Forum

ก๊าซเรือนกระจกกับกา...
 
แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

ก๊าซเรือนกระจกกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
2,474 เข้าชม
(@piyachat)
Active Member
เข้าร่วม: 6 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 7
หัวข้อเริ่มต้น  

ก๊าซเรือนกระจก คือ ก๊าซที่เป็นองค์ประกอบของบรรยากาศโลกเปรียบเสมือนผ้าห่มห่อหุ้มโลกไว้ ช่วยให้อุณหภูมิโลกไม่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน โดยในเวลากลางวันขณะที่ดวงอาทิตย์แผ่รังสีความร้อนเข้ามายังโลก ก็จะถูกบรรยากาศในชั้นสูง ๆ สะท้อนความร้อนบางส่วนกลับไป ส่วนรังสีความร้อนที่เหลือผ่านเข้ามากระทบพื้นผิวโลก จะถูก พื้นน้ำ พื้นดิน และสิ่งมีชีวิต จะดูดกลืนไว้ หลังจากนั้นจะคายพลังงานออกมาแล้วแผ่กระจายผ่านชั้นบรรยากาศออกไป ในขณะที่แผ่ผ่านชั้นบรรยากาศ พลังงานส่วนหนึ่งจะถูกก๊าซเรือนกระจกดูดกลืนไว้และคายพลังงานความร้อนปล่อยกลับลงมายังโลก ทำให้โลกไม่หนาวจัดในเวลากลางคืน และไม่ร้อนจัดในเวลากลางวัน เป็นการรักษาสภาพสมดุลทางอุณหภูมิ ทำให้วัฏจักรน้ำ อากาศ และฤดูกาล ดำเนินไปอย่างสมดุล เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต โลกจึงเปรียบเสมือนเรือนปลูกพืชขนาดใหญ่ที่มีไอน้ำและก๊าซต่าง ๆ ในชั้นบรรยากาศเป็นเสมือนกระจกครอบที่คอยควบคุมอุณหภูมิและวัฏจักรต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างสมดุล

ก๊าซเรือนกระจก จากที่เคยมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก กลายมาเป็นปัญหาเมื่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศมากเกินจุด “สมดุล ทำให้รังสีความร้อนสะท้อนออกไปนอกโลกได้น้อยลงเมื่อเจอกับชั้นบรรยากาศที่มีก๊าซเรือนกระจกอยู่อย่างหนาแน่น ทำให้พลังงานความร้อนสะท้อนกลับไปกลับมา เกิดความร้อนสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ จึงเป็นสาเหตุให้โลกเราร้อนขึ้น

นักวิทยาศาสตร์รู้ได้อย่างไรว่าก๊าซชนิดใดทำให้โลกร้อนขึ้น

หลักฐานที่ชี้ชัดว่าก๊าซเรือนกระจกทำให้โลกร้อนขึ้น ไม่ใช่การที่น้ำแข็งขั้วโลกละลาย เพราะนั่นคือผลที่เกิดจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น หลักฐานที่ว่าคือการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ซึ่งหลักฐานดังกล่าวมาจากการเก็บข้อมูลอุณหภูมิโลกรวมทั้งปริมาณก๊าซต่าง ๆ ในชั้นบรรยากาศเป็นระยะเวลายาวนานและต่อเนื่อง เมื่อนำข้อมูลนี้มาพล็อตกราฟก็พบว่า อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ สอดคล้องกับการปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์สรุปว่าก๊าซเรือนกระจกเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้นนั่นเอง

ก๊าซเรือนกระจก มีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ และจากการกระทำของของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้ถ่านหินในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ กระบวนการหมักของน้ำหมักจุลินทรีย์ การเผาป่า สารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นนี้จะไปรวมกันอยู่อย่างหนาแน่นในชั้นบรรยากาศ ทำให้รังสีความร้อนสะท้อนออกไปนอกโลกได้น้อยลง เพราะเมื่อเจอชั้นบรรยากาศดังกล่าว ก็จะเกิดการสะท้อนกลับไปกลับมา เกิดเป็นความร้อนสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ จึงเป็นสาเหตุให้โลกเราร้อนขึ้น

ในบรรดาก๊าซเรือนกระจก มีคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด คือ 70% และที่น่าตกใจเป็นอย่างยิ่งคือ จากรายงานของห้องปฏิบัติการในสหรัฐอเมริกา พบว่า ระดับความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ตรวจวัดได้พุ่งสูงขึ้นถึง415.26 ppm นับเป็นค่าสูงสุดที่ได้เคยบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า หากความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แตะ 550 ppm เมื่อใด เมื่อนั้นอุณหภูมิของโลกอาจสูงขึ้นได้ถึง 2 องศาเซลเซียส ตัวเลขอาจจะดูน้อย แต่ผลกระทบนั้นมหาศาล เพราะสิ่งมีชีวิตได้วิวัฒนาการมาให้อยู่ในช่วงอุณหภูมิที่สมดุลกับชีวิตของมันมานาน อุณหภูมิที่ร้อนขึ้น 1-2 องศาเซลเซียสอาจส่งผลถึงการที่ต้นไม้จะออกดอกออกผลหรือไม่ หรือสัตว์หลายชนิดจะวางไข่ฟักเป็นตัวหรือไม่ และที่ 2 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์ก็มีการคาดการณ์กันว่าสิ่งมีชีวิตกว่าร้อยละ 30 เผชิญความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ผลผลิตข้าวและธัชพืชอาจลดลง หากวันนี้

ใครปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด

กิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์บนโลกนี่แหละที่มีส่วนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แทบทั้งหมด โดยส่วนใหญ่มาจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล คือ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ซึ่งมนุษย์เริ่มเผาผลาญเชื้อเพลิงเหล่านี้มากขึ้นตั้งแต่เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเมื่อไม่ถึง 200 ปีก่อน และท้ายที่สุดก็เป็นผลจากการใช้พลังงาน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการเดินทางขนส่ง เชื้อเพลิงสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมผลิตวัสดุข้าวของเครื่องใช้ เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าให้แก่อาคารบ้านเรือน ไฟฟ้าสำหรับการติดต่อสื่อสาร แต่โลกก็มีตัวเก็บกักคาร์บอนที่สำคัญคือต้นไม้ในป่า การเผาทำลายป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมจึงมีส่วนสำคัญในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนไม่น้อย และลดความสามารถในการเก็บกักคาร์บอนของโลกลง นอกจากนี้ การทำการเกษตรกรรมก็ยังปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่เกิดจากการย่อยสลายของซากสิ่งมีชีวิตด้วย

เมื่อรู้เหตุที่ทำให้มันเพิ่มสูงขึ้น ก็น่าจะพอรู้แล้วว่าจะชะลอการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกนี้ได้อย่างไร หากวันนี้เรายังเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว สักวันเราอาจเป็นเหมือนกบในหม้อน้ำเย็นที่ตั้งอยู่บนไฟ ที่ค่อย ๆ อุ่นขึ้นเรื่อย ๆ แทนที่จะกระโดดหนีหรือหาทางแก้ไข แต่กลับพยายามปรับตัวให้ทนต่อความร้อนนั้น จนในที่สุดเมื่อน้ำร้อนจนเดือดก็สายไปแล้วที่จะกระโดดหนี

บรรณานุกรม

  1. Website องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) http://www.tgo.or.th/ 2020/
  2. Website ศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา http://climate.tmd.go.th/content/article/ 10

 


   
อ้างอิง
แบ่งปัน:
1,421,859 views since 16 August 2018