Forum

แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

Learn from Nature: เคล็ด(ไม่)ลับทำอย่างไรจึงจะผสมพันธุ์ปลากัดได้สำเร็จ ตอน 1

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
775 เข้าชม
IL Admin
(@il-admin)
Reputable Member Admin
เข้าร่วม: 7 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 134
หัวข้อเริ่มต้น  

ตอนที่แล้วเล่าถึง “ท้องป่อง” ซึ่งเป็นสัญญาณของปลากัดเพศเมียที่แสดงความพร้อมในการผสมพันธุ์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการผสมพันธุ์ปลากัด ตอนนี้จะมาบอกเล่าเคล็ดวิชาที่มาจากภูมิปัญญาของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากัด ว่าทำอย่างไรจึงจะได้ลูกปลากัดเป็นจำนวนมาก

ก่อนอื่น ขอแทนปลากัดเพศผู้ ว่า “พ่อปลา” และแทนปลากัดเพศเมีย ว่า “แม่ปลา” และขอแบ่งขั้นตอนสำคัญในการผสมพันธุ์ปลากัด เป็น 3 พ. (พร้อม พันธุ์ พิศ) ในบทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะขั้น “พร้อม

พร้อม (เตรียมความพร้อม) จุดเริ่มต้นของการผสมพันธุ์ปลากัด ดังสุภาษิตไทยที่กล่าวว่า “เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” แล้วเราจะเริ่มต้นอะไรบ้างถึงจะมีชัย

  1. คัดเลือกพ่อและแม่ปลากัดที่สมบูรณ์ สมบูรณ์ในที่นี้ หมายถึง อายุ 3 เดือนขึ้นไป ครีบทุกครีบครบ ไม่ขาดแหว่ง เกล็ดมีความเงา ไม่มีร่องรอยโรค ไม่ซึม พ่อปลาเริ่มก่อหวอดให้เห็น และแม่ปลาเริ่มเห็นจุดสีขาวนูนใต้ท้อง (จุดไข่นำ) ชัดเจน นอกจากนี้เพื่อให้ได้ลูกปลากัดที่มีสีสันหลากหลายตามความต้องการ จึงควรเลือกพ่อปลา และ/หรือ แม่ปลา ที่มีสีสันและรูปแบบเหล่านั้นปรากฏอยู่ ที่สำคัญขนาดของพ่อและแม่ควรใกล้เคียงกัน
  2. เตรียมภาชนะสำหรับเพาะพันธุ์ ภาชนะที่ว่านี้จะเป็นโหลขนาดใหญ่หรืออ่างขนาดใหญ่ก็ได้ ใหญ่แค่ไหน คร่าวๆ ใหญ่กว่าขนาดปกติที่ให้ปลากัดอยู่สัก 3-4 เท่าตัว ภาชนะนี้ควรมีพื้นที่มากพอให้นำโหลของปลากัดเพศเมียใส่ไว้ได้ ควรหาพืชน้ำที่มีใบขนาดใหญ่ใส่ไว้ในภาชนะเพาะพันธุ์ด้วย เพื่อให้หวอดที่พ่อปลากัดสร้างขึ้นมีที่ยึดเกาะ และระดับน้ำควรสูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร มิเช่นนั้นพ่อปลากัดอาจหมดแรงระหว่างดูแลลูกอ่อนได้  ถ้าจะให้ดีควรเลือกภาชนะทึบแสงหรือหากระดาษสีมาปิดคลุมโดยรอบโหล โดยยังเหลือด้านหนึ่งไว้สำหรับให้อาหาร เปลี่ยนน้ำ สังเกตปลาได้ เพื่อป้องกันไม่ให้พ่อปลาแม่ปลาตกใจระหว่างการผสมพันธุ์ด้วย

    ปลากัดเพศผู้ก่อหวอดใต้ใบไม้

    ตัวอย่างการจัดเตรียมภาชนะเพาะพันธุ์

  3. เทียบคู่ปลากัด เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว ให้นำพ่อปลากัดใส่ไว้ในภาชนะเพาะพันธุ์ และแม่ปลากัดใส่ไว้ในโหลใสอีกใบหนึ่ง (ความสูงของระดับน้ำในโหลของแม่ ควรเท่ากับภาชนะเพาะพันธุ์) นำโหลที่มีแม่ปลากัดวางไว้มุมใดมุมหนึ่งของภาชนะเพาะพันธุ์ ใบบริเวณที่เห็นพ่อปลากัดสร้างหวอดได้ถนัด

ถ้าเปรียบขั้นตอนนี้กับมนุษย์ จะคล้ายกับการศึกษาดูใจของคนสองคน นั่นคือ พ่อปลาจะดูว่าแม่ปลาแข็งแรง สมบูรณ์ เหมาะจะเป็นแม่ของลูก ๆ ไหม ส่วนแม่ปลา ก็ต้องศึกษาดูก่อนว่าพ่อปลาแข็งแรงพอที่จะดูแลลูก ๆ ของตนได้ไหม สร้างหวอด (หรือ รังรัก) ได้มากน้อยเพียงใด หวอดเปรียบได้กับบ้านหรือที่อยู่อาศัย ของคน พวกเราเองก็ย่อมเลือกคฤหาสน์มากกว่ากระต๊อบ สำหรับปลากัด ยิ่งหวอดมีจำนวนมากและซ้อนกันยิ่งหลายชั้น แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการอยู่รอดของลูกปลาได้มากกว่า ถึงเป็นเกณฑ์หนึ่งในการบอกความแข็งแรง สมบูรณ์ของพ่อปลากัดเช่นกัน

เมื่อถึงขั้นตอนเทียบคู่แล้ว เราจะปล่อยให้พ่อปลา แม่ปลา ศึกษาดูใจกันไปสัก 1 อาทิตย์ โดยระหว่างนั้น จะต้องให้อาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ ถ้าให้อาหารสดหรืออาหารโปรตีนสูงยิ่งดี พร้อมทั้งจะต้องทำความสะอาดภาชนะของทั้งพ่อและแม่ ประมาณ 2-3 วัน/ครั้ง และที่แน่ๆ ก่อนวันที่นำพ่อและแม่ปลาผสมพันธุ์กัน ควรเปลี่ยนน้ำสัก 1 วัน เพื่อให้น้ำสะอาดพอสำหรับช่วงเวลาจากไข่จะกลายเป็นลูกปลาน้อย

เท่านี้ ถือว่าเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินการในขั้นถัดไป... ติดตามได้ในตอนหน้า นะจ๊ะ

 

 

เรื่องโดย ผศ.ดร.น้ำค้าง ศรีวัฒนาโรทัย สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล


   
อ้างอิง
แท็กหัวข้อ
แบ่งปัน:
1,378,729 views since 16 August 2018