การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลากัดไทย

            ปลากัดที่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันเป็นปลากัดที่พัฒนามาจาก ปลากัดป่าภาคกลาง ที่มี
ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Betta splendens แต่เดิมที่พบในธรรมชาติจะมีสีน้ำตาลขุ่นหรือสีเทาแกมเขียว ครีบต่าง ๆสั้น
ปลาตัวผู้จะมีครีบยาวกว่าตัวเมีย จากอดีตจนถึงปัจจุบันได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดจนได้สีที่สวยงาม ครีบที่ยาวและแผ่กว้างกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม และด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้มีการเรียกปลากัดเป็นชื่อต่างๆ หลายชื่อ เช่น ปลากัดป่า ปลากัดทุ่ง ปลากัดหม้อ และปลากัดจีน เป็นต้น แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่าปลากัดที่มีครีบยาวและครีบสั้นต่างมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกัน แสดงว่าเป็นชนิดเดียวกัน

   
ปลากัดป่าภาคกลาง (Betta splendens)เพศผู้
ปลากัดป่าภาคกลางเพศเีมีย

การเลี้ยงและดูแลปลากัด
            
            ปลากัดเป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าวและชอบต่อสู้กันเมื่อมีอายุประมาณ 1 เดือนครึ่งถึงสองเดือน ดังนั้นจึง
จำเป็นต้องแยกปลากัดไปเลี้ยงในภาชนะที่เตรียมไว้ภาชนะละ 1 ตัว ภาชนะที่เหมาะที่สุดสำหรับการเลี้ยงปลากัดได้แก่ ขวด (สุรา) ชนิดบรรจุน้ำได้ 150 ซีซี เพราะสามารถเรียงกันได้โดยไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่ ส่วนการแยกเพศ
จะสังเกตได้จากปลาตัวผู้จะมีลำตัวสีเข้ม ครีบยาวลายบนลำตัวมองเห็นชัดเจนและขนาดมักจะโตกว่าตัวเมีย ส่วนปลาตัวเมียจะมีสีซีดจาง มีลายพาดตามขวางลำตัว 2-3แถบ และมักจะมีขนาดเล็กกว่าปลาตัวผู้
            น้ำที่ใช้เลี้ยงปลากัดต้องสะอาดปราศจากคลอรีน มีความเป็นกรด-ด่าง(pH) ประมาณ 6.5-7.5 มีความ กระด้าง 75-100 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีความเป็นด่าง(alkalinity) 150-200 มิลลิกรัมต่อลิตร ควรบรรจุน้ำลงในขวดที่ใช้เลี้ยงเพียงเศษ 3 ส่วน 4 ของขวด เพื่อให้เหลือช่องว่างของอากาศเหนือผิวน้ำให้ปลาได้หายใจหรือฮุบอากาศ
            สถานที่เลี้ยงปลากัดไม่ควรที่จะเป็นที่ที่โดนแสงแดดโดยตรง เพราะจะทำให้ปลาตายได้เนื่องจาก
ความร้อนที่มากเกินไป อุณหภูมิที่เหมาะสมควรอยู่ในช่วง 25-28 องศาเซลเซียส

     
การเลี้ยงปลาในขวดแก้ว
การแยกเพศปลากัด

การคัดเลือกปลากัดเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์             
            
            ปลากัดที่จะใช้นำมาผสมพันธุ์ต้องแข็งแรงและสมบูรณ์เพศเต็มที่ ปลาที่เหมาะสมนำมาผสมพันธุ์ต้องมีอายุประมาณ 5-7 เดือน เนื่องจากแม่พันธุ์จะให้ไข่ถึง 500-1,000 ฟอง และลูกปลาที่ฟักออกมาจะมีความ
แข็งแรงกว่าลูกปลาที่ได้จากแม่พันธุ์ที่มีอายุน้อย

            ปลาตัวผู้ต้องมีความแข็งแรง มีลักษณะสีสันตามต้องการ และต้องเป็นปลาที่ชอบสร้างหวอด ซึ่งมีลักษณะเป็นฟองอากาศจับกลุ่มลอยอยู่บริเวณผิวน้ำ หวอดเกิดจากปลาตัวผู้พ่นฟองอากาศที่ประกอบด้วย
เมือกจากปากและลำคอห่อหุ้มอากาศเอาไว้
            ปลาตัวเมียต้องมีความแข็งแรง และมีลักษณะสีสันตามต้องการเช่นกัน ปลาตัวเมียที่พร้อมผสมพันธุ์ต้องมีท้องที่เป่ง ใต้ท้องมีตุ่มสีขาวที่เรียกว่า ไข่นำ มองเห็นได้ชัดเจน และจะมีลายพาดตามขวางของลำตัว 2-3 แถบ เรียกว่า ลายชะโด

 
 
ปลากัดตัวผู้กำลังสร้างหวอด
วางเมาท์ที่ปลากัดตัวเมียเพื่อดูไข่นำ
ตัวเมียไข่แก่จะมีลายข้างตัว

การเทียบคู่ปลากัด

             เมื่อคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลากัดที่จะนำมาผสมพันธุ์ได้แล้ว ให้นำมาใส่ขวดขวดละตัว แล้วนำขวดมาตั้งคู่กันโดยไม่ต้องมีอะไรกั้น ขั้นตอนนี้เรียกว่า การเทียบคู่ การเทียบคู่นี้เพื่อต้องการให้ปลามองเห็นกันตลอดเวลา และเร่งให้ไข่พัฒนาได้เร็วขึ้น บริเวณที่เทียบคู่ควรเลือกสถานที่ที่ไม่มีสิ่งรบกวน เพราะจะทำให้ปลาตกใจ ใช้เวลาเทียบคู่ประมาณ 3-10 วัน ในระหว่างเทียบปลา ควรเตรียมภาชนะที่จะใช้เพาะฟักซึ่งเราเรียกว่า อ่างรัด หรือ
อ่างเพาะ เช่น ขวดโหล ตู้กระจก อ่างซีเมนต์ ขนาดพื้นที่ไม่กว้างมาก (ไม่ควรเกิน 1 ตารางเมตร) ปากอ่างควรมีฝาปิดเพื่อป้องกันปลากระโดด
             เติมน้ำที่มีคุณภาพเดียวกับที่ใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ ระดับน้ำสูงไม่เกิน 5-7 เซนติเมตร ระดับน้ำมีผลคือ
เมื่อแม่ปลากัดปล่อยไข่ พ่อปลาจะได้ใช้เวลาไม่นานในการว่ายเก็บไข่มาใส่หวอดหรือเมื่อลูกปลาฟักออกจากไข่
ลูกปลาจะจมลงก้นอ่าง ถ้าน้ำลึกเกินไปลูกปลาจะไม่สามารถว่ายขึ้นมาหายใจได้
ใช้พันธุ์ไม้น้ำที่สามารถหาได้ง่ายเช่น สาหร่ายน้ำจืด จอก ใบผักตบชวา หรือพันธุ์ไม้น้ำอื่นๆ ที่หาได้ง่่ายมาใช้เพื่อเป็นที่เกาะของหวอด

คลิ๊กที่นี่เพื่อดูการเทียบคู่ปลากัด
   
การเทียบคู่ปลากัด
อ่างเพาะปลากัด

การผสมพันธุ์และวางไข่ของปลากัด

            เมื่อปลาตัวผู้และตัวเมียได้เทียบคู่กันแล้ว ขั้นต่อไปจึงนำปลาทั้งคู่มาใส่ลงในอ่างเพาะที่เตรียมไว้ โดยจะต้องมีฝาปิดด้านบนเพื่อป้องกันปลากระโดด อ่างที่ใช้ควรมีสีเข้มพื่อปลาตัวผู้จะได้มองไข่ได้ชัดเจน เมื่อปลาสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่(ใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน)ในอ่างเพาะได้แล้ว ปลาตัวผู้จะเริ่มก่อหวอดติดกับพันธุ์ไม้น้ำ หลังจากก่อหวอดเสร็จจะเริ่มพองเหงือกและกางครีบ ไล่ต้อนตัวเมียให้ไปอยู่ใต้หวอด 
เมื่อปลาตัวเมียลอยตัวขึ้นบริเวณผิวน้ำ ปลาตัวผู้จะงอตัวเป็นรูปตัวยู หรือตัวเอส รัดปลาตัวเมียตรงบริเวณช่องอวัยวะเพศ ถ้าปลาตัวเมียมีไข่แก่เต็มที่ไข่ก็จะหลุดออกมาทางช่องอวัยวะเพศ ทันทีที่ปลาตัวเมียปล่อยไข่ ปลาตัวผู้ก็จะฉีด
น้ำเชื้อเข้าผสมทันที ไข่ที่ปล่อยออกมาจะค่อยๆจมลงสู่ก้นอ่างเพาะ ปลาตัวผู้ก็จะตามลงไปใช้ปากอมไข่ทีี่ละฟองมาพ่นใส่ไว้ที่หวอดจนหมด ส่วนตัวเมียอาจช่วยตัวผู้เก็บไข่ที่ได้รับการผสมแล้วไปพ่นที่หวอดบ้างเป็นบางครั้งในช่วงต้นๆของการผสมพันธุ์ เมื่อปลาตัวเมียวางไข่แล้วจะลอยตัวนิ่งๆสักพักหนึ่งแล้วเริ่มว่ายหงายท้องเพื่อให้ตัวผู้รัดอีกครั้ง พฤติกรรมดังกล่าวจะเกิดขึ้นหลายๆครั้งจนกว่าตัวเมียจะวางไข่หมด ตัวเมียจะใช้เวลาในการวางไข่
ทั้งหมดประมาณ 1-6 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและความสมบูรณ์ของตัวเมีย เมื่อสิ้นสุดการวางไข่ตัวผู้จะทำหน้าที่ดูแลไข่เพียงตัวเดียว และจะไล่ต้อนตัวเมียไม่ให้เข้าใกล้หวอด ช้อนตัวเมียออกจากอ่างเพาะเพราะตัวเมียอาจกินไข่ที่ผสมแล้ว ปล่อยให้ตัวผู้ดูแลไข่ประมาณ 2 วัน แล้วจึงแยกออกจากอ่างเพาะ ช่วงที่ตัวผู้ดูแลไข่มันจะไม่ยอมกินอาหาร อาจเนื่องมาจากกลัวจะเข้าใจผิดคิดว่าไข่เป็นอาหาร ไข่จะเริ่มฟักออกเป็นตัวหลังจากได้รับการผสมจากน้ำเชื้อประมาณ 36 ชั่วโมง

 
 
 
นำปลามาใส่ลงในอ่างเพาะ
ประมาณ1-2 วัน ตัวผู้จะู้เริ่มก่อหวอด
ปลากัดเพศผู้กำลังเกี้ยวพาราสีเพศเมีย
ปลากัดเพศผู้กำลังรัดปลากัดเพศเมีย
ปลากัดเพศเมียกำลังปล่อยไข่
ปลากัดเพศผู้กำลังเก็บไข่ใส่ในหวอด

กิจกรรมที่ทำได้ในชั้นเรียนเกี่ยวกับเรื่องพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ
          นักเรียนสามารถศึกษาชนิดและรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันของปลากัดที่พบได้ในแหล่งน้ำของโรงเรียนหรือบริเวณใกล้เคียง หรือตามร้านขายปลาสวยงาม จากนั้นจัดกิจกรรมให้นักเรียนศึกษาลักษณะที่สามารถถ่ายทอดจากพ่อแม่ปลากัดไปยังลูกหลานได้ โดยให้นักเรียนได้วางแผนและทดลองเพาะขยายพันธุ์ปลากัดเพื่อศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมต่างๆ อาทิเช่น สี รูปร่าง และลักษณะของครีบ สัดส่วนหรือจำนวนของลูกปลาที่ลักษณะคล้ายคลึงพ่อและแม่ปลากัด เป็นต้น

          หากมีลูกปลากัดที่มีรูปร่างหรือลักษณะที่แตกต่างไปจากพ่อแม่ปลากัดให้นักเรียนพิจารณาและสืบค้นถึงสาเหตุของลักษณะดังกล่าว เพื่อทดสอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแปรผัน
ทางพันธุกรรมหรือมิวเทชัน