกไป เช่น เซลล์ประสาท เซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์สืบพันธุ์ เซลล์เม็ดเลือด เป็นต้น บางชนิดเมื่อเจริญเต็มที่จนทำหน้าที่เฉพาะอย่างของมันแล้ว ก็จะไม่มีการแบ่งตัวอีก แต่บางชนิดจะแบ่งตัวเองใหม่เรื่อยๆ เพื่อเพิ่มจำนวน หรือแทนที่เซลล์เก่าที่หมดสภาพ ตัวอย่างได้แก่ เซลล์บุผิว ดังนั้น เซลล์ใดจะหมุนเวียนอยู่ในวัฏจักรหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์ และความจำเป็นในการแบ่งเซลล์นั้นๆ เซลล์บางชนิดในภาวะปกติอาจอยู่ในสภาพไม่มีการแบ่งเซลล์ แต่ถ้าหากถูกกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก ก็อาจวกกลับเข้าไปอยู่ในวัฏจักรได้อีก เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว หากมีการกระตุ้นโดยสารเคมีบางประเภท หรือสารแปลกปลอม ก็จะเกิดการแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนขึ้นมาได้อีก นอกจากนี้ เซลล์แต่ละชนิดยังใช้เวลาในการเตรียมตัวเพื่อแบ่งเซลล์มากน้อยต่างกัน

           ช่วงเวลาทั้งหมดในการเตรียมตัวเพื่อแบ่งเซลล์ รวมเรียกว่า อินเตอร์เฟส (interphase) เป็นระยะยาวนานที่สุดของวัฏจักรเซลล์ ในระยะนี้ เซลล์จะมีการสังเคราะห์โปรตีน RNA และมีการลอกแบบเพิ่มจำนวน DNA ทำให้มีเนื้อโครโมโซมเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในระยะนี้โครมาตินมีลักษณะเป็นสายยาวพันกันยุ่งเหยิง มองเห็นเป็นก้อนกลมๆ อยู่ในเซลล์ (ภาพที่ 1.5) พอเข้าระยะโปรเฟส (prophase) โครมาตินจะหดตัวสั้นเข้า ทำให้เห็นเป็นแท่งโครโมโซมชัดเจน (ภาพที่ 1.6) และจะเห็นชัดที่สุดในระยะเมตาเฟส (metaphase) เนื่องจากแท่งโครโมเซมมีการหดตัวสั้นเต็มที่ จะเห็นโครโมโซมแต่ละแท่งมี 2 ข้าง แต่ละข้างเรียกโครมาติด (chromatid) ส่วนกลางและส่วนปลายของโครโมโซมเรียก เซนโทรเมียร์ (centromere) และ เทโลเมียร์ (telomere) ตามลำดับ ในระยะนี้โครมาทิดจะเลื่อนมาเรียงกันกลางเซลล์ (ภาพ 1.7)

 

     
ภาพที่ 1.5
ภาพที่ 1.6
 ภาพที่ 1.7
โครมาตินในระยะอินเตอร์เฟส
โครโมโซมในระยะโปรเฟส
โครโมโซมในระยะเมตาเฟส

ส่วนประกอบของเมตาเฟสโครโมโซม

 

ในเนื้อโครโมโซม มีบริเวณที่เรียกว่า ยูโครมาติน (euchromatin) เป็นส่วนที่มีการแสดงออกของยีน ในบริเวณนี้ โครมาตินมีการขดตัวในระยะอินเตอร์เฟส และมีการคลายตัวออกเมื่อมีการคัดลอกแบบ นอกจากนี้ยังมีบริเวณที่เรียกว่า เฮทเทอโรโครมาติน (heterochromatin) ซึ่งเป็นโครมาตินที่หดสั้นมาก ตลอดวัฏจักรของเซลล์ เป็นบริเวณที่ไม่มีการคัดลอกเบสเลย

 

 

            โครโมโซมแต่ละแท่งจะมีคู่เหมือนที่เรียกว่าโฮโมโลกัสโครโมโซม (homologous chromosome) ซึ่งจะมียีนที่เหมือนกัน หรือคล้ายกันมากร่วมกันทำงาน ตัวอย่างของโฮโมโลกัสโครโมโซม เช่น ในมนุษย์ โครโมโซมมนุษย์ใน 1 เซลล์ มี 46 แท่ง หรือ 23 คู่ แบ่งเป็นโครโมโซมร่างกาย 22 คู่ และโครโมโซมเพศ 1 คู่ (ภาพที่ 1.8)

ภาพที่ 1.8 ตัวอย่างของโฮโมโลกัสโครโมโซม (ซ้าย) โฮโมโลกัสโครโมโซมในระยะเมตาเฟส (ขวา)

 

 

          โครโมโซมที่มีลักษณะพิเศษในธรรมชาติ เช่น โพลีทีนโครโมโซม หรือไจแอนท์โครโมโซม (polytene chromosome หรือ giant chromosome) ในเซลล์ต่อมน้ำลายแมลงหวี่ มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนโครมาติดโดยไม่แยกออกจากกัน ทำให้ในการแบ่งตัวแต่ละครั้งจะได้โครโมโซมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีจุดเชื่อมกันบริเวณเซนโทรเมียร์เป็นโครโมโซมเดียว (ภาพที่ 1.9)

................อีกตัวอย่างหนึ่งคือ แลมป์บรัชโครโมโซม (lampbrush chromosome) พบในเซลล์ไข่ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง โครโมโซมมีลักษณะโป่งพองออก คล้ายแปรงล้างขวด เนื่องจากมีการสังเคราะห์ DNA และโปรตีน อย่างรวดเร็ว และผลิตโปรตีนจำนวนมาก (ภาพที่ 1.10)

 

 
ภาพที่ 1.9 โพลีทีนโครโมโซม
ภาพที่ 1.10 แลมบ์บรัชโครโมโซม

 

 

         โครโมโซมในไมโตคอนเดรียและคลอโรพลาสต์ (ภาพที่ 1.11) มีลักษณะต่างจากโครโมโซมในนิวเคลียสหลายประการ ได้แก่ โครงสร้างที่เป็นวงแหวนขนาดเล็ก และจำนวนยีนที่น้อยกว่ามาก รวมถึงการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม ที่ฝ่ายแม่จะเป็นผู้ถ่ายทอดสารพันธุกรรมในไมโตคอนเดรีย หรือคลอโรพลาสต์ไปสู่ลูก โดยผ่านทางไข่ โครโมโซมในไมโตคอนเดรีย มียีนสำคัญ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการหายใจ ส่วนหน้าที่สำคัญของโครโมโซมในคลอโรพลาสต์ จะเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ด้วยแสงและการสร้างสีใบ





ภาพที่ 1.11
DNA ในไมโตคอนเดรียและคลอโรพลาสต์ซึ่งมีลักษณะเป็นวงแหวน

 

คำถาม :
DNA ในนิวเคลียส ไมโตคอนเดรีย และคลอโรพลาสต์ ต่างกันอย่างไร และจะมีกระบวนการลอกแบบต่างกันหรือไม่ อย่างไร

 

 

          สิ่งมีชีวิตประเภทแบคทีเรียและไวรัส มีโครโมโซมซึ่งต่างจากสิ่งมีชีวิตชั้นสูง หรือยูคาริโอต เนื่องจากต้องบรรจุสารพันธุกรรม เข้าไปในพื้นที่จำกัดภายในเซลล์ของแบคทีเรีย หรืออนุภาคไวรัส ดังนั้น โครโมโซมจึงต้องมีโครงสร้างที่ยืดหยุ่นได้ดี เช่นโครโมโซมของแบคทีเรีย ประกอบด้วย DNA มีลักษณะเป็นวงแหวนในสภาพปกติ และบิดเป็นเกลียวแน่นเรียก ซูเปอร์คอยล์โครโมโซม (supercoiled chromosome) และเมื่อเกิดการแสดงออกของยีน ก็จะสามารถคลายตัวออกได้เรียก รีแลกซ์โครโมโซม (relaxed chromosome) (ภาพที่ 1.12)
         สำหรับโครโมโซมของไวรัส เป็นโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อนเท่าโครโมโซมของยูคาริโอต และโปรคาริโอต โครโมโซมของไวรัสมีสารพันธุกรรมซึ่งเป็น DNA หรือ RNA โดยเป็นได้ทั้งสภาพเส้นตรงและวงแหวน (ภาพที่ 1.13)

ภาพที่ 1.12 โครโมโซมแบคทีเรียซึ่งเป็นได้ทั้งสภาพซูเปอร์คอยล์และรีแลกซ์

 

 

ภาพที่ 1.13 โครโมโซมของไวรัสที่เป็น DNA สายเดี่ยวและสายคู่

 

 

          โครงสร้างของยีน ประกอบด้วยลำดับเบสของ DNA (จะกล่าวถึงในบทต่อไป)   ที่ต่อเนื่องบนโครโมโซม มีทั้งส่วนที่เป็น เอ็กซอน (exon) คือส่วนที่ใช้แปลรหัสเป็นโปรตีน และ อินทรอน (intron) คือส่วนที่ไม่ใช้แปลรหัสเป็นโปรตีน ยีนต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่บนโครโมโซมแต่ละแท่ง ทำหน้าที่สร้างโปรตีนแตกต่างกัน โดยผ่านการลอกแบบ เพื่อเพิ่มปริมาณ DNA การคัดลอกของ DNA เป็น RNA และการแปลรหัสจาก RNA เป็นโปรตีน (ภาพที่ 1.14) ซึ่งรายละเอียดจะได้กล่าวไว้ในบทที่ 3

 

ภาพที่ 1.14 การทำงานของยีนบนโครโมโซม (ซ้าย) เปรียบการทำงานของยีนเป็นการแปลภาษา(ขวา)

 

 

คำถาม :

 

1)   ยีนคืออะไร
2) ท่านเห็นด้วยกับการอธิบายคำว่า replication, transcription และ translation ตามภาพที่ 1.14 หรือไม่ ให้เหตุผล (โปรดพยายามตอบคำถามข้อ 2 ก่อนอ่านข้างล่างนี้)

 

 ใใใใใจะเห็นว่า replication คือการลอกให้เหมือนเดิมทุกประการ ส่วน transcription (การคัดลอก) เป็นการเปลี่ยน font ของ DNA มาเป็น font ของ RNA การเปลี่ยน font นี้ ทำให้สามารถอ่านรหัสได้ง่ายขึ้น จึงทำให้เกิดการ translation (แปลรหัส) แต่การคัดลอกนี้ ไม่จำเป็นต้องคัดลอกเป็น mRNA ทั้งหมด การคัดลอกเป็น mRNA นี้ถือว่าเป็นการลอกรหัสก็ได้

 

ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับบทเรียน
ชื่อเรื่อง
ขนาด
mitosis movie
12,337 KB
meiosis movie
6,539 KB
chromosome packing movie
25,933 KB

 

ที่มา : www.whfreeman.com/lodish