มลพิษทางดิน หมายถึงดินที่เสื่อมค่าไป จากเดิม และหรือมีสารมลพิษเกินขีดจำกัดจนเป็นอันตราย
ต่อสุขภาพ และพลานามัย ตลอดจน การเจริญเติบโตของพืช และสัตว์ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม (เกษม จันทร์แก้ว , 2530 : 162)

        ปัญหามลพิษของดิน เกิดขึ้นจากการทำลายหรืการเกิดการถดถอยของคุณภาพหรือคุณลักษณะของสภาวะใดสภาวะหนึ่ง ที่เกิดจากมลสาร (Pollutant) ที่ก่อให้เกิดมลภาวะ ดินเป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็ก สามารถฟุ้งกระจายไปในอากาศ มลสารของดินที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศนั้น ความรุนแรงขึ้นอยู่กับอนุภาคดินนั้นมีองค์ประกอบอย่างไร สภาพทางอุตุนิยมวิทยา สภาพพื้นที่ เป็นต้น ในกรณีที่คล้ายคลึงกัน หากอนุภาคดินถูกพัดพาไปยังแหล่งน้ำ ดินที่เป็นมลสารจะก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางน้ำ โดยตรงทั้งทางคุณภาพและปริมาณ อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาโดยอ้อมเมื่ออนุภาคดินนั้นมีธาตุอาหารที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชน้ำ ก่อให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนในแหล่งน้ำ สัตว์น้ำในแหล่งน้ำนั้นได้รับผลกระทบเกิดกลิ่นเหม็นของก๊าซไข่เน่า (hydrogen sulfide, H2S)

           ในขณะเดียวกันดินเป็นแหล่งรองรับของเสีย รองรับมลสารต่างๆ จากอากาศ จากน้ำ จากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ จากกิจกรรมต่างๆ ดินทำหน้าที่ในการดูดซับมลสารต่างๆ ซึ่งเปรียบได้กับการลดมลพิษ แต่หากดินทำหน้าที่ในการรับมลสารต่างๆ มากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มลสารที่ย่อยสลายไม่ได้ ปัญหามลพิษทางดินจะเกิดขึ้น มีผลทำให้ความสามารถของดินที่เป็นแหล่งธาตุอาหารของพืชลดลง ผลผลิต
ที่ได้ลดลง หรือคุณภาพของผลผลิตลดลงไม่เหมาะสมในการบริโภค เพราะมีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเกินกว่าระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ได้


 


             สารมลพิษในดินอาจมีอยู่ในธรรมชาติ และโดยที่มนุษย์นำไปใส่ให้กับดิน หากมีมากจนถึงระดับที่เป็นพิษ จะทำให้สิ่งมีชีวิตหยุดการเจริญเติบโต มีการสะสมในโซ่อาหาร โดยจะพบในผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์
ที่มนุษย์บริโภค มนุษย์ก็จะได้รับสารพิษเหล่านั้น จนเกิดความผิดปกติขึ้น สุขภาพเสื่อมโทรมจนถึงเสียชีวิตได้ สารมลพิษในดิน ยังทำให้จุลินทรีย์ในดิน ทำงานไม่ได้ ทำลายการดูดซึม ธาตุอาหารของรากพืช อันตรายจากมลพิษทางดิน เนื่องจากดินมีสารมลพิษหลายชนิดปะปนอยู่ ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ในดินเพิ่มขึ้น แต่มีออกซิเจนน้อยลง จึงมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของแบคทีเรียที่ใช้ออกซิเจน สารมลพิษจากดินสามารถกระจัดกระจายสู่แหล่งน้ำ และอากาศจึงก่อให้เกิดมลภาวะทางน้ำ และอากาศได้ อันตรายของมลภาวะทางดินต่อสิ่งมีชีวิต มีดังนี้

            1. อันตรายต่อมนุษย์
มนุษย์จะได้รับพิษของสารประกอบไนเทรต ไนไทรต์ในยาปราบศัตรูพืช จากน้ำดื่ม น้ำใช้ในแหล่งเกษตรกรรม และจากผลผลิตทางการเกษตร เช่น ผัก ผลไม้ จนถึงระดับที่เป็นพิษต่อร่างกายได้

           2. อันตรายต่อสัตว์
สัตว์ที่หากินในดินจะได้รับพิษจากการสัมผัสสารพิษในดินโดยตรงและจากการบริโภคอาหารที่มีสารพิษปะปนอยู่ สารพิษที่ได้รับส่วนใหญ่จะเป็นยาฆ่าแมลงที่นอกจากจะทำลายศัตรูพืชแล้วยังทำลายศัตรูธรรมชาติ ซึ่งเป็นปรสิตไปด้วยทำให้เกิดการระบาดของแมลงบางชนิดที่เป็นอันตรายต่อพืชในภายหลัง หรืออาจเกิดการทำลายแมลงที่ช่วยผสมเกสรดังนั้นผลผลิตอาจลดลงได้

          3. อันตรายต่อพืชและสิ่งมีชีวิตในดิน
พืชจะดูดซึมสารพิษเข้าไป ทำให้เจริญเติบโตผิดปกติ ผลผลิตต่ำ หรือเกิดอันตราย และการสูญพันธุ์ขึ้น แบคทีเรียที่สร้างไนเทรตในดิน หากได้รับยาฆ่าแมลง เช่น ดีลดริน อัลดริน และคลอเดน ที่มีความเข้มข้น 100 พีพีเอ็ม จะทำให้กระบวนการสร้างไนเตรตของแบคทีเรียได้รับความกระทบกระเทือน

 

 

รูปที่ 4.5 ตัวอย่างมลพิษทางดิน