Forum

แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

ชุมชนการเรียนรู้แบบมืออาชีพ

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
346 เข้าชม
(@piyachat)
Active Member
เข้าร่วม: 5 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 7
หัวข้อเริ่มต้น  

ความหมายและลักษณะของชุมชนการเรียนรู้แบบมืออาชีพ

ชุมชนการเรียนรู้แบบมืออาชีพ (professional learning community: PLC) เป็นการรวมกลุ่มของผู้ปฏิบัติงานแบบเดียวกัน มีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน (Ontario Principals' Council, 2008; Roberts & Pruitt, 2009; Stoll, Bolam, McMahon, Wallace,  & Thomas, 2006) สำหรับชุมชนการเรียนรู้ของครูนั้น เป็นการรวมตัวกันของครูเพื่อนำประสบการณ์จากการจัดการเรียนรู้และสิ่งที่ทดลองใช้ในห้องเรียนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบ่งปันกัน เกิดการสร้างความรู้ และยกระดับการทำหน้าที่ของครู โดยมีเป้าหมายสำคัญที่การพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนให้ดีขึ้น (McLaughlin & Talbert, 2010; Talbert, 2010) ดังนั้นการทำ PLC ต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างต่อเนื่องเป็นวงจรไม่รู้จบ PLC จึงเป็นเหมือนเครื่องมือที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องมีการพัฒนาตนเอง เกิดทักษะการเรียนรู้ และเป็นนักเรียนรู้ (learning person) (วิจารณ์ พานิช, 2555)

PLC มีลักษณะที่สำคัญคือ เน้นที่การเรียนรู้ มีวัฒนธรรมร่วมมือกันเพื่อการเรียนรู้ของทุกคน ทุกฝ่าย ร่วมกันตั้งคำถามต่อวิธีการที่ดี และตั้งคำถามต่อสภาพปัจจุบัน เน้นการลงมือทำ มุ่งพัฒนาต่อเนื่อง และเน้นที่ผลในที่นี้คือผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของนักเรียน (วิจารณ์ พานิช, 2555) ดังนั้น ชุมชนแห่งการเรียนรู้แบบมืออาชี จะมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ  การมีเป้าหมายร่วมกัน การเสวนาอย่างใคร่ครวญ การสะท้อนคิดอย่างกัลยาณมิตร และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของคนในกลุ่ม (Robert & Pruitt, 2009; Stoll, Bolam, McMahon, Wallace, & Thomas, 2006) ซึ่งการนำแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้แบบมืออาชีพมาใช้กับครูนั้น จะพบครู 3 กลุ่ม (Talbert, 2010) คือ กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มครูที่กระตือรือร้นและพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง มักเป็นผู้นำในกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีความพร้อมในการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ ยินยอมให้ความร่วมมือกับกิจกรรมต่างๆ ถึงแม้จะไม่เชื่อมั่นในแนวคิดนี้นัก และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ขอรอดูผลอยู่ห่างๆ ก่อน

ปัญหาประการหนึ่งที่ทำให้การดำเนินงานภายใต้ สังคมแห่งการเรียนรู้แบบมืออาชีพไม่ประสบผลสำเร็จ คือ ขาดแนวทางการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ครูขาดแรงจูงใจในการเข้าร่วมกิจกรรม  รวมถึงมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียนรู้ผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้แบบมืออาชีพนี้ (Talbert, 2010) ทั้งนี้ การใช้ระบบหนุนนำต่อเนื่อง หรือ coaching สามารถดึงความรู้และประสบการณ์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาช่วยให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามกระบวนการของการเรียนรู้ผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้แบบมืออาชีพได้ รวมถึงเรื่องราวผลสำเร็จของบุคคลหนึ่งๆ (individual success story) สามารถก่อให้เกิดแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันได้ Talbert (2010)

แนวทางการดำเนินการของชุมชนการเรียนรู้ของครูเพื่อศิษย์

การทำชุมชนการเรียนรู้ของครูเพื่อศิษย์ หรือ PLC นั้น ไม่ใช่เริ่มจากผู้บริหารต้องการให้ทำและทำโครงการมาให้ครูดำเนินการ แต่ต้องเริ่มจากครูร่วมกันแสดงความมุ่งมั่น และกำหนดค่านิยมหลัก เป็นเป้าหมาร่วมกัน จากนั้นจึงปฏิบัติโดยความสมัครใจ ร่วมคิด ร่วมทำและแยกกันทำ แต่เรียนรู้ร่วมกัน

ในหนังสือ Learning by Doing ได้เสนอแนะแนวทางการดำเนินการเพื่อจัดการการเปลี่ยนแปลงด้วยกระบวนการ PLC (อ้างถึงใน วิจารณ์ พานิช, 2555) ไว้ 7 ประการ ดังนี้

1. จัดโครงสร้างและระบบเพื่อหนุนการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ จากระบบตัวใครตัวมันมาเป็นระบบทีม โดยโครงสร้างของระบบงาน ระบบการจัดการเรียนการสอนต้องปรับเปลี่ยนให้เอื้อต่อการช่วยกันดำเนินการซึ่งมีเป้าหมายหลักคือการช่วยเหลือนักเรียนที่ล้าหลังให้เรียนตามเพื่อนทัน โดยที่การช่วยนั้นทำกันเป็นทีม หลายฝ่ายเข้ามาทำงานร่วมกัน และทำอยู่ภายในเวลาตามปกติของโรงเรียนไม่ใช่สอนนอกเวลา ร่วมทั้งมีเวลาสำหรับครูประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานของตน เพื่อหาทางพัฒนาวิธีการทำงานให้ได้ผลดียิ่งขึ้นเป็นวงจรพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องไม่รู้จบ

2. สร้างกระบวนการวัดเพื่อติดตามความเคลื่อนไหว และทำความเข้าใจเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดตัวชี้วัดความก้าวหน้า (progress indicators) ซึ่งควรวัดที่ผลการเรียนของนักเรียน ร้อยละของเวลาเรียนของนักเรียนที่เป็นการเรียนแบบลงมือทำ พฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน ร้อยละของนักเรียนที่มีปัญหาด้านการเรียนและด้านส่วนตัวที่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที นอกจากนั้น ยังต้องมีตัวชี้วัดความก้าวหน้าของพฤติกรรมการทำหน้าที่ของครู เช่น การแบ่งสัดส่วนเวลาในการทำหน้าที่ของครู ระหว่างการเตรียมออกแบบการเรียนรู้ การทำหน้าที่โค้ช หรืออำนวยความสะดวกให้แก่นักเรียนที่เรียนแบบ PBL การชวนนักเรียนทบทวนไตร่ตรองสิ่งที่ได้เรียนรู้ได้จากการลงมือปฏิบัติ การรวมกลุ่มกับทีมครูเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงาน เป็นต้น

ตัวชี้วัดความก้าวหน้าต้องมีน้อยตัว เฉพาะที่สำคัญ และต้องไม่ให้คุณให้โทษครูเป็นอันขาด เนื่องจาก PLC เป็นเครื่องมือของผู้ทำงานเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในที่ทำงาน ไม่ใช่เครื่องมือการตรวจสอบของฝ่ายบริหาร ทั้งนี้ ตัวชี้วัดความก้าวหน้าที่สำคัญที่สุด คือตัวชี้วัดความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นรายคน ที่ช่วยให้ครูรู้ว่านักเรียนคนไหนล้าหลัง คนไหนเรียนก้าวหน้าไปมากกว่ากลุ่ม และเมื่อมีการวัดความก้าวหน้าการเรียนรู้ของนักเรียนแล้ว ก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลผลการวัด รวมทั้งร่วมกันปรึกษาหารือว่าจะต้องทำอะไร อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่นักเรียน

3. เปลี่ยนแปลงทรัพยากรเพื่อสนับสนุนสิ่งสำคัญ ซึ่งทรัพยากรที่สำคัญที่สุด คือ เวลา ต้องเปลี่ยนแปลงการจัดการเวลาหรือการใช้เวลาเรียนของนักเรียน และเวลาทำงานของครูใหม่ ให้ทำงานเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนได้ดีกว่าแบบเดิม รวมทั้งให้สามารถทำงานแบบทีม ใช้พลังรวมหมู่เพื่อแก้ปัญหายากๆ หรือดำเนินการต่อประเด็นท้าทายและสร้างสรรค์ใหม่ๆ

4. ถามคำถามที่ถูกต้อง โดยคำถามสำคัญสำหรับโรงเรียนสำหรับช่วยให้เป็นโรงเรียนที่ดี มี 4 คำถาม คือ (1) ในแต่ละช่วงเวลาเรียน ต้องการให้นักเรียนได้ความรู้และทักษะอะไรบ้าง (2) รู้ได้อย่างไรว่า นักเรียนแต่ละคนได้เรียนรู้ความรู้และทักษะที่จำเป็นนั้น (3) ทำอย่างไร หากนักเรียนบางคนยังไม่เรียนสิ่งนั้น และ (4) ทำอย่างไรกับนักเรียนที่เก่งก้าวหน้าไปแล้ว

5. ทำตัวเป็นตัวอย่างในเรื่องมี่มีคุณค่า ข้อนี้กล่าวโดยตรงถึงครูใหญ่ หากต้องการให้ครูเอาใจใส่การเรียนรู้ของศิษย์ทุกคนเป็นรายตัว ครูใหญ่ต้องหยิบยกเรื่องนี้มาหารืออย่างสม่ำเสมอ หากครูใหญ่ต้องการให้ครูทำหน้าที่ช่วยเหลือนักเรียนโดทำงานเป็นทีม ก็ต้องจัดเวลาให้ครูได้ปรึกษาหารือและตัดสินใจร่วมกัน รวมทั้งจัดสิ่งสนับสนุนกิจกรรมช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนช้าเหล่านั้น

6. เฉลิมฉลองความก้าวหน้า แต่ต้องมีหลักฐานยืนยันถึงความก้าวหน้าของนักเรียน ซึ่งต้องมีระบบตรวจสอบหรือประเมินผลการเรียนรู้นั้นที่แม่นยำน่าเชื่อถือ ทั้งหมดมาจากการที่ครูและฝ่ายบริหารมีเป้าหมายร่วมกัน และมีใจจดจ่อเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน การเฉลิมฉลองมีประโยชน์คือ ช่วยยืนยันเป้าหมายและยืนยันความมุ่งมั่นในการดำเนินการร่วมกัน ทั้งนี้ การเฉลิมฉลองความสำเร็จเป็นกระบวนการเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงตามเป้าหมายที่กำหนด เป็นการส่งสัญญาณถึงการมีความมุ่งมั่นหรือการมีเป้าหมายร่วมกัน คือการดำเนินการฟันฝ่าความเคยชินเดิมๆ ไปสู่วิธีการใหม่ที่นักเรียนทุกคนได้รับความเอาใจใส่และการช่วยเหลือหากเรียนไม่ทัน และครูร่วมกันทำงานเป็นทีม รวมทั้งส่งสัญญาณให้สมาชิกของทีมเห็นว่าความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมเป็นอย่างไร มีคุณค่าอย่างไรทั้งกับศิษย์ พ่อแม่ และครู

7. เผชิญหน้ากับผู้ต่อต้านเป้าหมายร่วมของคณะครู นี่คือการจัดการความเสี่ยงในการจัดการการเปลี่ยนแปลง ครูใหญ่ต้องวางแผนเตรียมความพร้อมที่จะเผชิญสภาพที่มีครูบางคนแสดงพฤติกรรมไม่ร่วมมือและท้าทาย

 


   
อ้างอิง
แบ่งปัน:
1,348,772 views since 16 August 2018