ในตอนนี้ จะเป็นการนำกฎการคงตัวของโมเมนตัม มาใช้อธิบายปรากฎการณ์ การชนกันของวัตถุ ในที่นี้จะพิจารณาการชนของวัตถุสองก้อน ในช่วงเวลาการชนที่สั้นๆ ทำให้เกิดแรงดล กระทำต่อวัตถุแต่ละก้อนขณะเกิดการชน แรงดล ที่เกิดขึ้นนี้ถือได้ว่ามีค่ามากกว่าแรงภายนอกใดๆ ที่มีอยู่ขณะนั้น (เช่นแรงดึงดูดของโลกต่อวัตถุ)

ความหมายของการชนในระบบ macroscopic เช่น การชนของลูกบิลเลียด จะมีการสัมผัสกัน ในช่วงเวลาสั้นๆ ของวัตถุ แต่ถ้าเป็นระบบ submicroscopic การชน ไม่จำเป็นต้องมีการสัมผัสกันระหว่างวัตถุ หรืออนุภาค การชนในระดับนี้อาจเกิดจาก อันตรกิริยาของแรงทางไฟฟ้า ของอนุภาคหนึ่งกระทำต่ออนุภาคก็ได้ ตัวอย่างเช่น การชนกันของอนุภาคที่มีประจุบวก ดังรูปที่ 4-5


รูปที่ 4-5 แสดงการชนของอนุภาคที่มีประจุเหมือนกัน โดยมีแรงทางไฟฟ้า
กระทำซึ่งกันและกัน (การชนไม่มีการสัมผัสกัน) ระหว่างฮีเลียม และโปรตอน

พิจารณาวัตถุมวล m1 และ m2 ชนกันดังรูปที่ 4-6 แรงดลที่เกิดขึ้นอาจเขียนได้ดังรูปที่ 4-7 และสมมติให้ไม่มีแรงภายนอกมากระทำ
รูปที่ 4-6 แสดงการชนของวัตถุมวล m1 และ m2


รูปที่ 4-7 แสดงการดลที่เกิดขึ้นหลังจากการชนกันระหว่างวัตถุมวล m1 และ m2

จากกฎข้อที่ 3 ของนิวตัน แรงที่มวล m2 กระทำต่อมวล m1 มีขนาดเท่ากับแรงที่มวล m1 กระทำต่อมวล m2 แต่ทิศทางตรงข้าม กล่าวคือ ทำให้เราสามารถใช้กฎคงตัวของโมเมนตัมได้ (สมการ 4-13)

(4-13)

หมายถึง การชนที่ไม่มีแรงภายนอกอื่นใดมากระทำ ผลรวมของโมเมนตัมก่อนชน จะเท่ากับผลรวมของโมเมนตัมหลังชนเสมอ แต่ถ้าพิจารณาในแง่ของพลังงานจลน์ จะแตกต่างกัน เนื่องจากพลังงานจลน์รวมก่อนชนและหลังชน ไม่จำเป็นต้องเท่ากันเสมอ เพราะในขณะที่เกิดการชน พลังงานจลน์สามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นพลังงานในรูปอื่นได้ เช่นพลังงานความร้อน เป็นต้น

สำหรับในทางฟิสิกส์ การชนสามารถแบ่งออกได้เป็นสองชนิด คือ การชนแบบไม่ยืดหยุ่น (inelastic collision) และการชนแบบยืดหยุ่น (elastic collision) โดยในการชนแบบไม่ยืดหยุ่นนี้ จะมีเฉพาะโมเมนตัมเท่านั้นที่คงตัว ในขณะที่พลังงานจลน์ไม่คงตัว ตัวอย่างของการชนประเภทนี้ได้แก่ การชนของลูกบอลยางกับผนัง สำหรับการชนประเภทนี้ ยังมีกรณีพิเศษเมื่อวัตถุสองก้อนชนกัน โดยชนแล้วติดกันไปซึ่งจะเป็นกรณีที่มีการสูญเสียพลังงานจลน์มากที่สุด โดยไม่ขัดกับกฎการคงตัวของโมเมนตัม เรียกการชนแบบนี้ว่า การชนแบบไม่ยืดหยุ่นเลย (perfectly inelastic collision) ซึ่งการติดกันไป ในลักษณะนี้ทำให้วัตถุทั้งคู่ มีความเร็วเท่ากันหลังจากเกิดการชน และสำหรับการชนแบบยืดหยุ่น ทั้งโมเมนตัมและพลังงานจลน์เป็นค่าคงตัว ตัวอย่างของการชนประเภทนี้คือ การชนกันของลูกบิลเลียด ถึงแม้ว่าในขณะเกิดการชน จะมีการเปลี่ยนแปลงของพลังงานไปบ้าง เช่น เมื่อเกิดการชนแล้วทำให้เกิดเสียง แต่พลังงานเสียงที่เกิดขึ้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับพลังงานจลน์ของวัตถุ