ความสำคัญ / ความเป็นมา
กระแสการปรับเปลี่ยนทางสังคมที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคแห่งความเป็นโลกาภิวัฒน์ (globalization) ที่ได้เกิดวิวัฒนาการความก้าวหน้าในทุกๆ มิติอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและการทำงาน ผู้ที่มีความรู้และทักษะในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้ จึงจะประสบความสำเร็จ ซึ่งทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และอธิป จิตตฤกษ์, 2554; Bellanca & Brandt, 2010) อันได้แก่ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี ทักษะชีวิตและการทำงาน เป็นใบเบิกทางต่อการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ระบบการศึกษาของไทย ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง ผู้ที่จบการศึกษาทั้งจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่ถึงแม้ว่าจะมีความรู้ตามหลักสูตร แต่ยังขาดความพร้อมในทักษะต่างๆ เช่น การคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ แก้ปัญหา ทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการทำงานเป็นทีม ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการที่ทักษะเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตร และขาดครูที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนจึงไม่ได้ทักษะเหล่านี้ไปด้วยถึงแม้จะมีการพยายามแก้ไขโดยภาครัฐได้ทุ่มงบประมาณจำนวนมากในการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพครู แต่การอบรมส่วนใหญ่เน้นเชิงปริมาณ และขาดการติดตามผล ทำให้ครูส่วนใหญ่ไม่ได้นำสิ่งที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ในการเรียนการสอน นอกจากนี้ การอบรมที่เน้นการบูรณาการระหว่างวิธีการจัดการเรียนการสอนกับเนื้อหาวิชา ค่อนข้างมีน้อยมาก ครูส่วนใหญ่จึงยังคงสอนโดยการบอกเนื้อหาตามตำรา โดยไม่มีการฝึกให้นักเรียนคิด หรือได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ ทำให้นักเรียนไม่สามารถพัฒนาไปถึงทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21
จากการดำเนินงานของคณะผู้วิจัยจากสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการส่งเสริมคุณภาพการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในเขตจังหวัดสมุทรสงคราม (Enhanced Teaching-Learning Process in Science at Lower Secondary School in Samut Songkram Provice) ซึ่งอยู่ภายใต้ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน (Local Learning Enrichment Network: LLEN) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีข้อค้นพบที่สำคัญคือ การหนุนเสริมคุณภาพครูเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยระบบ coaching ครู แทนการอบรมอย่างเดียว ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่ตัวครูทั้งในด้านเจตคติและค่านิยมต่อวิชาชีพครู พฤติกรรมในการจัดการเรียนการสอนและศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมสื่อ (เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ และอรุณศรี จิตต์แจ้ง, 2556) โดยการพัฒนาครูของโครงการ LLEN มีการจัดกิจกรรมหลากหลายที่เหมาะสมและต่อเนื่องด้วยการติดตามการปฏิบัติงาน อาทิ การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครูต่อการจัดการเรียนการสอน เน้นการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง (Learning by doing) การให้ครูสามารถคิดค้น นวัตกรรรมเพื่อจัดการเรียนการสอน การให้ความรู้ในเนื้อหาสาระวิชาเพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) ส่วนการติดตามความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานครูเป็นการติดตามและนิเทศแบบกัลยาณมิตรที่สถานศึกษา รวมทั้งการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูเพื่อสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ในวิชาชีพครูเป็นระยะ เพื่อให้ครูได้พัฒนาตนเองต่อไปได้เรื่อย ๆ การเปลี่ยนแปลงที่ตัวครูได้ส่งผลนักเรียนมีความสนใจ ตื่นตัว สนุกในกระบวนการค้นคว้า เพิ่มความเชื่อมโยงความรู้กับสิ่งใกล้ตัวในท้องถิ่น นักเรียนในโครงการนี้สามารถคิดวิเคราะห์ มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะทางวิทยาศาสตร์ แก้ปัญหา เรียนรู้ด้วยตนเองได้ รวมทั้งมีทักษะทางสังคม เป็นเด็กดี มีคุณธรรม ซึ่งนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
จากข้อค้นพบดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนาระบบการพัฒนาครูด้วยระบบการหนุนเสริมอย่างต่อเนื่อง (coaching) เพื่อขยายผลการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนต่อไปจากโครงการ LLEN สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้สนับสนุนงบประมาณให้ สกว. ดำเนินการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนเสริมอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ ในการนี้ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็น 1 ใน 15 มหาวิทยาลัยที่ได้ร่วมดำเนินงานในชุดโครงการ LLEN เล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาศักยภาพครู จึงมีความสนใจอย่างยิ่งที่จะขอมีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าว โดยมีความสนใจที่จะดำเนินโครงการ teacher coaching นี้ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีปัญหาด้านคุณภาพนักเรียนที่น่าสนใจเพราะมีนักเรียนไร้สัญชาติ (ชาวเขาเป็นส่วนใหญ่) และเด็กข้ามชาติ (ลาว พม่า และกัมพูชา) เรียนอยู่ร่วมกับนักเรียนไทยในจำนวนสูง นอกจากนี้ ที่สำคัญคือ ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสาคร ได้ให้ความสนใจอย่างจริงจัง และให้ความร่วมมืออย่างดีมากกับสถาบันนวัตกรรมฯ ในการที่จะพัฒนาครูด้วยระบบ coaching เพื่อให้ส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพนักเรียน ทั้งนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจังหวัดสมุทรสาคร ได้ลงนามร่วมมือ (MOU) กับสถาบันนวัตกรรมฯ ว่าด้วย “การพัฒนาโรงเรียนแห่งการวิจัยและนวัตกรรมการเรียนรู้” ซึ่งนับได้ว่าเป็นต้นทุนที่จะเอื้อให้โครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง ในเขตจังหวัดสมุทรสาคร ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้เป็นอย่างดี
ปัญหาของการจัดการเรียนการสอนในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งคณะนักวิจัยประมวลได้จากการจัดประชุมร่วมกับผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารโรงเรียน รวมกับการลงพื้นที่ อาจสรุปได้เป็น 2 ปัญหาหลัก คือ ปัญหาที่คล้ายคลึงกับของจังหวัดอื่นๆ และปัญหาเฉพาะตัวของจังหวัดสมุทรสาคร
ปัญหาของโรงเรียนและของครูที่คล้ายคลึงกับของจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ การขาดแคลนครูในเชิงปริมาณและคุณภาพ มีครูไม่พอชั้นเรียน และมีครูไม่ตรงสาขา และถึงแม้ว่าจะมีการจ้างครูอัตราจ้าง แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เนื่องจากครูอัตราจ้างมักจะลาออกบ่อย นอกจากนี้ ครูยังมีภารกิจอื่น เช่น ครูบางส่วนต้องทำหน้าที่ด้านวิชาการหรือด้านธุรการ และอาจต้องละหน้าที่สอนมาเพื่อจัดเตรียมเอกสารเพื่อรองรับการตรวจสอบจากองค์กรภายนอกอยู่เนือง ๆ นอกจากนี้ ครูยังต้องออกจากห้องเรียนเพื่อเข้ารับการอบรมตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่จัดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ก็เป็นการอบรมที่ไม่เกิดประสิทธิผลเนื่องจากขาดความต่อเนื่อง ไม่มีการติดตามผล และด้วยภารกิจด้านอื่นๆ อีก ทำให้ครูไม่ได้นำสิ่งที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอน แต่ถึงแม้จะมีศึกษานิเทศก์คอยติดตามผล ส่วนใหญ่ก็จะเน้นการประเมินการสอนว่ามีขั้นตอนอย่างไร (ขั้นนำ ขั้นสอน และขั้นประเมิน) มากกว่าการให้คำชี้แนะ เนื่องจากศึกษานิเทศก์เองก็ยอมรับว่าขาดความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านเนื้อหาวิชา และส่วนใหญ่ก็เน้นประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ จึงมักเกิดเหตุการณ์ที่ครูเขียนแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อการประเมิน แต่เป็นแผนที่ไม่ได้นำไปสอนจริง ครูส่วนใหญ่ก็ยังทำหน้าที่สอนแบบบอกเล่าแต่เนื้อหาวิชา นักเรียนก็เข้าเรียนตามหน้าที่ แต่อาจไม่เกิดการเรียนรู้
ครูในจังหวัดสมุทรสาครยังประสบปัญหาเพิ่มเติม กล่าวคือ จังหวัดสมุทรสาครมีประชากรย้ายถิ่นในจำนวนสูง โดยมาประกอบอาชีพประมงและแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ทำให้มีเด็กข้ามชาติ (ลาว พม่า กัมพูชา) และไร้สัญชาติ (ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาวเขา) เป็นจำนวนมาก ซึ่งก็มากระจายอยู่ตามโรงเรียนต่างๆ ซึ่งเด็กเหล่านี้โดยเฉพาะในโรงเรียนระดับประถม เมื่อย้ายเข้ามาใหม่ก็ยังสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ หรือได้ก็น้อยมาก และครูเองก็ไม่สามารถสื่อสารกับเด็กได้ วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือต้องอาศัยเด็กบางคนที่พอจะสื่อสารได้ทั้งสองภาษาช่วยในการสื่อสารผ่านอีกทีหนึ่ง ทำให้เกิดปัญหาการจัดการเรียนการสอนอยู่เนืองๆ นอกจากนี้ การโยกย้ายอพยพของแรงงานยังส่งผลให้โรงเรียนมีการย้ายเข้าออกของนักเรียนตลอดภาคการศึกษา ทำให้เด็กได้เรียนไม่ต่อเนื่อง ครูก็ต้องหาทางที่จะสอนเด็กเหล่านี้เพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้คะแนน ONET ของจังหวัดสมุทรสาครในภาพรวมต่ำกว่ามาตรฐาน แต่อย่างไรก็ตาม ONET ก็เป็นคะแนนที่ไม่ได้สะท้อนผลการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนอย่างแท้จริง ทั้งเนื่องจากปัญหาดังที่กล่าวมาและจากการที่ทุกโรงเรียนล้วนแต่ติวข้อสอบ ONET ให้แก่นักเรียนก่อนสอบ เพียงเพื่อให้สอบได้คะแนนสูงขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ และก็มีเด็กบางส่วนที่ไม่สนใจจะเข้าติวนอกเหนือเวลาเรียน เพราะเห็นว่าเป็นเพียงการทำให้โรงเรียนมีคะแนน ONET สูงขึ้นเท่านั้น
ด้วยปัญหาดังกล่าว ครูในจังหวัดสมุทรสาคร จึงน่าจะได้รับการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในแบบ coaching เพื่อให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ในแบบใหม่ที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้แบบทำงานร่วมกัน และใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย ตั้งแต่ project-based learning ไปจนถึง mobile learning ซึ่งในการเรียนรู้แบบนี้ ครูต้องฝึกให้นักเรียนจะต้องทำงานเป็นทีม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันข้อมูล ช่วยกันแก้ปัญหา ตลอดจนช่วยผู้ที่ด้อยโอกาสหรือด้อยทักษะวิชาการในกลุ่มตามธรรมชาติอยู่แล้ว เป็นการแบ่งเบาภาระของครูที่จะต้องช่วยนักเรียนที่สื่อสารกันไม่ค่อยได้ และที่สำคัญจะส่งผลให้นักเรียนได้เรียนรู้และได้เนื้อหาวิชาจากการลงมือทำ ตลอดจนได้ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ไปโดยปริยาย
วัตถุประสงค์ของโครงการ
- เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย เขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ในการพัฒนาและเสริมศักยภาพครูด้วยการหนุนนำอย่างต่อเนื่อง
- เพื่อให้ศึกษานิเทศก์เข้าใจวิธีจัดการเรียนรู้แบบใหม่เพื่อให้นักเรียนได้ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ไปพร้อมกับองค์ความรู้ ที่ไม่เน้นการสอน แต่เน้นให้นักเรียนเรียนรู้โดยครูเปลี่ยนบทบาทมาเป็นครูฝึกหรือครูที่อำนวยความสะดวก ทั้งนี้ ศึกษานิเทศก์ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการประเมินวิธีการจัดการเรียนการสอนของครูตามวิธีการจัดการเรียนรู้แบบใหม่
- เพื่อพัฒนารูปแบบที่จะใช้ในการฝึกครู (coaching) เพื่อให้ครูสามารถเปลี่ยนเป้าหมายจากการสอนเนื้อหาวิชาอย่างเดียวไปสู่การพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของผู้เรียนควบคู่กันไปด้วย
เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของครู ให้มีบทบาทที่จะเป็นผู้ฝึก (coach) แทนการเป็นผู้สอนเนื้อหา และสามารถจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนที่มีความรู้ในเนื้อหาสาระและได้ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ (1) ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ (2) ทักษะการเรียนรู้ (3) ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี
ผลการวิจัย
- รูปแบบการฝึกครูที่ได้
รูปแบบการฝึกครู มีความแตกต่างไปตามบริบทของโรงเรียน ซึ่งจะต้องมีการโค้ชในด้านเนื้อหาและวิธีการสอนควบคู่กันไป ทั้งนี้ รูปแบบการฝึกที่เกิดมี 3 แบบ คือ
- Individual coaching เป็นการฝึกครูแบบตัวต่อตัว สำหรับครูแต่ละคนซึ่งมีบริบทต่างกันออกไป ซึ่งพบรูปแบบนี้ในการฝึกครูระดับมัธยม ทั้งนี้ มีการฝึกทั้งแบบ face-to-face และ online coaching ผ่านการสนทนาทางโทรศัพท์ การคุยทาง line การคุยทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail)
- Peer coaching เป็นการฝึกที่มีเพื่อนครูมาร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งพบรูปแบบนี้ในการฝึกครูระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษา และเป็นการฝึกที่เกิดกับครูที่อยู่ในระดับชั้นหรือสาระวิชาเดียวกัน ซึ่งส่วนมากเป็นครูที่มีความสนิทสนมกันอยู่ก่อนแล้ว
- Group coaching เป็นการฝึกกลุ่มครูที่มีความสนใจหรือมีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งมีทั้งกลุ่มเล็ก ได้แก่ กลุ่มวิจัยในชั้นเรียน และกลุ่มใหญ่ในระดับโรงเรียนที่ผู้บริหารมีนโยบายที่ชัดเจนและร่วมผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีการฝึกทั้งแบบ face-to-face ผ่านกิจกรรมที่จัดและการสนทนาผ่านไลน์กลุ่ม มีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันโดยการผลักดันของคณะนักวิจัยร่วมกับผู้บริหาร ซึ่งทำให้เกิด PLC ทั้งภายในโรงเรียน และระหว่างโรงเรียน โดยในระยะที่ดำเนินการยังคงเป็น PLC แบบหลวมๆ
- ผลที่เกิดขึ้นกับครู
- ผลจากแบบสำรวจความเข้าใจของครูเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนศตวรรษที่ 21 รวมทั้งผลจากแบบประเมินเจตคติและทักษะการ coaching ก่อนและหลังการฝึกอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ว่า ครูเปลี่ยนแนวคิดและมุมมองในการจัดกระบวนการเรียนการสอน เข้าใจแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีทั้งความรู้และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 รวมทั้งแนวทางการวัดและประเมินผลในการจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ รู้จักตัวตน เปลี่ยนแปลงบทบาทจากผู้สอนมาเป็นโค้ช (coacher) หรือผู้อำนวยการเรียนรู้ (facilitator) มีทักษะการโค้ชเพิ่มขึ้น เช่น ทักษะการฟัง การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ความร่วมมือและการยอมรับ มีความเป็นกัลยาณมิตรต่อนักเรียน ทำให้นักเรียนเรียนด้วยความสนุก ไว้ใจครู กล้าถาม กล้าตอบ
- ผลจากการสังเกตการณ์ในชั้นเรียน รวมทั้งแบบสำรวจการจัดการเรียนรู้ของครูและแบบสำรวจการรับรู้ของนักเรียน บ่งชี้ว่า ครูปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอน มีการจัดการเรียนรู้แบบ coaching มากขึ้น เช่น สอนโดยไม่สอน (ใช้การถาม) จัดการเรียนรู้ให้นักเรียนลงมือปฏิบัติและทำงานเป็นทีม จัดการเรียนรู้แบบโครงงาน สามารถบูรณาการข้ามสาระวิชาต่างๆ และเชื่อมโยงความรู้จากการปฏิบัติสู่สาระวิชาได้ รวมทั้งสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยเอื้อต่อการเรียนรู้และกระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียน
- ครูมีผลงานของตนเอง เช่น นวัตกรรมสื่อ การวิจัยในชั้นเรียน จนสามารถนำเสนอในเวทีการประชุมวิชาการ ทั้งนี้ มีครูบางท่านที่ยังได้รับการฝึกอย่างต่อเนื่องจากทีมโค้ชของมหาวิทยาลัยจนสามารถมีผลงานเผยแพร่ในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ The 2nd International Conference on Innovation in Education (ICIE 2015) ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 17-18 มีนาคม 2558 ณ ศูนย์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งหมด 4 เรื่อง ได้แก่
- Development of learning practices to improve Thai reading skills for supporting achievement in science: A case study
- Building basic science process skills in grade four students
- Using concrete and abstract representations to teach long division in elementary mathematics
- Integrated local community to project-based learning unit in enhancing creative thinking" (ได้รับรางวัล Outstanding Poster Presentation Theme: Classroom Action Research)
- ผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียน
ผลจากแบบประเมินทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (3R 5C) พบว่า นักเรียนมีคะแนนทักษะหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญ ชี้ให้เห็นว่า นักเรียนมีการพัฒนาด้านความรู้ ทักษะการอ่าน การเขียน และคณิตศาสตร์ อีกทั้งยังมีการพัฒนาทักษะสำคัญที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในตัวนักเรียน ได้แก่ การคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การร่วมมือ การสื่อสาร คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ และข้อมูลจากการสังเกตการณ์ในพื้นที่ พบว่าในโรงเรียนที่มีนักเรียนต่างด้าวที่มีการจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง ยังช่วยให้นักเรียนมีการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ต่างวัฒนธรรม และในบางโรงเรียนที่ได้ใช้บริบทของพื้นที่เป็นส่วนช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ ให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติผ่านการทำโครงงาน ยังมีส่วนช่วยเพิ่มทักษะชีวิตและการทำงาน เพิ่มความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และยังช่วยให้นักเรียนเห็นคุณค่าในอัตลักษณ์ท้องถิ่น รักท้องถิ่นและชุมชน
- ผลที่เกิดขึ้นกับศึกษานิเทศก์
ศึกษานิเทศก์ที่เข้ามาร่วมในโครงการมีจำนวนน้อย ทั้งนี้ผลจากการการสังเกตการณ์และการสัมภาษณ์ครูอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า ศึกษานิเทศก์ที่ทำงานร่วมไปกับนักวิจัย มีความเป็นกัลยาณมิตรต่อครู ลดช่องว่างระหว่างศึกษานิเทศก์และครู มีการปรับเปลี่ยนแนวทางในการสังเกตการณ์การจัดการเรียนการสอนของครู ที่แต่เดิมมุ่งประเมินความสามารถครู เป็นการสังเกตการณ์เพื่อสนับสนุนข้อมูล (support) และได้รับการยอมรับจากครูมากขึ้น
นอกจากนี้ ศึกษานิเทศก์ กุศลิน แสงวัชรสุนทร (สังกัด สพม.10) ยังมีผลงานเผยแพร่ในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ The 2nd International Conference on Innovation in Education (ICIE 2015) เรื่อง "Improving teaching performance with online and in-class coaching: A case study in Thai secondary school” ซึ่งได้รับรางวัล Popular Vote Poster Presentation จากการประชุมดังกล่าวด้วย
- ผลที่เกิดขึ้นกับผู้บริหารโรงเรียน
ผลจากแบบสำรวจเจตติในการฝึกครูและความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้และการวัดประเมินทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของผู้อำนวยการโรงเรียน พบว่า ระดับคะแนนเมื่อจบกิจกรรมสูงกว่าก่อนทำกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญ บ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนมีเจตคติที่ดีต่อการฝึกครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง และมีความเข้าใจรวมทั้งมีความมั่นใจในการติดตามความก้าวหน้าของครูในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ควบคู่ไปกับเนื้อหาวิชา
ผู้อำนวยการบางโรงเรียนให้ความสนใจอย่างจริงจัง โดยเข้าร่วมทำกิจกรรมบางกิจกรรมไปพร้อมกับครู ร่วมสังเกตการณ์การทำกิจกรรมของครู และผลักดันให้เกิดการปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการปรับเปลี่ยนตารางสอนให้สอดรับกับการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน และจัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลจากการปฏิบัติภายในโรงเรียนเป็นระยะ
- ผลที่เกิดขึ้นกับนักวิจัย
นักวิจัยที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มีการเรียนรู้และข้าใจวัฒนธรรมองค์กร (ครู สถานศึกษาระดับพื้นฐาน และเขตพื้นที่การศึกษา) มากขึ้น มีการพัฒนาตนเองไปพร้อมๆ กับครู ทั้งในด้านเนื้อหาวิชาและทักษะวิชาชีพ นอกจากนี้ยังมีผลงานเผยแพร่ในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ The 2nd International Conference on Innovation in Education (ICIE 2015) เรื่อง " Teacher perceptions on adapting the contemplative education concepts used in the classroom: A Case study” ซึ่งได้รับรางวัล Outstanding Poster Presentation จากการประชุมดังกล่าวด้วย
- ผลด้านเครือข่าย
เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย โรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษา ในการหนุนนำครู ทั้งที่เป็นทางการ และเป็นทางการ เช่น การทำ MOU ระหว่างเขตพื้นที่กับมหาวิทยาลัยในการพัฒนาครู
ปัจจัยและเงื่อนไขที่นำไปสู่ความสำเร็จของโครงการ
- ความมุ่งมั่นของคณะผู้วิจัยและครูที่ทุ่มเทต่อภารกิจนี้อย่างเต็มที่ และมุ่งมั่นจะดำเนินงานตามโครงการนี้ให้สำเร็จไม่ว่าจะมีปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ
- ศักยภาพและความสามารถของโค้ช ที่ประกอบด้วย ความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์เกี่ยวกับเนื้อหาสาระของกิจกรรมหนุนเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน และความสามารถในการปรับตัว ยืดหยุ่นกับสถานการณ์ปัญหาต่างๆ
- การมีวิสัยทัศน์ร่วมและมีกิจกรรมร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน ระหว่างนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย เขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน และครู ทำให้เกิดพลังในการหนุนนำครูเพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาศักยภาพของนักเรียน
- การหนุนนำครูอย่างต่อเนื่องโดยไม่เร่งรัด ด้วยความจริงใจ ใส่ใจ และให้ใจ เพราะหากเร่งรัดจะทำให้ครูไม่อยากทำ
ปัญหา/อุปสรรค ที่มีผลต่อความสำเร็จ
- การหมุนเวียนเปลี่ยนผู้บริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนหรือครูวิชาการที่มีความมุ่งมั่น มีส่วนทำให้การหนุนนำเพื่อพัฒนาครูสะดุด รวมทั้งอาจส่งผลต่อการถอนตัวของครู/โรงเรียน
- การที่มีโครงการเข้าไปที่โรงเรียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งแม้จะเกิดจากความหวังดีของหลายภาคส่วน แต่กลับเป็นการเพิ่มภาระให้กับครู นอกจากนี้ ครูยังมีภารกิจมาก เช่น งานธุรการ งานติวนักเรียนสอบ o-net งานทำเอกสารเพื่อรับการประเมิน และงานในกิจกรรมพิเศษต่างๆ ของโรงเรียน ที่ดึงเวลาหรือเอาเวลาที่ครูควรจะใช้ในการเตรียมการสอนและงานสอนซึ่งเป็นภารกิจหลักของครู
- เจตคติของครูต่อโปรแกรมการพัฒนาครู ครูในโรงเรียนเป้าหมายบางคนอาจไม่ให้ความร่วมมือกับโครงการ เพราะมีเจตคติที่ไม่ดีต่อการอบรมและการนิเทศแบบเดิมๆ และเห็นว่าจะเป็นการเพิ่มภาระงานให้แก่ตนเอง ซึ่งคณะวิจัยต้องสร้างความเข้าใจแก่ครูว่า โครงการนี้จะมิได้เป็นภาระเพิ่ม เพราะการหนุนนครูจะเน้นการโค้ชที่โรงเรียน ในชั้นเรียน ซึ่งครูจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ปกติ
- เจตคติของครูที่ไม่พร้อมจะเรียนรู้ และไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง ทำให้ครูในโรงเรียนเป้าหมายบางคนไม่ให้ความร่วมมือกับโครงการ (มีหลายคนที่เข้าร่วมตามคำสั่งของผู้บริหาร) ซึ่งคณะวิจัยต้องจัดกิจกรรมจิตตปัญญาเพื่อปลุกจิตวิญญาณของครู ให้ครูรู้จักตน และเปิดใจ ซึ่งก็สำเร็จเพียงแค่ส่วนหนึ่ง
ข้อเสนอแนะ
- ในการดำเนินการพัฒนาศักยภาพครูให้ได้ผลอย่างแท้จริงนั้น ต้องเปิดใจให้ครูยอมรับและเชื่อก่อนว่าการสอนแบบโดยครูเป็นผู้บอกความรู้อย่างที่ทำมาในอดีต ไม่สามารถพัฒนานักเรียนให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ได้ ดังนั้นต้องทำให้ครูเชื่อมั่นถึงการจัดการเรียนการสอนที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งทำให้ผู้บริหารเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลง สนับสนุนให้เกิดชุมชนเรียนรู้ที่ฝังรากลึกเป็นวัฒนธรรมองค์กรได้ การใช้กรอบความคิดนี้จะทำให้โรงเรียนช่วยเหลือตนเอง ให้เกิดการหนุนนำตัวเอง สุดท้ายครูและโรงเรียนจะได้มีพลังภายในที่เข้มแข็งต่อการทำงานของเขาได้
- ส่วนกลางต้องเปลี่ยนรูปแบบในการพัฒนาครู เพราะผลจากโครงการนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าการ coaching แบบต่อเนื่องตามโครงการนี้ ประสบผลสำเร็จมากกว่าการ training ที่เรียกครูมาอบรม ทั้งนี้ การติดตาม (monitor) สำคัญที่สุด การนิเทศควรเน้นติดตามแบบสนับสนุนข้อมูล (support) ไม่ใช่ไปเก็บข้อมูลเพื่อประเมิน ซึ่งมักทำแบบเร็วๆ และดูผลสำเร็จที่ตัวชี้วัดที่ส่วนกลางเป็นผู้กำหนด มากกว่าที่จะดูที่ความก้าวหน้าในการพัฒนาตนเองของครู ทั้งนี้ ในการพัฒนาครู ควรจะให้ครูและโรงเรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายของตนเอง เพราะความมุ่งมั่นที่จะไปสู่เป้าหมายของครูและโรงเรียนจะเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญให้บรรลุผลสำเร็จได้
- การหนุนนำพัฒนาครู ไม่ควรเปลี่ยนตัวโค้ช ทั้งนี้จะต้องมีโค้ชที่เป็นผู้หนุนนำ 2 ประเภท คือ 1) คนที่มีเนื้อหา (content) เพื่อให้สามารถช่วยเหลือครูด้านเนื้อหา (content knowledge) ในกรณีที่ครูต้องสอนข้ามสาระ ไม่ตรงกับที่ตนถนัด ซึ่งยังคงพบอยู่ในหลายโรงเรียน อีกทั้งช่วยปรับเปลี่ยนในกรณีที่ครูมีความเข้าใจผิด และเพื่อเติมเต็ม 2) ผู้หนุนนำที่มีศาสตร์การสอน (pedagogy knowledge) ที่อาจไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญเนื้อความรู้ที่สอดคล้องกับครู แต่ควรมีองค์ความรู้ทั่วไปดีพอจนกระทั่งไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาสาระอะไรก็โค้ชได้
- ควรปลดงานธุรการออกจากครู ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรจัดงบประมาณให้แก่โรงเรียนเพื่อจ้างบุคลากรมาทำงานในส่วนนี้แทนครู เพื่อให้ครูได้มีเวลาทำภารกิจตามบทบาทหลักของครูได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถจัดการเรียนการรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
- สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรลดจำนวนโครงการที่ลงมาให้โรงเรียนทำ แต่ส่งเสริมให้มีการขับเคลื่อนโดยเริ่มจากโรงเรียนเอง ให้โรงเรียนได้มีโอกาสเลือกโครงการที่เหมาะกับบริบทของโรงเรียน แล้วให้ดูผลลัพธ์ในระยะยาวมากขึ้น ลดการประเมินที่ต้องเน้นเอกสาร กระจายอำนาจให้เขตพื้นที่การศึกษาได้มีโอกาสคิดและพัฒนาตามบริบทของตนเอง
ในด้านการพัฒนานักเรียน ถึงแม้ว่าขณะนี้จะมีนโยบายจากภาครัฐอยู่แล้วว่าควรมีการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติและทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งในทางปฏิบัติ โรงเรียนจำเป็นต้องปรับตารางสอนใหม่ให้เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ในแบบดังกล่าว ให้การเรียนรู้นั้นอยู่ในเวลาเรียนปกติให้ได้
บรรณานุกรม
ปิยะฉัตร จิตต์ธรรม*, วรารัตน์ วงศ์เกี่ย, น้ำค้าง ศรีวัฒนาโรทัย, วัชรี เกษพิชัยณรงค์, และทัศนีย์ สุวรรณพงษ์. (2558) โครงการวิจัยและพัฒนาครูในจังหวัดสมุทรสาครด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง (Teacher Coaching) เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ ที่ส่งเสริมองค์ความรู้และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. 261 หน้า.