Gonorrhoea คืออะไร ?
Gonorrhoea หรือ โรคหนองใน คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พบได้เป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งพบได้ประมาณ 40–50% ของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งสามารถแบ่งโรคหนองใน ออกเป็น 2 ประเภท คือ โรคหนองในแท้ หรือ โกโนเรีย (Gonorrhoea) เกิดจากการติดเชื้อ Neisseria gonorrhoeae เป็นแบคทีเรียที่มีลักษณะค่อนข้างเป็นทรงกลมอยู่กันเป็นคู่หันด้านเว้าเข้าหากัน ลักษณะคล้ายเมล็ดกาแฟหรือเมล็ดถั่ว ย้อมสีแกรมติดสีแดง เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรคเฉพาะเยื่อเมือก Mucous Membrance เช่น เยื่อเมือกในท่อปัสสาวะ ช่องคลอด ปากมดลูก เยื่อบุมดลูก ท่อรังไข่ ทวารหนัก เยื่อบุตา คอ เป็นต้น โดยเชื้อนี้มีระยะฟักตัวประมาณ 1-10 วัน
โรคหนองในอีกประเภทหนึ่ง คือ โรคหนองในเทียม (Non Gonococcal Urethritis) หรือ NSU เป็นการอักเสบของท่อปัสสาวะที่เกิดจากเชื้อโรคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่หนองในแท้
ปัจจัยเสี่ยง
ชายร่วมประเวณีกับหญิงที่มีเชื้อหนองในจะติดเชื้อประมาณ 30 % ส่วนหญิงร่วมประเวณีกับชายที่มีเชื้อหนองใน จะมีโอกาสจะติดเชื้อประมาณ 80 %
อาการ
โดยทั่วไป โรคหนองในจะแพร่เชื้อไว้ในท่อปัสสาวะในชาย และในท่อปัสสาวะและปากมดลูกในสตรี นอกจากนั้นมันอาจแพร่เชื้อในทวารหนักและในลำคอได้ด้วย ทั้งนี้ลักษณะอาการที่สามารถพบได้คือ ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะขัด และมีหนองสีเหลืองข้นไหลจากท่อปัสสาวะ อาการปัสสาวะขัดจะรุนแรงมาก และบางรายอาจลุกลามไปยังต่อมลูกหมาก และท่อนำน้ำเชื้ออสุจิได้ ส่วนในหญิงเชื้อมีโอกาสลุกลามไปยังมดลูกและปีกมดลูก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการอักเสบและภาวะเป็นหมันตามมาได้ และถ้าหญิงมีครรภ์มีเชื้อหนองในเวลาคลอดอาจทำให้ทารกแรกคลอดติดเชื้อเกิดอาการตาอักเสบได้
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
หากมีอาการปัสสาวะแสบขัด หรือมีอาการปวด หรือผื่นขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ ควรหยุดการมีเพศสัมพันธ์ แล้วรีบปรึกษาแพทย์ ถ้าแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคหนองใน และหลังได้รับการรักษาแล้ว เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำอีก ควรแจ้งให้คู่นอนมารับการรักษาด้วย และให้งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการจะหายดีแล้ว
การรักษา : การรักษาโรคหนองใน คือ การใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งใช้ได้ผลดี แต่ในหลายพื้นที่อาจมีเชื้อดื้อยาได้ ดังนั้น หลังการรักษา ถ้ายังคงมีอาการ จึงควรต้องกลับมาปรึกษาแพทย์อีกครั้ง
สำหรับในผู้หญิงที่มีอาการหนองไหลออกจากท่อปัสสาวะ ร่วมกับมีไข้สูง ปวดท้องน้อย ขัดเบา ตกขาว อาจเป็นปีกมดลูกอักเสบเฉียบพลัน ควรส่งโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมงนอกจากนั้น จำเป็นต้องตรวจหาการติดเชื้อที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ที่อาจพบร่วมด้วยโดยเฉพาะ เชื้อ เอชไอวี (HIV) หรือ โรคเอดส์
How do I avoid getting infected again !!
การปฏิบัติ และ การป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
- งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาหายทั้งผู้ป่วยและคู่นอน ถ้าจำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัย
- รับประทานยา หรือรับการรักษาจนครบตามแผนการรักษาของแพทย์
- ดูแลความสะอาดร่างกาย และความสะอาดของเสื้อผ้า ชุดชั้นใน ไม่ใส่ซ้ำ ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
- ดูแลความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ทุกครั้งหลังขับถ่ายโดยล้างจากด้านหน้าไปด้านหลัง แล้วซับให้แห้งด้วยผ้าหรือทิชชูที่สะอาด
- มารับการตรวจรักษาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ
- ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือมีหนองไหลจากอวัยวะสืบพันธุ์ ควรไปพบแพทย์ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
- หากคู่นอนมีอาการน่าสงสัย ควรแนะนำ พามาพบแพทย์ และใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์
อ้างอิงจาก
https://microbiologyinfo.com/biochemical-test-identification-neisseria-gonorrhoeae/
http://paolohospital.com/phahol/virus/gonorrhoea/
เรื่องโดย พงษ์ผไท กิจรุ่งโรจนาพร สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล