น้ำตาลที่เราใช้ผสมเครื่องดื่ม ปรุงอาหาร น้ำตาลที่มีอยู่ในผลไม้ ในน้ำผึ้ง ในนมที่เราบริโภค รวมทั้งแป้งที่เป็นส่วนประกอบของอาหารและแป้งที่มีอยู่ในพืช ผัก ผลไม้ เป็น คาร์โบไฮเดรต (carbohydrate) ชนิดที่ร่างกายของเราสามารถย่อยได้ในระบบทางเดินอาหารจนกระทั่งได้หน่วยเล็กที่สุดของคาร์โบไฮเดรต ที่เซลล์ทุกชนิดของร่างกายสามารถนำไปใช้ใน กระบวนการสลาย (catabolism) เพื่อให้ได้พลังงานสำหรับการสังเคราะห์สารเก็บพลังงานหมุนเวียนในเซลล์ ตัวที่ชื่อ ATP

          กระบวนการสลายคาร์โบไฮเดรตเพื่อให้ได้พลังงานยังให้ สารตัวกลาง (intermediates) หลายตัว ที่เซลล์สามารถนำไปใช้ในการสังเคราะห์คาร์โบไฮเดรตรูปอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเซลล์ผ่าน กระบวนการสร้าง (anabolism)

          สารตัวกลางบางตัวโดยเฉพาะที่เกิดจากกระบวนการสลายยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงกระบวนการ เมแทบอลิซึม (metabolism) ของกรดไขมันและกรดอะมิโนบางตัวอีกด้วย

          คาร์โบไฮเดรตที่สังเคราะห์ขึ้นในร่างกายของเราเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีหน่วยย่อยเป็นน้ำตาลหรืออนุพันธ์ของน้ำตาล ทำหน้าที่สำคัญๆ หลายอย่าง

          ไกลโคเจน (glycogen) ที่เราสะสมไว้ในกล้ามเนื้อและตับในสภาพกึ่งของแข็งเป็นเหมือนเสบียงอาหารที่เซลล์หรือเนื้อเยื่อเก็บตุนไว้ใช้ในยามที่ต้องการ

          คาร์โบไฮเดรตที่พบบนผิวเซลล์ในรูปของ ไกลโคโปรตีน (glycoprotein) หรือ ไกลโคลิพิด (glycolipid) ทำหน้าที่เป็นรหัสสื่อสัญญาณที่ทำให้เซลล์ต่างๆ จดจำกันได้และสามารถติดต่อระหว่างกันได้อย่างจำเพาะเจาะจง

          นอกจากนี้คาร์โบไฮเดรตของไกลโคลิพิดยังมีส่วนทำให้เซลล์แต่ละชนิดของแต่ละคนมีความจำเพาะอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ระบบหมู่เลือด เอ บี โอ ( A, B, O blood group) เป็นต้น

 

 

          คาร์โบไฮเดรตหลายชนิดในธรรมชาติทำหน้าที่เป็นโครงสร้างที่ให้ความแข็งแรง เช่น เซลลูโลส (cellulose) ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของผนังเซลล์พืช ไคติน (chitin) เป็นองค์ประกอบของเปลือกห่อหุ้มตัวแมลงและปู กุ้ง

 

เราสามารถนำคาร์โบไฮเดรตจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ได้
อย่างไรบ้างคะ