เป็นระยะที่โครโมโซมที่แยกออกจากกันในระยะแอนาเฟส เคลื่อนมาถึงแต่ละขั้วของเซลล์
ไมโครทูบูลที่จับอยู่ที่ไคนีโทคอร์สลายตัว ปรากฏเยื่อหุ้มนิวเคลียสล้อมรอบกลุ่มของโครมาทิด
ที่แต่ละขั้วเซลล์จึงเกิดเป็นนิวเคลียสใหม่สองอัน ภายในนิวเคลียสแต่ละอันจะมีโครโมโซม
2 ชุด (2n) โครมาทิดที่เคยขดตัวแน่นตั้งแต่ระยะโพรเฟสเริ่มคลายตัว จนมีลักษณะคล้ายกับ
โครมาทินในระยะอินเตอร์เฟส นอกจากนี้นิวคลีโอลัสที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ระยะ
โพรเฟส ก็เริ่มปรากฏให้เห็นอีกครั้ง




รูปที่ 1.23 การแบ่งเซลล์ระยะเทโลเฟส




        เมื่อสิ้นสุดระยะเทโลเฟสกระบวนการที่เกิดตามมา คือการแบ่งไซโทพลาซึม ทั้งนี้ก็เพื่อ
ให้เกิดเป็นเซลล์ใหม่ 2 เซลล์ซึ่งในนิวเคลียสมีโครโมโซม 2 ชุด (2n) นั่นเอง ในการแบ่ง
ไซโทพลาซึมนี้เซลล์ใหม่ทั้งสองเซลล์จะได้ปริมาณไซโทพลาซึมเท่ากัน แต่ได้องค์ประกอบ
ในไซโทพลาซึมต่างกัน เนื่องจากความแตกต่างทางโครงสร้างของเซลล์สัตว์และเซลล์พืช
ทำให้การแบ่งไซโทพลาซึมในเซลล์ทั้ง 2 ประเภทนี้มีความแตกต่างกันกล่าวคือ
        ในเซลล์สัตว์ การแบ่งไซโทพลาซึมเกิดจากการคอดเข้าหากันของเยื่อหุ้มเซลล์โดย
ในช่วงแรกจะสามารถสังเกตได้จากการเกิดร่องหรือรอยย่น (cleavage furrow) ที่ผิวเซลล์
บริเวณแนวที่เคยเป็นเมทาเฟสเพลท การคอดเข้าหากันของเยื่อหุ้มเซลล์เป็นผลจากการหดตัว
ของโครงสร้างที่เรียกว่าคอนแทรกไทล์ริง (contractile ring: เป็นโครงสร้างที่ประกอบด้วย
เส้นใยโปรตีนชนิด actin และ myosin II) การหดตัวของโครงสร้างคอนแทรกไทล์ริงเกิดจาก
การหดตัวของเส้นใย actin (ทำให้มีเส้นผ่าศูนย์กลางลดลง) การหดตัวนี้เป็นผลจากการ
การทำงานของ myosin II ที่เคลื่อนที่อยู่บนเส้นใย actin นั่นเอง (ถ้าเปรียบเส้นใย actin
เป็นเชือกที่มีความยาวเท่ากับเส้นรอบวงของเซลล์ และ myosin II เป็นมด 2 ตัวที่มีปลาย
ของส่วนท้องติดกัน การแบ่งเซลล์จะเกิดขึ้นโดย เชือกที่พันเป็นวงกลมรอบเซลล์จะมีปลาย
2 ด้านมาบรรจบกัน ณ จุดหนึ่ง วางมดที่ตัวติดกันไว้จุดนั้นโดยเอาปลายเชือกด้านหนึ่งผูกไว้
กับมดตัวที่หนึ่ง ส่วนปลายเชือกอีกด้านหนึ่งผูกไว้กับมดตัวที่สอง เมื่อให้มดที่ตัวติดกันเดินไป
ในทิศตรงกันข้ามกัน (เดินตามเชือก) จะเหมือนเป็นการดึงปลายเชือกให้เหลื่อมกันมากขึ้น
ซึ่งจะทำให้เส้นรอบวงของเชือกลดลงเรื่อยๆ การลดลงของเส้นรอบวงของเชือกนี้จะรัดให้
เส้นรอบวงของเซลล์ลดลงคือคอดเข้าเรื่อยๆ เช่นกันจนขาดออกจากกันในที่สุด )





รูปที่ 1.24 การแบ่งไซโทพลาซึมในเซลล์สัตว์เกิดจากการหดตัว
ของคอนแทรกไทล์ริง




         สำหรับเซลล์พืช จะไม่สามารถแบ่งไซโทพลาซึมด้วยวิธีการคอดเข้าหากันของ
เยื่อหุ้มเซลล์เช่นเดียวกับในเซลล์สัตว์ ดังนั้นจึงไม่เกิดร่องหรือรอยย่น ในทางกลับกัน
เซลล์พืชจะแบ่งไซโทพลาซึมโดยการสร้างผนังเซลล์และเยื่อหุ้มเซลล์ขึ้นมาใหม่ โดยตรง
บริเวณที่เคยเป็นเมทาเฟสเพลทจะมีการโยงใยของเส้นใยโครงร่างค้ำจุนเซลล์เกิดเป็น
โครงร่างคล้ายใยแมงมุม จากนั้นจะมีการนำวัตถุดิบที่ใช้ในการสร้างเยื่อหุ้มเซลล์และ
ผนังเซลล์ใหม่ซึ่งเป็นถุงขนาดเล็กที่ได้มาจาก golgi apparatus ให้ถูกลำเลียงมาตลอด
ความยาวของไมโครทูบูลจนมาถึงบริเวณของเมทาเฟสเพลท แล้วถุงเล็กๆเหล่านั้น
จะรวมกันเป็นแผ่นที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรียกว่า แผ่นกั้นเซลล์ (cell plate) เมื่อถุงเหล่านั้น
รวมตัวกันมากขึ้นจะทำให้แผ่นกั้นเซลล์มีพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกั้นเซลล์เดิมให้เกิดเป็น
เซลล์ใหม่ 2 เซลล์ในที่สุด






รูปที่ 1.25 การแบ่งไซโทพลาซึมในเซลล์พืชเกิดจากการสร้างแผ่นกั้นเซลล์









: คุณคิดว่า โครงสร้างใดที่ทำให้เซลล์พืชไม่สามารถแบ่งไซโทพลาซึม
  ได้ด้วยวิธีการเดียวกับที่เกิดขึ้นในเซลล์สัตว์ และโครงสร้างดังกล่าว
  มีคุณสมบัติอย่างไร