สหภาพเคมีบริสุทธิ์และเคมีประยุกต์ระหว่างประเทศ (International Union of Pure and Applied Chemistry หรือ IUPAC) มีมติอย่างเป็นทางการ ประกาศชื่อธาตุใหม่ 4 ตัวในตารางธาตุ ดังต่อไปนี้
- ธาตุลำดับที่ 113 ชื่อ Nihonium สัญลักษณ์ Nh ค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการ RIKEN Nishina Center for Accelerator-Based Science (Japan) ประเทศญี่ปุ่น โดย Nh มาจากคำว่า Nihon ซึ่งเป็นคำเรียกชื่อประเทศญี่ปุ่น นับเป็นธาตุแรกที่ถูกค้นพบในเอเชีย
- ธาตุลำดับที่ 115 ชื่อ Moscovium สัญลักษณ์ Mc ค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการ Joint Institute for Nuclear Research, Dubna (Russia) ในประเทศรัสเซีย โดยชื่อธาตุได้มาจากชื่อเมือง Moscow ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันวิจัยแห่งนี้
- ธาตุลำดับที่ 117 ชื่อ Tennessine สัญลักษณ์ Ts ค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการ Oak Ridge National Laboratory (USA), Vanderbilt University (USA), Lawrence Livermore National Laboratory (USA) ซึ่งเป็นผู้ร่วมค้นพบธาตุนี้ ชื่อธาตุตั้งชื่อตามรัฐ Tennessee ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการแห่งนี้
- ธาตุลำดับที่ 118 ชื่อ Oganesson สัญลักษณ์ Og ค้นพบโดยทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการ Joint Institute for Nuclear Research, Dubna (Russia) และ Lawrence Livermore National Laboratory (USA) ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์ Yuri Oganessian ซึ่งยังมีชีวิตและอึทิศตนให้แก่การศึกษาวิจัยธาตุในกลุ่ม superheavy element
ธาตุทั้ง 4 เป็นธาตุหนัก (superheavy element) ที่ไม่สามารถพบในธรรมชาติแต่เป็นธาตุที่สังเคราะห์ขึ้นจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ในห้องปฏิบัติการ เป็นธาตุกัมมันตรังสี แต่ละชนิดมีสมบัติเฉพาะที่แตกต่างกันทั้งการจัดเรียงอิเล็คตรอน มวลอะตอมและจำนวนไอโซโทป การประกาศชื่อธาตุ 4 ธาตุใหม่นี้ ทำให้ตารางธาตุจะมีธาตุครบตั้งแต่เลขอะตอม 1 ไปจนถึงเลขอะตอม 118 ซึ่งทำให้ตารางธาตุคาบที่ 7 เต็มพอดี ถึงแม้ธาตุหนักยิ่งยวดที่สังเคราะห์ขึ้นนี้ไม่เสถียร และจะสลายตัวภายในเวลาเพียงเสี้ยววินาที แต่การสังเคราะห์ธาตุชนิดใหม่ๆนั้น อาจจะทำให้ตารางธาตุขยายไปถึงคาบที่ 8 ได้
ที่มา
http://www.trueplookpanya.com/learning/detail/32060
https://soscity.co/news/chemistry/4-new-elements-named/
ปุณิกา พระพุทธคุณ (2561) 4 ธาตุใหม่เติมเต็มตารางธาตุในคาบ 7. รอบรู้วิทย์, 46(210) มกราคม – กุมภาพันธ์ 2561, 7 – 9.
เรื่องโดย อัจฉราพรรณ โพธิ์ทอง สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล