ไทรอยด์ฮอร์โมน

ไทรอยด์ฮอร์โมนสร้างที่ไหน
ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อ มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อ ที่อยู่บริเวณคอ ใต้ลูกกระเดือก มีขนาดยาว 4 ซม. กว้าง 1-2 ซม.

ต่อมไทรอยด์. จะทำหน้าที่จับไอโอดีนจากอาหารที่ทานเข้าไป แล้วนำไปรวมกับกรดอะมิโน Tyrosine เพื่อสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน triiodothyronine (T3) และ thyroxine (T4)  

ไทรอยด์ฮอร์โมนมีกลไกการทำงานอย่างไร
การสร้างและการหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ จะถูกกระตุ้นโดยฮอร์โมน TSH (thyroid stimulating hormone) จากต่อมใต้สมองส่วนหน้า เมื่อมีปริมาณไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดสูงกว่าปกติ จะมีผลย้อนกลับไปยับยั้งให้ต่อมใต้สมองส่วนหน้าหลั่ง TSH น้อยลง ทำให้ต่อมไทรอยด์ลดการหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมน แต่ถ้าหากปริมาณฮอร์โมน thyroxine ในเลือดน้อยกว่าปกติ จะมีผลกระตุ้นให้ต่อมใต้สมองส่วนหน้าหลั่ง TSH ออกมากระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์หลั่งไทรอยด์ฮอร์โมน เพิ่มขึ้น

เมื่อขาดสารไอโอดีน ร่างกายจะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน จะส่งผลไปกระตุ้นไฮโปทาลามัส ให้หลั่งสารเคมี TRH (Thyroid releaing hormone) มากระตุ้นต่อมใต้สมองส่วนหน้าให้หลั่งฮอร์โมน TSH (Thyroid stimulating hormone) และส่งมาที่ต่อมไทรอยด์มากเกินปกติ ต่อมไทรอยด์เมื่อได้รับการกระตุ้นมากจึงขยายขนาดโตขึ้น เพื่อเร่งการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
ไทรอยด์ฮอร์โมนมีหน้าที่อย่างไร

ไทรอยด์ฮอร์โมนที่ถูกสร้างขึ้นจากต่อมไทรอยด์ จะถูกส่งไปยังเซลล์เป้าหมาย (เช่น สมอง) ที่เซลล์เป้าหมายจะมีตัวรับสัญญาณจากไทรอยด์ฮอร์โมน เมื่อไทรอยด์ฮอร์โมนจับกับตัวรับสัญญาณที่เซลล์เป้าหมายแล้ว สัญญาณดังกล่าว จะกระตุ้นให้เซลล์นั้น สร้างโปรตีนหรือเอนไซม์ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ

หน้าที่ของไทรอยด์ฮอร์โมน

1. ควบคุมการเจริญเติบโต และควบคุมเมตาบอลิซึมของร่างกาย เร่งกายหายใจ ควบคุมการเผาผลาญสารอาหารต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น เร่งการสลายไขมัน เร่งการสลายไกลโคเจน จึงมีผลต่อการสร้างพลังงาน และอุณหภูมิของร่างกายอย่างมาก

2. ควบคุมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมอง

ช่วงชีวิตที่กำลังมีการพัฒนาของสมองเป็นช่วงที่วิกฤตที่สุด คือ เมื่อตัวอ่อนอายุ 8 สัปดาห์จนถึงช่วงอายุ 3 ปี หลังคลอด

การขาดไทรอยด์ฮอร์โมนในระยะตัวอ่อนในครรภ์ เป็นผลมาจากการขาดสารไอโอดีนในมารดา การเจริญเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์ ต้องพึ่งไทรอยด์ฮอร์โมนที่มาจากมารดา ถ้ามารดาไม่ได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอ ก็จะไม่สามารถสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งเป็นสารสำคัญยิ่งของการพัฒนาสมองได้อย่างเพียงพอ สมองของตัวอ่อนในครรภ์จะเสียหาย ลูกที่ออกมาจะเป็นโรคเอ๋อ แต่ถ้าขาดไอโอดีนรุนแรงอาจจะแท้งหรือลูกออกมาพิการได