เนื้อเยื่อเจริญและเนื้อเยื่อถาวรมีลักษณะอย่างไร
และเนื้อเยื่อทั้งสองพบได้ที่ใดบ้าง



            เนื้อเยื่อเจริญเกิดจากกลุ่มเซลล์ที่ยังคงมีการแบ่งตัวอยู่ตลอดเวลา เซลล์แต่ละเซลล์
มีขนาดเล็ก ผนังเซลล์บาง นิวเคลียส ขนาดใหญ่ เมื่อเทียบกับไซโทพลาสซึม เป็นเซลล์ที่มี
เมแทบอลิซึมสูง พืชมีกลุ่มเนื้อเยื่อเจริญทำให้สามารถสร้างเซลล์ เนื้อเยื่อ และส่วนต่างได้
ตลอดชีวิต เช่น ใบ กิ่ง ก้าน ดอกไม้ ฯลฯ ซึ่งต่างจากสัตว์ที่มีการเจริญเติบโตจำกัด โดยไม่มี
การสร้างอวัยวะใหม่เมื่อเจริญเติบโตเต็มวัยแล้ว สามารถพบกลุ่มเนื้อเยื่อเจริญในพืชตาม
บริเวณที่พบได้ 3 ประเภท คือ

           1. เนื้อเยื่อเจริญบริเวณปลายยอด ปลายราก (apical meristem) พบบริเวณปลาย
ของยอดและราก การแบ่งเซลล์ของเนื้อเยื่อบริเวณนี้ทำให้พืชมีความสูงเพิ่มมากขึ้น และรากพืช
เจริญหยั่งลึกลงในดินมากขึ้น สำหรับบริเวณปลายสุดของราก จะพบหมวกราก (root cap)
ปกคลุมเนื้อเยื่อเจริญไว้เพื่อไม่ให้ได้รับความเสียหายจากการแบ่งตัวแทรกลงในดิน
           2. เนื้อเยื่อเจริญด้านข้าง (lateral meristem) เป็นกลุ่มเนื้อเยื่อที่เรียงตัวอยู่บริเวณ
เส้นรอบวงของลำต้นและราก ทำให้เมื่อแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวน ต้นพืชและรากจะมีเส้นรอบวง
เพิ่มมากขึ้น พบมากในพืชไม้เนื้อแข็ง เนื้อเยื่อกลุ่มนี้ได้แก่ วาสคิวลาร์แคมเบียม (vascular
cambium) และคอร์กแคมเบียม (cork acmbium)
          3. เนื้อเยื่อบริเวณข้อ (intercalary meristem) พบบริเวณเหนือข้อของพืช
ใบเลี้ยงเดี่ยว เมื่อเซลล์กลุ่มนี้แบ่งตัวจะทำให้ปล้องของพืชใบเลี้ยงเดี่ยวยาวขึ้น

เนื้อเยื่อเจริญเมื่อแบ่งตามระยะการเจริญเติบโต สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
          1. โพรเมอริสเต็ม หรือ โพรโทเมอริสเตม (promeristem or protomeristem)
เป็นกลุ่มเนื้อเยื่อที่เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์เจริญ ที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและ
โครงสร้างภายในเซลล์ไปทำหน้าที่เฉพาะ เซลล์มีลักษณะคล้ายกันและมีขนาดเล็ก
          2. เนื้อเยื่อเจริญขั้นแรก (primary meristem) คือเนื้อเยื่อเจริญที่เริ่มมีการพัฒนา
เปลี่ยนแปลงขยายขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เช่น เนื้อเยื่อที่พบถัดขึ้นมาจากเนื้อเยื่อ
โพรเมอริสเตมบริเวณปลายราก
          3. เนื้อเยื่อเจริญขั้นที่สอง (secondary meristem)คือเนื้อเยื่อเจริญที่เกิดจาก
การแบ่งตัวของเนื้อเยื่อถาวรบางชนิดที่เปลี่ยนแปลงกลับมาเจริญอีกครั้ง พบมากบริเวณราก
และลำต้นของพืชใบเลี้ยงคู่ ได้แก่ เนื้อเยื่อวาสคิวลาร์แคมเบียมที่พบบริเวณมัดท่อน้ำท่ออาหาร และคอร์กแคมเบียมที่บริเวณคอร์เทกของลำต้น เนื้อเยื่อกลุ่มนี้ทำให้ลำต้นและรากมีความหนา
มากขึ้น




รูปที่ 5.1 บริเวณเนื้อเยื่อเจริญของลำต้นพืชใบเลี้ยงคู่



ที่มา

                  http://www.mhhe.com/biosci/pae/botany/histology/html/apimeris.htm







รูปที่ 5.2 เนื้อเยื่อเจริญบริเวณปลายราก



ที่มา

              http://www.mhhe.com/biosci/pae/botany/histology/html/rootov.htm