หน้าที่ของการหายใจคือการนำออกซิเจนจากสิ่งแวดล้อม คือ อากาศ และน้ำ
ไปให้เซลล์ และนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากเซลล์ หรือถ้าจะกล่าวในแง่ของเมแทบอลิซึม
เซลล์จะใช้กระบวนการหายใจ เพื่อเผาผลาญสารอาหาร ให้เกิดพลังงานในสิ่งมีชีวิต เพื่อ
นำไปใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ในการดำรงชีพ กระบวนการหายใจของสัตว์ชั้นสูง แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน
ตามหลักสรีรวิทยา คือ

              การหายใจภายนอกเซลล์ (external respiration หรือ breathing)
              การหายใจภายในเซลล์ (internal respiration หรือ cellular respiration)





รูปที่ 1.1
ความสัมพันธ์ระหว่างการหายใจภายนอกและภายในเซลล์ แสดงให้เห็นถึง
บทบาทของการแลกเปลี่ยนแก๊สต่อการสร้างพลังงานของเซลล์




             การหายใจภายนอกเซลล์ :

             เป็นการนำอากาศเข้าสู่เซลล์หรือร่างกายและเกิดการแลกเปลี่ยนแก๊ส
ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับอวัยวะที่ใช้หายใจ เช่น ปอด เหงือก ผิวหนัง ท่อลมของแมลง
ปากใบของพืช เป็นต้น


             การหายใจภายในเซลล์ :

             เป็นขั้นตอนของการสลายสารอาหารซึ่งมีปฏิกิริยาเคมีเกี่ยวข้องมากมาย ปฏิกิริยาหลาย
ขั้นตอนเกิดขึ้นโดยไม่ได้ใช้ออกซิเจน แต่ออกซิเจนเป็นตัวช่วยในการออกซิเดชัน (oxidation)
ขั้นสุดท้าย


             สิ่งมีชีวิตบางชนิดไม่จำเป็นต้องมีกระบวนการหายใจครบทั้งสองอย่าง อาจมีแค่ขั้นตอน
การหายใจภายในเซลล์เท่านั้น ดังที่พบในสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว เช่น โปรโตซัว สาหร่ายเซลล์เดียว
และจุลินทรีย์ เป็นต้น

             ในบทนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการหายใจภายนอก หรือที่เรียกกันว่า การแลกเปลี่ยน
แก๊ส ส่วนเรื่องของการหายใจภายในเซลล์ หรือบางครั้งเรียกว่าการหายใจระดับเซลล์ (cellular
respiration) จะได้กล่าวไว้ในบทที่ 2, 3 และ 4

    

: ออกซิเจนถูกนำไปใช้ในขั้นตอนใดของการหายใจ
: ปริมาณของออกซิเจนในน้ำและอากาศมีเท่ากันหรือไม่











             การนำแก๊สเข้าไปให้เนื้อเยื่อ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ

             ขั้นแรก   :   เป็นการนำแก๊สจากสิ่งแวดล้อมเข้ามาให้สิ่งมีชีวิต (ventilation)
             ขั้นที่สอง :   เป็นการแลกเปลี่ยนแก๊สผ่านเยื่อ (exchange)
             ขั้นที่สาม :   เป็นการลำเลียงออกซิเจน จากพื้นที่หายใจเข้าไปให้เนื้อเยื่อ (transport)

            
             เนื้อหาส่วนใหญ่ในหัวข้อนี้ จะเน้นไปที่โครงสร้างของการแลกเปลี่ยนแก๊ส เพราะเป็น
สิ่งที่สำคัญในการนำเอาออกซิเจนจากสิ่งแวดล้อมไปใช้ในการสร้างพลังงาน (หรือการหายใจระดับเซลล์)
และขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา
            
             สิ่งแวดล้อมในที่นี้ อาจเป็นอากาศ หรือ น้ำ ซึ่งออกซิเจนเป็นส่วนผสมอยู่ในอากาศ
(ประมาณ 21%) และละลายอยู่ในน้ำ (ประมาณ 1%)


             การแลกเปลี่ยนแก๊ส ต้องทำผ่านพื้นที่หายใจ (respiratory surface) ที่มีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ
เพื่อให้แก๊สซึมผ่านเข้า-ออกได้ และพื้นที่นี้จะต้องมีลักษณะเปียกชื้น โครงสร้างที่ใช้แลกเปลี่ยนแก๊ส
ในสิ่งมีชีวิตนี้ได้มีการพัฒนาระหว่างวิวัฒนาการ ดังจะเห็นได้ว่า พวกสัตว์น้ำส่วนใหญ่จะใช้เหงือก
สัตว์บกจะใช้ปอด หรือ ท่อลม โครงสร้างที่ใช้แลกเปลี่ยนแก๊สนี้อาจแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังต่อไปนี้


            1. ผิวของร่าง (body surface)

                      มักใช้ในสัตว์เล็กๆ ที่มีสัดส่วนของพื้นที่ต่อปริมาตรสูง (เช่น ขนาดตัวเล็ก และยาว หรือแบน)
ซึ่งใช้ผิวหนังทั่วร่างเป็นพื้นที่หายใจ ดังที่พบในโปรโตซัว ฟองน้ำ พยาธิตัวแบน ไส้เดือน เป็นต้น สัตว์เหล่า
นี้มีผิวหนังที่ประกอบด้วยเซลล์จำนวนไม่มาก มีลักษณะบาง ทำให้แก๊สสามารถแพร่ผ่านเข้าออกได้ง่าย
ออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์แพร่ผ่านเข้า-ออกได้โดยตรงไม่ต้องอาศัยระบบทางเดินหายใจ
สัตว์จำพวก สะเทินน้ำสะเทินบก (amphibians) ได้ออกซิเจน ประมาณ 25% จากทางผิวหนัง
สัตว์พวกนี้จะต้องมีผิวหนังที่เปียกชื้น จึงจะสามารถเกิดการแลกเปลี่ยนแก๊สได้ ดังนั้นจึงต้องอาศัยอยู่ในน้ำ
หรือที่เปียกชื้น






รูปที่ 1.2
สัตว์ที่ใช้ผิวของร่าง สำหรับแลกเปลี่ยนแก๊ส


             2. เหงือก (gill)

            เป็นพื้นที่หายใจของสัตว์น้ำหลายประเภทตั้งแต่สัตว์ใหญ่ เช่น ปลา ไปจนถึง กุ้ง หอย ปลาดาว
หนอนทะเล เป็นต้น เหงือกเป็นโครงสร้างคล้ายขนนกที่ยื่นออกมานอกตัวเข้าไปในน้ำ เพื่อใช้ในการ
แลกเปลี่ยนแก๊สออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ เหงือกปลามีเนื้อเยื่อที่ลักษณะคล้ายขนนกที่พับไปมา
เรียงตัวกันเป็นแผง ภายในประกอบด้วยเส้นเลือดฝอยจำนวนมาก ขณะที่ปลาว่ายน้ำออกซิเจนปริมาณน้อย
ที่ละลายอยู่ในน้ำจะแพร่ผ่านผนังของเส้นเลือดฝอยเหล่านี้แล้วไหลเวียนไปตามระบบหมุนเวียนเลือด
โครงสร้างของเหงือกนั้นมีลักษณะแตกต่างกันตามสปีิชีส์ ดังตัวอย่างในรูปที่ 1.3



                            
   



รูปที่ 1.3
ลักษณะที่ต่างกันออกไปของเหงือกของสัตว์น้ำต่างชนิด




รูปที่ 1.4
โครงสร้างและหน้าที่ของเหงือกปลา


            ปลาจะปั๊มน้ำผ่านปากเข้าไปที่เหงือก (ถ้าเป็นปลาที่กำลังว่ายน้ำ น้ำจะผ่านเข้าเหงือกเอง)
ในแต่ละแกนกระดูกที่ค้ำเหงือก จะมีแผงเหงือก 2 แถว ซึ่งประกอบด้วย แผ่นบางๆ (lamella)
เมื่อน้ำไหลผ่าน lamella เลือดที่ไหลผ่านไปตามเส้นเลือดฝอยใน lamella จะดึงออกซิเจนจากน้ำ
ให้สังเกตว่า เลือดจะไหลในทิศทางที่ตรงข้ามกับของน้ำที่ผ่าน lamella ทั้งนี้เพื่อช่วยในการดูดเอา
ออกซิเจนมาจากน้ำได้ในรูปที่ 1.4 อย่างมีประสิทธิภาพ

            ประสิทธิภาพในการดึงเอาออกซิเจนจากน้ำ จะสูงได้ถึง 80% ถ้าทิศทางการไหลของน้ำผ่านใน
lamella และทิศทางของเลือดที่ไหลในเส้นเลือดฝอยที่เหงือก เป็นแบบสวนทางกัน  (โปรดคลิก
เพื่อดูรายละเอียด)



: สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในทะเลลึก หายใจโดยวิธีใด ได้ออกซิเจนมาจากไหน





                3. ท่อลม (trachea)

           พบในแมลง ท่อลมขนาดใหญ่จะอยู่บริเวณกลางลำตัวแล้วแตกแขนงเป็นท่อขนาดเล็ก
ขนาดฝอย แทรกไปตามเซลล์ในเนื้อเยื่อแทบทุกเซลล์ ปลายสุดของแต่ละท่อลมเปิดออกทางด้าน
ข้างของลำตัว เป็นช่องสำหรับให้อากาศผ่านเข้าออกโดยตรง ซึ่งการแลกเปลี่ยนแก๊ส เกิดขึ้นโดย
การซึมผ่าน epithelium ที่บุส่วนปลายสุดของระบบท่อลม ออกซิเจนสามารถซึมเข้าไปในเซลล์
ได้โดยตรง






รูปที่ 1.5
ระบบท่อลมของแมลง



  



รูปที่ 1.6
ภาพถ่ายด้วยกล้องจุลทรรศน์ แสดงให้เห็นถึงการแตกแขนง
ของท่อลมเป็นแขนงเล็กๆ ไปทั่วเนื้อเยื่อ


            4. ปอด (lung)

           พบในสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อยู่บนบกทั่วไป อากาศจากภายนอกจะผ่านเข้าทางรูจมูก
ผ่านหลอดลมเข้าสู่ปอด ภายในปอด อากาศจะเข้าไปยังถุงลมเล็กๆ ที่กระจายอยู่ทั่วไป รอบๆ
ถุงลงเหล่านี้ มีเส้นเลือดฝอยมาล้อมรอบ ในเม็ดเลือดแดงมีฮีโมโกลบินซึ่งเป็นรงควัตถุที่เกี่ยว
ข้องกับการหายใจ (respiratory pigment) ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนจากถุงลมที่แพร่ผ่าน
เข้าไปในกระแสเลือดไปยังเซลล์ทั่วร่างกาย เพื่อช่วยในการสร้างพลังงานและในการนี้จะปล่อย
คาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นของเสียออกนอกเซลล์และนอกร่างกาย (ดูรายละเอียดของการแลก
เปลี่ยนแก๊สโดยใช้ปอดในหัวข้อต่อไป)





รูปที่ 1.7
รูปวาดของส่วนหนึ่งของกลีบปอด ขยายให้เห็นถึงถุงลม และ
เส้นเลือดฝอยที่ล้อมรอบถุงลม เพื่อปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์
ออกไป และรับออกซิเจนเข้ามา



: การหายใจโดยใช้ปอด และท่อลมต่างกันอย่างไร








          
          การหายใจของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังต้องใช้การทำงานของระบบอย่างน้อย 4 ระบบ คือ

          1. ระบบทางเดินหายใจ (respiratory system)
                   เป็นระบบที่ประกอบด้วยอวัยวะหลายอย่างทำหน้าที่ร่วมกันนำออกซิเจนเข้าสู่เซลล์
                   เพื่อเกิดการเผาพลาญให้ได้พลังงานและขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากเซลล์
          
          2. ระบบกล้ามเนื้อ (muscular system)
                   ช่วยในการหดตัวและคลายตัวของอวัยวะที่ทำหน้าที่หายใจ

          3. ระบบไหลเวียนเลือด (circulartory system)
                 
ประกอบไปด้วยหัวใจ เส้นเลือดแดง เส้นเลือดดำ เส้นเลือดฝอย เพื่อนำออกซิเจน
                  และคาร์บอนไดออกไซด์ไปทั่วร่างกาย
          
          4. ร
ะบบประสาทอัตโนมัติ (autonomic nervous system)
                 
ทำหน้าที่ควบคุมกลไกการหายใจในร่างกาย ศูนย์การหายใจ (respiratory center)
                  ในสมอง
                  



          ตัวอย่างต่อไปนี้เป็นระบบทางเดินหายใจของคนซึ่งประกอบไปด้วย       
           


         1. รูจมูก (nostril) และ โพรงจมูก (nasal cavity)



จมูกมี 2 ซีก ซ้าย-ขวา มีกระดูกอ่อน เป็นแผ่นเรียบ
กั้นกลางมักโค้งไปด้านใดด้านหนึ่งอยู่เสมอ ผนังด้านข้าง
จะมีกระดูกยื่นออกมา 3 ชิ้น กระดูกเหล่านี้จะหุ้มด้วย
เยื่อหุ้มกระดูก ซึ่งมีขนอยู่ด้วย ทำหน้าที่ขับน้ำมูกออกมา
เมื่อมีการติดเชื้อก็จะขับเมือกออกมา  ในขณะเดียวกันขน
จะพัดพาเมือกที่จับเชื้อออกสู่ภายนอก

         2. คอหอย (pharynx)



มีลักษณะเป็นท่อที่บุด้วยกล้ามเนื้อเรียบ ต่อระหว่างจมูกกับหลอดอาหาร

 


            3. กล่องเสียง (larynx)


ลักษณะเป็นแผ่น 2 แผ่น เชื่อมประกบทำมุมกันเป็นชั้นเดียว
ในผู้ชายมีลักษณะแหลมยื่นออกมาเรียกว่า ลูกกระเดือก
(Adam's apple) ในผู้หญิงมีลักษณะป้านเรียบมองเห็นไม่ชัด
เรียกว่า epiglottis เป็นกระดูกอ่อนรูปร่างคล้ายใบไม้
ด้านหน้าเป็นช่องเปิดเข้าสู่กล่องเสียง ในขณะกลืนอาหาร
กล่องเสียงจะเลื่อนขึ้นข้างบนและข้างหน้า ส่วนปลาย ของ
epiglottis จะเลื่อนลงมาปิดกล่องเสียงไม่ให้อากาศ
เข้าสู่กล่องเสียงได้ หน้าที่ของกล่องเสียง (larynx)
คือ เป็นทางผ่านเข้าออกของอากาศ และทำให้เกิดเสียง



            4. หลอดลม (trachea)


ลักษณะเป็นวงแหวนกระดูกอ่อน รูปตัว c โดยกระดูกอ่อน
จะอยู่ทางด้านหน้า  ส่วนด้านหลังเป็นกล้ามเนื้อเรียบ
หลอดลมของคนมีความยาวประมาณ 10 ซม. แล้วแยกเป็น
ขั้วปอด (bronchus)  2  ข้าง


            5. ขั้วปอด (bronchus)

แยกเป็นข้างขวาและข้างซ้ายในคน ขั้วปอดข้างขวา
จะลาดกว่า ดังนั้นเวลาสำลักสิ่งแปลกปลอมจะทำให้
สิ่งแปลกปลอม มีโอกาสตกลงทางด้านขวาได้ ปอดข้างขวา
จึงเป็นโรคได้มากกว่าด้านซ้าย

           6. ปอด (lung) และแขนงขั้วปอด (bronchiole)



ตั้งอยู่ในทรวงอก ปอดข้างขวามี 3 กลีบ ข้างซ้ายมี 2 กลีบ
ขั้วปอด ประกอบด้วยถุงลมและเส้นเลือดมากมาย ได้แก่
bronchial artery, pulmonary artery ,bronchial vein
และ pulmonary vein ปริมาณเลือดที่เข้าออกปอดใน
แต่ละครั้งมีประมาณ 500 ลูกบาศก์เซนติเมตร

            7. ถุงลมเล็กๆ ในปอด (alveolus หรือ air sac)



ถุงลมเล็กๆ ในปอด มีเส้นเลือดฝอย (capillaries)
ล้อมรอบทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนออกซิเจน
และคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างมีประสิทธิภาพ


ภาพรวมของระบบทางเดินหายใจได้แสดงไว้ในรูปข้างล่างนี้





รูปที่ 1.8
ภาพรวมของระบบทางเดินหายใจ












          การหายใจเข้าและหายใจออก เป็นการนำแก๊สเข้า-ออกในสิ่งมีชีวิตหรือที่เรียกว่า ventilation
การหายใจเข้า จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อความดันอากาศในถุงลมน้อยกว่าความดันบรรยากาศปกติ
ส่วนการหายใจออก จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อความดันอากาศในถุงลมสูงกว่าความดันบรรยากาศปกติ

          สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหายใจเข้าโดยการทำให้ปริมาตรของช่องอกขยายเพิ่มขึ้น ทำให้ปอด
ขยายตัวใหญ่ขึ้นด้วย ซึ่งเป็นการทำให้ความดันอากาศในถุงลมลดลง เกิดความแตกต่างของความดัน
อากาศ ส่งผลให้อากาศไหลเข้าในปอด

          การขยายตัวของช่องอก เกิดขึ้นจากการทำงาน (เคลื่อนที่) ร่วมกันระหว่างกระบังลม
(diaphragm) และผนังทรวงอก (rib cage) คือกระดูกซี่โครงที่ต่อกับกระดูกสันหลังโค้งมายึดกับ
กระดูกหน้าอก (sternum) การเคลื่อนที่ของกระดูกซี่โครงและกระดูกหน้าอกเกิดขึ้นได้
โดยการทำงานของกล้ามเนื้อซี่โครงแถบนอกและแถบใน

          ระหว่างการหายใจเข้า กล้ามเนื้อซี่โครงแถบนอกจะหดตัว (แถบในคลายตัว) กระดูกซี่โครง
และกระดูกหน้าอกถูกยกตัวสูงขึ้น ในขณะเดียวกันกระบังลมก็หดตัวด้วยและเคลื่อนที่ต่ำลง
(ดังแสดงในรูปที่ 1.9) ซึ่งทำให้ปริมาตรของช่องอกขยายเพิ่มขึ้น และดึงอากาศเข้าไปในปอด


          การหายใจออกเกิดขึ้นโดยกลไกที่ตรงกันข้ามกับการหายใจเข้า กล่าวคือ

                  การขยายตัวของช่องอกระหว่างการหายใจเข้า ทำให้เนื้อเยื่อของช่องอกและปอดยืดออก
ซึ่งจะกลับคืนสู่สภาพเดิมระหว่างการหายใจออก กระบังลมก็จะกลับไปสู่สภาพคลายตัว กล้ามเนื้อ
ซี่โครงแถบนอกจะคลายตัว (แถบในหดตัว) ส่งผลให้กระดูกซี่โครงและกระดูกหน้าอกลดระดับต่ำลง
และกระบังลมโค้งเข้าไปในช่องอก ปริมาตรของช่องอกเล็กลง ปอดแฟบลง ความดันในถุงลมเพิ่มขึ้น
อากาศจึงไหลออกปอดไปได้





รูปที่ 1.9
ภาพเคลื่อนไหวแสดงการเคลื่อนที่ของกระดูกซี่โครง
กระดูกหน้าอก และกระบังลมที่ทำให้เกิดการนำเอา
อากาศเข้า-ออกของปอด (ventilation)


จากภาพ   :
เมื่อมีการหายใจเข้า :กระดูกหน้าอกยกตัวสูงขึ้น กระดูกซี่โครง
ยกตัวสูงขึ้น กระบังลมเคลื่อนที่ต่ำลง ปริมาตรช่องอกเพิ่มขึ้น
 จากภาพ   :
เมื่อมีการหายใจออก :กระดูกหน้าอกลดตัวต่ำลง กระดูกซี่โครง
ลดตัวต่ำลง กระบังลมยกตัวสูงขึ้น ปริมาตรช่องอกลดลง

          โดยสรุป สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หายใจโดยการเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศในปอด
เทียบกับความดันบรรยากาศ ระหว่างหายใจเข้า กล้ามเนื้อซี่โครงแถบนอกและกระบังลมหดตัว
ทำให้ปริมาตรของช่องอกและปอดเพิ่มขึ้น ความดันอากาศในปอดน้อยกว่าความดันบรรยากาศ
อากาศจึงไหลเข้าปอด การหายใจออกเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อแถบนอกของซี่โครง และของกระบังลม
คลายตัว ทำให้ปริมาตรในช่องอกลดลงกลับไปสู่สภาพเดิม



:  กระดูกซี่โครงและกระบังลมเกี่ยวข้องกับการหายใจเข้าและหายใจออกอย่างไร





การควบคุมการหายใจ

         อัตราหายใจตามปกติจะเป็น 10 – 14 ครั้งต่อนาที ซึ่งสัมพันธ์กับความต้องการออกซิเจน
ในร่างกาย และความต้องการขับคาร์บอนไดออกไซด์ออก

         กลไกการหายใจถูกควบคุมด้วยศูนย์ควบคุมการหายใจ (respiratory center)
ในสมองส่วนเมดัลลาออบลองกาตา (medulla oblongata) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของ
กล้ามเนื้อกระบังลมและกล้ามเนื้อกระดูกซี่โครง สมองส่วนนี้จะถูกกระตุ้นโดยความเป็นกรดของเลือด
ที่ไหลผ่าน (เกิดจากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ละลายน้ำได้กรดคาร์บอนิก) ดังนั้นปัจจัยที่มีผล
ต่อการกำหนดอัตราการหายใจเข้าออก คือ คาร์บอนไดออกไซด์ ถ้าปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์
์ในเลือดมากจะมีผลทำให้เราต้องหายใจมากขึ้น เพื่อให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง
เข้าสู่สภาพปกติ การควบคุมดังกล่าวนี้จะเป็นทั้งความถี่ที่หายใจและความลึกของการหายใจ






         การแลกเปลี่ยนแก๊สเป็นขั้นตอนที่สำคัญในกระบวนการหายใจ เพราะเป็นขั้นที่จะรับออกซิเจน
จากสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปให้เซลล์ต่างๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการหายใจระดับเซลล์ และนำของเสียจาก
การออกซิเดชันของสารอาหารคือคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปสู่สิ่งแวดล้อม

         เลือดเป็นตัวลำเลียงออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างปอดและเนื้อเยื่อ (เซลล์) ทั่วร่าง
การแลกเปลี่ยนแก๊สเหล่านี้เกิดขึ้นระหว่างเลือดที่มาที่ถุงลมและอากาศในถุงลม ดังแสดงในภาพที่ 1.10
ถุงลมทุกถุงจะมีีเส้นเลือดฝอยล้อมรอบ ในเม็ดเลือดแดงจะมีรงควัตถุที่จับออกซิเจนได้คือ ฮีโมโกลบิน
ในเลือดที่ออกจากหัวใจมายังปอด จะมีคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณสูงและออกซิเจนปริมาณต่ำเมื่อเทียบ
กับอากาศในถุงลม เมื่อมาถึงบริเวณถุงลม คาร์บอนไดออกไซด์จะซึมออกจากผนังเส้นเลือดฝอย ผ่านผนัง
ของถุงลมออกไปผสมกับอากาศในถุงลม เพื่อถูกส่งออกไปนอกร่างกายในจังหวะที่หายใจออก ในขณะ
เดียวกันออกซิเจนจากอากาศจะแพร่เข้าในเลือด ถูกจับโดยฮีโมโกลบิน และถูกนำกลับไปที่หัวใจเพื่อสูบ
ฉีดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย


:  ปริมาณออกซิเจนของอากาศในถุงลมจะลดลงต่ำมาก เพราะส่งให้เม็ดเลือดแดง
   ไปเกือบหมด ใช่หรือไม่

:  เม็ดเลือดแดงจับกับออกซิเจนได้อย่างไร





รูปที่ 1.10
การแลกเปลี่ยนแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และออกซิเจนที่ถุงลม
โดยการแพร่ผ่านผนังบางๆ ของถุงลมและเส้นเลือดฝอย

         

         การแลกเปลี่ยนแก๊สและการนำออกซิเจนไปส่งให้ในเซลล์ รวมทั้งการรับคาร์บอนไดออก
ไซด์จากเซลล์ไปยังปอดจะต้องอาศัยระบบไหลเวียนเลือด ซึ่งหัวใจมีบทบาทที่สำคัญในระบบนี้

         ดังแสดงในรูปที่ 1.11 ระบบไหลเวียนเลือดนำเลือดที่มีออกซิเจนต่ำและคาร์บอนไดออกไซด์
สูงจากเส้นเลือดดำใหญ่ 2 เส้น คือ superior vena cava และ inferior vena cava ซึ่งรวมเลือด
ดำทั้งหมดจากส่วนบนและส่วนล่างของร่างกายเข้าสู่หัวใจห้องบนขวาแล้วส่งต่อไปยังห้องล่างขวา
แล้วจึงสูบออกจากหัวใจไปสู่ปอดทางเส้นเลือดที่ออกจากหัวใจไปยังปอด (pulmonary artery)
ปอดก็จะรับเลือดที่มีออกซิเจนต่ำ เพื่อทำการแลกเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์กับออกซิเจนที่ปอด
ในระดับถุงลม โดยเลือดจะดูดออกซิเจนจากถุงลมและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์์เข้าไปในปอด
เพื่อขับออกนอกร่างกายในจังหวะหายใจออก และเลือดที่มีออกซิเจนในปริมาณเข้มข้นสูงนี้จะไหล
จากปอดสู่หัวใจทางเส้นเลือดจากปอดเข้าหัวใจ (pulmonary vein) ทางห้องล่างซ้ายแล้วถูกส่ง
ออกจากห้องบนซ้ายไปสู่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย




รูปที่ 1.11
แสดงภาพของหัวใจของคนที่มองจากด้านหน้า
หัวใจมีบทบาทในการฟอกเลือด โดยการส่งเลือดที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูง
และออกซิเจนต่ำไปยังปอดและรับเลือดที่มีความเข้มข้นของออกซิเจนสูง
และคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำจากปอด


         การนำแก๊สออกซิเจนไปให้เนื้อเยื่อและรับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มายังปอดในสัตว์เลี้ยงลูก
ด้วยนมจะผ่านระบบไหลเวียนเลือด ดังแสดงในรูปที่ 1.12 ความเข้มข้นของแก๊สจะวัดในรูปของ
ความดันแก๊ส ซึ่งมีหน่วยเป็นมิลลิลิตรปรอท (mm Hg) ตัวอย่างเช่น อากาศที่หายใจเข้ามีออกซิเจน
21% ซึ่งคือ 0.21 x 760 มล.ปรอท หรือเท่ากับ 160 มล.ปรอท

         รูปที่ 1.12 แสดงให้เห็นความดันออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศที่หายใจเข้า
หายใจออก ในถุงลม ในเนื้อเยื่อ และในเลือดที่เข้าถุงลม ออกจากถุงลม และเลือดที่ออกจากเนื้อเยื่อ
และที่มาเลี้ยงเนื้อเยื่อ จะเห็นได้ว่า ที่ๆ มีความดันออกซิเจนสูง (และคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ)
คือ อากาศที่หายใจเข้า อากาศในถุงลม เลือดที่ออกจากถุงลมไปสู่หัวใจ (เพราะผ่านการแลกเปลี่ยน
แก๊สมาแล้ว) และเลือดที่มาเลี้ยงเนื้อเยื่อ คือ มีความดันออกซิเจนเท่ากับ 160, 104 , 104 และ 100 มล.
ปรอท ตามลำดับ ส่วนที่ๆ มีออกซิเจนต่ำ คือ เซลล์ในเนื้อเยื่อ เลือดที่ออกจากเนื้อเยื่อ เลือดที่ออก
จากหัวใจไปสู่ปอด เลือดที่ผ่านเข้าถุงลม คือประมาณ 40 มล.ปรอท ให้สังเกตว่าแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์
์จะมีค่าความดันที่ต่างกับออกซิเจน คือ จะสูงในเนื้อเยื่อและเลือด (ประมาณ 40-45 มล.ปรอท)
และต่ำในอากาศ (0.2 ในอากาศที่หายใจเข้า และ 27 ในอากาศที่หายใจออก)






รูปที่ 1.12
ระบบไหลเวียนเลือด เพื่อถ่ายเทเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออก
และรับออกซิเจนมาแทน ตัวเลขในกรอบแสดงค่าความเข้มข้น
หรือความดันออกซิเจนและความดันคาร์บอนไดออกไซด์
ในหน่วยมิลลิเมตรปรอท

 


:  ให้ลองอธิบายขั้นตอนการแลกเปลี่ยนแก๊สตามรูป 1.12 จากหมายเลข 1 ถึง 6

 

         ความสัมพันธ์ระหว่างปอดและหัวใจในการฟอกเลือด อาจสรุปได้ดังที่แสดงไว้ในภาพที่ 1.13

         หัวใจทางซีกขวาจะรับเลือดที่มีออกซิเจนต่ำ (40 มล.ปรอท) และส่งไปยังปอด เกิดการแลก
เปลี่ยนแก๊สกับถุงลมที่มีความดันออกซิเจน 104 และความดันคาร์บอนไดออกไซด์ 40 และส่งกลับ
เข้าหัวใจทางด้านซ้าย เพื่อส่งไปตามเส้นเลือดไปให้เนื้อเยื่อ เลือดที่เข้ามาที่เซลล์นี้มีความดันออก
ซิเจนประมาณ 100 และความดันคาร์บอนไดออกไซด์ 40 เซลล์นำออกซิเจนไปใช้เกิดเป็นคาร์บอน
ไดออกไซด์ ซึ่งจะถูกนำไปสู่หัวใจทางด้านขวาเพื่อส่งไปปอดต่อไป เกิดเป็นวัฏจักรเช่นนี้ตลอดไป



รูปที่ 1.13
ความสัมพันธ์ระหว่างปอดและหัวใจในการฟอกเลือด









         การที่ออกซิเจนจากถุงลมจะเข้ามาในเลือดนั้น ถ้าเกิดขึ้นโดยการแพร่ตามปกติ
(simple diffusion) จากที่ความเข้มข้นสูงไปต่ำ ก็จะเกิดได้ในระดับหนึ่ง ปริมาณออกซิเจน
ที่เข้ามาจะน้อยเกินไป ไม่พอใช้ ซึ่งในความเป็นจริงนั้นจะมีตัวรับออกซิเจน (respiratory carrier)
คือ ฮีโมโกลบินซึ่งเป็นโปรตีนในเม็ดเลือดแดง ทำให้เลือดสามารถรับออกซิเจนได้เพิ่มขึ้นถึง
60 – 70 เท่า เมื่อเทียบกับการแพร่ธรรมดาโดยไม่มีฮีโมโกลบิน

         ฮีโมโกลบิน (hemoglobin) เป็นโปรตีนขนาดใหญ่ ประกอบ 4 หน่วยย่อย แต่ละหน่วยย่อย
ประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นโปรตีน (โกลบิน) และส่วนที่เป็นฮีม (heme) ส่วนที่เป็นฮีมมีเหล็ก
เป็นองค์ประกอบ และเหล็กนี้ทำหน้าที่จับออกซิเจนใน 1 โมเลกุลของฮีโมโกลบินประกอบด้วย 4 โกลบิน
และ 4 ฮีม แต่ละฮีมจะจับออกซิเจนได้ 2 อะตอม ดังแสดงในรูปที่ 1.14





รูปที่ 1.14
ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงจับออกซิเจนที่แพร่มาจาก
ถุงลม นำไปส่งให้เซลล์ในเนื้อเยื่อต่างๆ


:  ฮีโมโกลบิน 1 โมเลกุลจะจับออกซิเจนได้กี่โมเลกุล ในคนที่เป็นโรคโลหิตจาง
   จะรับออกซิเจนได้เท่าคนปกติหรือไม่ จงให้เหตุผล
:  ฮีโมโกลบินส่งออกซิเจนให้แก่เนื้อเยื่อได้อย่างไร

 





        การที่ฮีโมโกลบินจะจับกับออกซิเจนได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของออกซิเจน ถ้าความ
เข้มข้นของออกซิเจนต่ำ การจับกันก็จะน้อย ถ้าความเข้มข้นของออกซิเจนสูง การจับกันก็จะยิ่งเพิ่มสูง
มากขึ้น ปรากฏการณ์์แบบนี้เรียกว่า cooperative binding ความสามารถในการจับกับออกซิเจน
ของฮีโมโกลบินนั้นวัดเป็นร้อยละของการอิ่มตัวของออกซิเจน ซึ่งเมื่อเขียนกราฟระหว่างค่านี้ กับค่า
ความดันออกซิเจน จะได้กราฟที่เป็นรูปตัว S ดังแสดงในรูปที่ 1.15


รูปที่ 1.15
ความสัมพันธ์ระหว่างร้อยละของการอิ่มตัวของออกซิเจนใน
ฮีโมโกลบิน และความดันออกซิเจน (มิลลิเมตรปรอท)
          

          จากรูป
        - ฮีโมโกลบินจับกับออกซิเจนได้ดีที่ความเข้มข้นออกซิเจนสูง (100 มล.ปรอท) คือที่ปอด
        - ฮีโมโกลบินจับกับออกซิเจนได้ไม่ดีที่ความเข้มข้นออกซิเจนต่ำ (30 มล.ปรอท) คือที่เนื้อเยื่อ

        ที่เนื้อเยื่อประมาณ 40% ของออกซิเจนจะถูกใช้ไป (ที่เหลือเก็บไว้เป็นสำรองยามฉุกเฉิน)
เมื่อเซลล์ต้องการใช้ออกซิเจนมากขึ้น เช่นทำงานมากขึ้น ความดันออกซิเจนอาจลดลงได้ถึง 20
มล.ปรอท คือจะปล่อยออกซิเจนออกไปอีก 20% ซึ่งในขณะเดียวกันนี้เซลล์ก็จะมีสภาวะเป็นกรด
มากขึ้น สาเหตุทั้งจากมีคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นมากและอาจมีกรดแลกติกเพิ่มขึ้น (เช่นในเซลล์
กล้ามเนื้อที่ทำงานหนัก ดูรายละเอียดในบทที่ 2) ซึ่งมีผลทำให้ฮีโมโกลบินให้ออกซิเจนแก่เซลล์ได้เพิ่มขึ้น

        ค่าอิ่มตัวของออกซิเจนในฮีโมโกลบินนั้นจะเปลี่ยนไปตามค่า pH ของเลือด ซึ่งจะลดต่ำลงเมื่อ
มีคาร์บอนไดออกไซด์ละลายอยู่ในรูปของกรดคาร์บอนิก ทำให้เส้นกราฟ (รูปที่ 1.16) จะเลื่อนไปทาง
ขวาเล็กน้อย (ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Bohr effect) หรือค่าร้อยละของการอิ่มตัวของออกซิเจนจะต่ำลง
หรืออีกนัยหนึ่งออกซิเจนจะหลุดออกจากฮีโมโกลบินง่ายขึ้น หมายถึงจะส่งออกซิเจนในเนื้อเยื่อได้ดีขึ้น
ดังแสดงในรูปที่ 1.16 ที่เปรียบเทียบค่าการอิ่มตัวของออกซิเจนในฮีโมโกลบินที่ pH 7.4 และ 7.2




รูปที่ 1.16
ผลของ pH ต่อร้อยละของการอิ่มตัวของออกซิเจน


          อย่างไรก็ตาม เมื่อเลือดมาที่ปอดและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป กรดคาร์บอนิกน้อยลง
ค่า pH ก็สูงขึ้น ฮีโมโกลบินจะจับออกซิเจนได้ดีขึ้น อีกประการหนึ่งความดันออกซิเจนที่ปอดจะสูงกว่า
ที่อื่นๆ ฉะนั้น ฮีโมโกลบินจึงจับออกซิเจนได้ดีที่สุดที่ปอด และต่ำที่สุดที่เนื้อเยื่อซึ่งมีความดันออกซิเจน
ต่ำกว่า และค่า pH ต่ำกว่าที่ปอดด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ฮีโมโกลบินจึงเปรียบเหมือนพาหนะรับส่งออกซิ
เจนที่มีจุดรับและส่งที่ี่แน่นอน คือรับที่ปอดและส่งที่เนื้อเยื่อ โดยอาศัยความแตกต่างของความสามารถ
ในการจับกับออกซิเจน


:  ทำไม ฮีโมโกลบินในเนื้อเยื่อจึงจับกับออกซิเจนได้ไม่ดีเท่าในปอด
:  คาร์บอนไดออกไซด์สามารถจับกับฮีโมโกลบินได้หรือไม่









รูปที่ 1.17
ปฏิกิริยา์ขับคาร์บอนไดออกไซด์ในเม็ดเลือดแดง

        
         คาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดถูกนำออกนอกร่างกายได้ 3 วิธี คือ

               1. ฮีโมโกลบินจะจับกับคาร์บอนไดออกไซด์ได้บางส่วนโดยคาร์บอนไดออกไซด์จะทำปฏิกิริยา
กับหมู่อะมิโนของฮีโมโกลบินเกิดเป็น carbamino-hemoglobin ซึ่งไม่สามารถจับกับออกซิเจนได้

               2. คาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่ละลายอยู่ในเลือดในรูปของไบคาร์บอเนต (HCO3-)
คาร์บอนไดออกไซด์จะแพร่เข้าในเม็ดเลือดแดง รวมกับน้ำเกิดเป็นกรดคาร์บอนิก และกลายเป็นไบ
คาร์บอเนต โดยใช้เอนไซม์คาร์บอนิก แอนไฮเดรสเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ดังในรูป 1.17 (ในกรณีนี้เกิด
H+ ซึ่งทำให้ pH ของเลือดลดลงดังที่กล่าวข้างต้น) สาเหตุนี้ทำให้เม็ดเลือดแดงสามารถดูดคาร์บอน
ไดออกไซด์ได้จากเซลล์อย่างรวดเร็ว เมื่อถึงปอดไบคาร์บอเนตจะเปลี่ยนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ และซึม
ผ่านผนังเส้นเลือดฝอยเข้าสู่ถุงลม เพื่อขับออกจากปอดระหว่างการหายใจออก

              3. คาร์บอนไดออกไซด์ถูกนำออกจากเนื้อเยื่อโดยวิธีแพร่ (passive diffusion) ประมาณ 7%
ของคาร์บอนไดออกไซด์ถูกขับออกโดยวิธีนี้


              


:  ฮีโมโกลบินที่จับกับออกซิเจนก็สามารถจับกับคาร์บอนไดออกไซด์ ได้หรือไม่




การลำเลียง CO2 จากเนื้อเยื่อ
การลำเลียง CO2 ไปยังปอด


รูปที่ 1.18
แสดงการลำเลียงคาร์บอนไดออกไซด์จากเนื้อเยื่อไปสู่ปอด












1. เมื่อเทียบระหว่างปอดและเหงือก ทั้ง 2 อวัยวะนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร    
   โดยเฉพาะในแง่ของตำแหน่งที่อยู่ในตัวของสัตว์ และให้อธิบายเพิ่มเติม
   ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างและหน้าที่ของเหงือกในสัตว์น้ำ
   และปอดในสัตว์บก

2. หัวใจส่งเลือดชนิดไหนมาปอด โดยเส้นเลือดชื่ออะไร
   ปอดส่งเลือดชนิดใดมาหัวใจ โดยเส้นเลือดชื่ออะไร

3. ระดับ pH มีความสัมพันธ์อย่างไรต่อความดัน (ความเข้มข้น)
    ของออกซิเจนในปอด และในเนื้อเยื่อร่างกาย จงอธิบาย

4. ความเข้มข้นของกรดคาร์บอนิกมีผลต่อการแลกเปลี่ยนออกซิเจนของ
    เม็ดเลือดแดงอย่างไร

5. ฮีโมโกลบิน กับ ไมโอโกลบิน (myoglobin) มีบทบาทเกี่ยวกับการรับ
    และส่งออกซิเจนอย่างไร ที่ไหน

6. กับคำกล่าวที่ว่า “ฮีโมโกลบินจะรวมตัวกับคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ดีกว่า
    ออกซิเจน” คุณเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
    ตามหลักเคมี

 

                                                                           

















































 


   
backnext