โมเลกุลของคาร์โบไฮเดรตทุกชนิด ประกอบไปด้วยธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจนและออกซิเจน
คาร์โบไฮเดรตส่วนใหญ่ ( ไม่ใช่ทั้งหมด ) มีธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจนและออกซิเจน ในอัตราส่วน 1:2:1 จึงมีสูตรเคมีเป็น (CH2O)n ซึ่งคล้ายกับเป็นไฮเดรตของคาร์บอน
โครงสร้างอย่างง่ายที่สุดของคาร์โบไฮเดรตคือ น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (monosaccharide) ซึ่งประกอบด้วย หมู่คาร์บอนิล (carbonyl) และ หมู่ไฮดรอกซิล (hydroxyl) อย่างน้อยที่สุดสองหมู่
น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว เป็นหน่วยเล็กที่สุดของคาร์โบไฮเดรตที่พบในธรรมชาติ มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดีและส่วนใหญ่มีรสหวาน
น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวเป็นอนุพันธ์ แอลดีไฮด์ (aldehyde) หรือ คีโตน (ketone) ของแอลกอฮอล์สายยาวที่ประกอบด้วยหมู่ไฮดรอกซิลหลายหมู่
หากใช้หมู่คาร์โบนิลเป็นเกณฑ์ เราสามารถจัดกลุ่มน้ำตาลได้เป็นสองประเภท คือ แอลโดส (aldose) และ คีโตส (ketose)
น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวแต่ละตัวมีจำนวนคาร์บอนที่แตกต่างกันไป ที่พบในธรรมชาติโดยทั่วไปนั้นมีจำนวนคาร์บอนตั้งแต่สามตัวถึงเจ็ดตัว เราสามารถเรียกชื่อของมันได้ตามจำนวนคาร์บอนเป็น ไตรโอส (triose) เตโตรส (tetrose) เพนโตส (pentose) เฮกโซส (hexose) และ เฮปโตส (heptose) ตามลำดับ
น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวชนิดที่พบมากในธรรมชาติ ตัวที่เรารู้จักกันดีได้แก่ กลูโคส (glucose) กับ กาแลกโทส (galactose) ซึ่งเป็น แอลโดเฮกโซส (aldohexose) และ ฟรุกโทส (fructose) ซึ่งเป็น คีโตเฮกโซส (ketohexose)
|
ภาพที่ 2 .1 สูตรโครงสร้างแบบฟิชเชอร์ของน้ำตาลชนิดต่างๆ
|
ในโมเลกุลของน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวแต่ละตัวจะมี คาร์บอนที่ไม่สมมาตร (asymmetric carbon) อย่างน้อยที่สุดหนึ่งอะตอม ความไม่สมมาตรดังกล่าวเกิดจากการที่พันธะทั้งสี่ของคาร์บอนอะตอมนั้นๆ จับกับหมู่ที่ไม่เหมือนกัน
ในโครงสร้างของน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวแต่ละตัว อะตอมไฮโดรเจนและหมู่ไฮดรอกซิลที่อยู่บนคาร์บอนที่ไม่สมมาตรทุกตัว สามารถอยู่สลับข้างกันได้ เกิดเป็นรูปในกระจกเงาที่ไม่เหมือนกันกับโครงรูปแบบเดิม ลักษณะเช่นนี้เราเรียกว่าเป็น ไอโซเมอร์ (isomer) ชนิด D- และ L- ของน้ำตาลตัวนั้นๆ ความแตกต่างของโครงสร้างเช่นนี้ทำให้คุณสมบัติของน้ำตาลในการทำหน้าที่ทางชีวภาพแตกต่างกันอย่างมากมาย
การเขียนโครงสร้างเคมีของน้ำตาลเป็นสายตรงตามสูตรโครงสร้างแบบฟิชเชอร์ ถึงแม้ว่าจะสะดวก แต่ก็ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เนื่องจากในธรรมชาติน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่มีคาร์บอนมากกว่า 4 อะตอม จะมีโครงสร้างรูปวงอันเนื่องมาจากการที่หมู่คาร์บอนิลของน้ำตาลทำปฏิกิริยากับหมู่ไฮดรอกซิลภายในโมเลกุลเดียวกันเอง เกิดเป็น ฮีมิแอซีตาล (hemiacetal) ในกรณีที่หมู่แอลดีไฮด์ทำปฏิกิริยากับหมู่ไฮดรอกซิล หรือเกิดเป็น ฮีมิคีตาล (hemiketal) ถ้าหมู่คีโตนทำปฏิกิริยากับหมู่ไฮดรอกซิล
|
ภาพที่ 2 .2 ปฏิกิริยาการเกิดฮีมีแอซีตาลและฮีมิคีตาลของหมู่คาร์บอนิลกับแอลกอฮอล์
|
โครงสร้างรูปวงของกลูโคสและแอลโดเฮกโซสตัวอื่นๆ จะมีจำนวนอะตอมภายในวงแหวนรวม 6 ตัว ประกอบด้วยคาร์บอน 5 อะตอม และออกซิเจน 1 อะตอม ส่วนโครงสร้างรูปวงของฟรุกโตสและน้ำตาลเพนโตสจะมีอะตอมภายในวงแหวนรวม 5 ตัว เป็นคาร์บอน 4 อะตอม และออกซิเจน 1 อะตอม
|
ภาพที่ 2.3 โครงสร้างรูปวงของน้ำตาลกลูโคสและฟรุกโทส
|
|
|
ภาพที่ 2.4 โครงสร้างรูปวงแบบง่ายๆของ
น้ำตาลกลูโคสตามแบบเฮเวิร์ธ
|
Space-filling model of glucose
|
ภายหลังการเกิดฮีมิแอซีตาลหรือฮีมิคีตาลแล้ว คาร์บอนของหมู่คาร์บอนิลจะกลายเป็นคาร์บอนที่ไม่สมมาตรเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งตัว และเราให้ชื่อพิเศษใหม่แก่มันเรียกว่า แอโนเมอริกคาร์บอน (anomeric carbon)
อะตอมไฮโดรเจนและหมู่ไฮดรอกซิลของแอโนเมอริกคาร์บอนในวงแหวนฮีมิแอซีตาลหรือฮีมิคีตาลสามารถอยู่สลับตำแหน่งกัน โดยที่ตัวใดตัวหนึ่งอาจอยู่บนพันธะที่อยู่เหนือระนาบหรืออยู่ใต้ระนาบเฉลี่ยของวงแหวนก็ได้ ทำให้น้ำตาลแต่ละตัวมีจำนวนไอโซเมอร์เพิ่มขึ้นอีกสองรูปคือ แอลฟา ( α )- และบีตา ( ß )- ที่มีคุณสมบัติทางชีวภาพแตกต่างกันมากมาย เราเรียกโครงรูปที่แตกต่างกันแบบแอลฟาและบีตานี้ว่าเป็น แอโนเมอร์ (anomer) ซึ่งกันและกัน
|
ภาพที่ 2.5 โครงรูปแบบแอลฟาและบีตาของกลูโคส
|
|