Forum

แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

การประกันคุณค่าการศึกษา Educational value assurance

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
525 เข้าชม
IL Admin
(@il-admin)
Reputable Member Admin
เข้าร่วม: 7 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 134
หัวข้อเริ่มต้น  

         การศึกษาในปัจจุบัน นับว่ามีเรื่องที่ต้องพูดคุยกันในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องความห่วงใยต่อความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยไทยในสถานการณ์ที่มีนักศึกษาสมัครเรียนน้อยลง เรื่องการยกระดับการบริหารการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นกระทรวงอุดมศึกษา หรือเรื่องการแข่งขันคุณภาพการศึกษาของแต่ละสถาบันการศึกษา โดยวัดกันที่ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาทั้งจากหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอก ซึ่งการประเมินคุณภาพการศึกษาดังกล่าว ทำให้สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งได้รับการรับรองคุณภาพในระดับที่แตกต่างกันไป แต่ในภาพรวม ผลการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาก็ยังถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายในเรื่องการประเมินผลนั้นสะท้อนความเป็นจริงและนำไปปฏิบัติได้จริงเพียงใดในสถาบัน ดังนั้น ผลการประเมินหรือคำแนะนำจากคณะกรรมการประเมินนั้นจะทำได้มากหรือน้อยนั้นยังคงเป็นโจทย์ที่บุคลากรในสถาบันการศึกษาทุกฝ่ายต้องนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

          ดังนั้น การดำเนินงานการศึกษาที่แต่ละสถาบันการศึกษาถูกตรวจสอบจากผู้ประเมินในแต่ละปีการศึกษาถือว่าเป็นการแสดงถึงคุณภาพทางการศึกษาที่สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งปฏิบัติการในรายปี โดยผลที่คณะกรรมการประเมินให้จะเป็นในระดับใด ระดับพอใช้ ดี หรือดีมากนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพที่สถาบันการศึกษาบริหารจัดการการศึกษานั่นเอง หากดำเนินงานการศึกษาได้ตามเกณฑ์ก็จะถือว่าการศึกษามีคุณภาพ เช่น เรื่องการบริหารจัดการเกี่ยวกับนักศึกษา เรื่องคุณวุฒิและคุณสมบัติของอาจารย์ หรือเรื่องการบริหารงบประมาณ หากดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ให้เป็นไปตามเกณฑ์ก็จัดว่าการศึกษามีคุณภาพ จึงเกิดมีคำถามว่า

  1. การศึกษาที่วัดจากเรื่องเหล่านี้จะถือว่ามีคุณภาพได้เลย
  2. เมื่อสถาบันการศึกษาได้รับการรับรองว่ามีคุณภาพแล้ว องคาพยพทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากกระบวนการบริหารการศึกษานั้นจะเป็นสิ่งที่มีคุณภาพได้เลย
  3. การศึกษาที่สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งได้รับการรับรองคุณภาพนั้นจะถือว่าสถาบันการศึกษานั้นหรือสิ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตของสถาบันการศึกษานั้นมีคุณค่าด้วยเลย

          จากคำถามเรื่องสถานการณ์ของสถาบันการศึกษา การประเมินคุณภาพการศึกษา และสถาบันการศึกษาที่ได้รับรองคุณภาพแล้วจะถือว่าทุกองคาพยพของสถาบันการศึกษามีคุณภาพด้วย และเรื่องคุณภาพของสถาบันการศึกษากับคุณค่าการศึกษาเป็นเรื่องเดียวกันหรือแยกกัน ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงเสนอประเด็นเกี่ยวกับทางรอดของสถาบันการศึกษาด้วยการรับรองคุณค่าที่สถาบันการศึกษาจะต้องมีต่อผู้สนใจเข้ามาศึกษาและต่อสังคม ด้วยการรับรองคุณภาพหรือมาตรฐานการจัดการศึกษาที่ทำกันอยู่นี้ สังคมก็ยังมีคำถามต่อการบริหารจัดการการศึกษาของสถาบันการศึกษาอยู่เรื่อยมา เพราะสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองคุณภาพแล้วยังเป็นตัวอย่างองค์กรที่ดีให้กับสังคมไม่ได้ คือ ยังมีการฟ้องร้องกันในเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวก การเอารัดเอาเปรียบกัน การคอร์รัปชั่น การฆ่ากันเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ ดังนั้น การทำสถาบันการศึกษาให้มีคุณค่าต่อผู้เรียนและสังคม จึงนับว่าเป็นการต่อยอดจากการรับรองคุณภาพการศึกษาได้

ประกันคุณค่าการศึกษาคืออะไร

          เป็นที่ทราบกันดีว่าการศึกษา คือ การเรียนรู้ โดยการศึกษานั้นต้องมิใช่คิดกันเพียงแค่ในสถาบันการศึกษาเท่านั้น คือยังมีการศึกษาที่อยู่นอกสถาบันการศึกษาหรือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยด้วย ดังนั้น ในที่นี้ จึงนิยามเรื่องการศึกษาอย่างง่ายๆ ว่า การศึกษา คือ การเรียนรู้ที่มนุษย์แสวงหาเพื่อพัฒนาตนเองและสังคม และมนุษย์ที่มีการศึกษา ได้แก่ ผู้มีความรู้ความเข้าใจจนสามารถเอาตัวรอดและช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมได้ มนุษย์ที่ไม่มีการศึกษาหรือไม่มีความรู้ก็จะเป็นภาระของคนรอบข้างและสังคม ความเป็นภาระของสังคมของผู้ไม่มีการศึกษานี้คือการทำร้ายผู้อื่นและสังคมให้ได้รับความเดือดร้อน  การศึกษาจึงเป็นได้ทั้งในแง่แคบและกว้าง เพราะการศึกษาสามารถเป็นเครื่องมือพัฒนามนุษย์ได้เสมอ จึงเป็นที่ยอมรับว่าการศึกษานั้นมีความสำคัญมาก เพราะทำให้มนุษย์ไม่ใช่เป็นเพียงแค่มนุษย์รกโลก แต่เป็นมนุษย์ที่ช่วยโลกได้ โดยการจะเป็นมนุษย์ไม่รกโลกนี้ได้ก็ต้องผ่านการศึกษาหาความรู้ทั้งในระบบและนอกระบบมาช่วยพัฒนาตนเองแล้วไปช่วยโลกต่อ สรุปแล้ว การศึกษาที่จะได้รับการยอมรับหรือประกันคุณค่าได้ต้องเป็นการศึกษาในลักษณะดังนี้

  1. การศึกษาที่ช่วยให้มนุษย์มีระเบียบ

การศึกษาที่ได้รับการประกันคุณค่านี้นับว่าสูงกว่าการประกันคุณภาพ ต้องเป็นการศึกษาที่ทำให้มนุษย์เป็นคนมีระเบียบวินัย รู้จักหน้าที่ของตนเอง สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นและสังคมได้อย่างปกติสุข และเป็นการศึกษาที่มุ่งทำให้มนุษย์จัดการกับปัญหาภายในตนเอง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากความโลภ ความโกรธ และความหลง จนในที่สุด ทำให้ตนเองเอาชนะตนเองได้ ซึ่งนับว่าเป็นชัยชนะที่สูงสุด มนุษย์ที่ผ่านการศึกษามาในลักษณะนี้จึงไม่คิดเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น พร้อมทั้งปัญหาต่างๆ ในสังคม เช่น ปัญหาคอร์รัปชั่น ปัญหาการเล่นพรรคเล่นพวก  ก็จะหมดไป ดังนั้น จึงควรมีการประกันคุณค่าการศึกษาด้วย เพราะการรับรองคุณค่าการศึกษานี้จะช่วยทำให้มนุษย์มีระเบียบวินัยในตนเองมากขึ้นนั่นเอง

  1. การศึกษาที่ช่วยให้มนุษย์มีจิตใจสูง

การศึกษาที่ได้รับการประกันคุณค่านี้ย่อมช่วยทำให้มนุษย์มีจิตใจสูงส่ง ไม่เป็นทาสของความเห็นแก่ตัว เป็นการศึกษาที่มุ่งพัฒนาให้มนุษย์มีศักยภาพในการป้องกันตนเองจากสิ่งที่ไม่ดี เรียกว่าสิ่งที่ไม่ดีทั้งจากภายในจิตใจของตนเองและจากปัจจัยภายนอกก็ไม่สามารถทำอันตรายได้ เป็นมนุษย์ที่มีภูมิต้านทานจากสิ่งหลอกล่อเป็นอย่างดี ไม่ใช่จบการศึกษาแล้วสามารถทำสิ่งที่ไม่ดีอะไรก็ได้หากได้ผลประโยชน์ตอบแทน สรุปแล้ว มนุษย์ที่ผ่านการศึกษาแบบประกันคุณค่านี้จะไม่คดโกงหรือเอารัดเอาเปรียบสังคมอย่างแน่นอน เพราะเป็นผู้มีจิตใจที่ได้รับการขัดเกลามาอย่างเข้มข้นแล้ว

  1. การศึกษาที่ช่วยให้มนุษย์มีปัญญา

การศึกษาที่มีคุณค่าต้องเป็นการศึกษาที่พัฒนามนุษย์ให้มีปัญญา ทำให้มนุษย์สามารถแยกแยะชั่วดีได้ และที่จะลืมไม่ได้คือการศึกษานั้นต้องไม่ใช่การบ่มเพาะอาชญากรออกไปทำร้ายผู้คนและสังคม ต้องเป็นการศึกษาที่ช่วยมนุษย์ให้มีความสุขอย่างเหมาะสม ไม่ใช่เรียนไปทุกข์ไป ตลอดจนเมื่อจบการศึกษาออกไปแล้วก็ยังทุกข์มากขึ้นอีก การศึกษาเช่นนี้ไม่จัดว่ามีคุณค่าได้อย่างแท้จริง ถึงแม้จะเป็นการศึกษาในสถาบันการศึกษาที่ผ่านการรับรองคุณภาพมาแล้วก็ตาม ดังนั้น สถาบันการศึกษาที่จัดการศึกษาควรจะได้รับการประเมินเพื่อรับรองคุณค่าการศึกษาด้วย ซึ่งการรับรองคุณค่านี้ไม่ใช่พิจารณากันแค่ความรู้หรือการจบการศึกษาของนักศึกษาเท่านั้น เพราะในปัจจุบัน สังคมเต็มไปด้วยคนที่มีความรู้และจบการศึกษาแล้วคดโกงประเทศชาติบ้านเมือง

          สรุปแล้ว การประกันคุณค่าการศึกษานี้นับว่าเป็นเรื่องสำคัญมากในปัจจุบัน เพราะสถานการณ์ทางสังคมการศึกษาของไทยต่อไปจะวัดกันที่คุณค่าการศึกษาที่มีต่อตนเองหรือผู้เรียนและสังคม หากสถาบันการศึกษาผลิตคนที่มีแค่ความรู้ความเข้าใจ แต่ขาดความสามารถและขาดคุณธรรมจริยธรรมที่มีอยู่ในตนแล้ว คุณค่าของสถาบันการศึกษาและผู้ศึกษาที่จบออกไปจะถูกมองอย่างไร้คุณค่าจากสังคมได้

ทำไมต้องมีประกันคุณค่าการศึกษา

          การศึกษานั้นมีทั้งในระบบและนอกระบบ ส่วนการประกันคุณภาพการศึกษาที่แต่ละสถาบันการศึกษาได้รับการรับรองมาตรฐานนั้นมักเน้นไปที่คุณภาพของผลผลิต แต่ผู้เขียนมองว่าการศึกษาที่แท้จริงนั้นจะประเมินแค่คุณภาพคงไม่เพียงพอแล้วในปัจจุบัน เพราะสถานการณ์ทางการศึกษาของไทยและสังคมนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หากจะบริหารจัดการการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับและอยู่รอดปลอดภัยในสถานการณ์ทางการศึกษาได้อย่างมั่นใจ สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งควรบริหารจัดการปัญหาภายในและภายนอกสถาบันการศึกษาให้ได้ดังนี้

  1. ปัญหาภายในสถาบันการศึกษา

การประกันคุณค่าการศึกษาของสถาบันให้ได้นั้นต้องเริ่มด้วยการจัดการปัญหาที่มีอยู่ภายในองค์กรให้เรียบร้อย คือ ต้องบริหารจัดการทรัพยากรทุกอย่าง ตั้งแต่ปัจจัยนำเข้า (Input) การดำเนินการ (Process) ผลผลิต (Output) ให้ถูกต้อง ชัดเจน เป็นรูปธรรม และที่สำคัญต้องประกอบไปด้วยคุณธรรมจริยธรรม มีธรรมาภิบาล ปราศจากอคติ ไม่เล่นพรรคเล่นพวก ตัดสินให้รางวัลตามผลงานและลงโทษตามความผิด มีความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา สรุปแล้ว การประกันคุณค่าการศึกษานี้จะมีความเป็นไปได้อย่างเป็นรูปธรรมต้องเกิดขึ้นจากการบริหารจัดการภายในองค์กรให้บริสุทธิ์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะมิเช่นนั้นแล้ว การประกันคุณภาพการศึกษาที่ได้รับก็เป็นเพียงแค่การทำตามกระบวนการเท่านั้น ซึ่งไม่สะท้อนถึงคุณค่าที่สถาบันการศึกษามีต่อสังคมและมนุษย์ที่องค์กรผลิตออกไปก็ไม่มีคุณค่าต่อสังคมด้วย ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ที่สถาบันการศึกษาต้องประกันคุณค่าการศึกษาขององค์กรด้วย ซึ่งคงมิใช่แค่ผลการประเมินคุณภาพแล้วจะทำให้มีคุณค่าขึ้นมาได้

  1. ปัญหาภายนอกสถาบันการศึกษา

ผลลัพธ์ของการประกันคุณค่าการศึกษาที่จะมีให้กับสังคมนั่นเอง ด้วยที่ผ่านมา สังคมได้ประโยชน์จากการประเมินคุณภาพการศึกษาของสถาบันการศึกษาต่างๆ น้อยมาก การประเมินคุณภาพการศึกษาในรอบที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงแค่การประเมินว่าสถาบันการศึกษาทำอะไรมาเท่านั้น ซึ่งไม่ได้สะท้อนถึงคุณค่าที่จะเกิดขึ้นหลังจากมีการประเมินผลเลย ดังจะเห็นได้จากที่แต่ละสถาบันการศึกษาได้คะแนนการประเมินคุณภาพในระดับที่น่าพอใจ แต่เมื่อติดตามดูผลงานหลังจากนั้นแล้วก็ไม่ค่อยเห็นว่าสังคมจะได้ประโยชน์อะไรจากผลการประเมินเลย ดังนั้น สถาบันการศึกษาจะจัดว่าเป็นองค์กรที่มีคุณค่าหรือประกันคุณค่าได้ต้องเป็นหน่วยงานช่วยแก้ไขปัญหาสังคมให้มากขึ้น และที่สำคัญ สถาบันการศึกษาต้องเสริมสร้างคุณค่าการศึกษาด้วยการแก้ไขปัญหาภายในองค์กรให้ได้ก่อนจึงจะทำให้คุณค่าต่อสังคมมีผลเชิงประจักษ์

          สรุปแล้ว การที่จะต้องมีการประกันคุณค่าการศึกษานั้นเป็นเพราะการประกันคุณภาพการศึกษาที่วงการการศึกษาทำกันอยู่ในปัจจุบันเน้นไปที่การวัดหรือประเมินจากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมที่สัมผัสได้เท่านั้น เรียกว่าหากหาสิ่งที่ตรวจสอบไม่เจอ โอกาสที่จะประเมินผ่านหรือได้คะแนนนั้นนับว่าเป็นการยาก ดังนั้น การที่จะแก้ไขปัญหาการประเมินคุณภาพด้วยการประเมินคุณค่าการศึกษา จึงควรแก้ไขหรือพัฒนาสถาบันการศึกษาให้เป็นสถาบันที่สร้างคุณค่าให้กับผู้ศึกษาและสังคม

ประกันคุณค่าการศึกษาอย่างไร

          การประกันคุณภาพการศึกษาที่สถาบันการศึกษาดำเนินการกันอยู่เป็นการแสวงหาคุณภาพจากการบริหารงานที่ผ่านมา แต่คุณภาพที่แต่ละสถาบันได้การรับรองมาตรฐานจากคณะกรรมการที่เข้ามาตรวจประเมินด้วยเกณฑ์ที่สร้างขึ้นนั้นยังไม่เพียงพอสำหรับการปรับปรุงและพัฒนางานการศึกษาที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากที่หลายมหาวิทยาลัยในประเทศไทยกำลังประสบปัญหากับการไม่คุ้มทุนหรือแม้แต่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาก็ปิดกิจการไปหลายแห่ง เพราะไม่คุ้มทุนเหมือนกัน พร้อมทั้งมีการพยากรณ์ว่าอีกห้าปีข้างหน้าจะมีมหาวิทยาลัยปิดกิจการอีกหลายแห่ง ส่วนในประเทศไทยก็มีสถานการณ์ที่หมิ่นเหม่เหมือนกับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ดังนั้น เพื่อให้การประกันคุณภาพการศึกษาที่แต่ละสถาบันการศึกษาดำเนินการอยู่มีความเข้มข้นและเข้มแข็งมากขึ้น จึงควรมีแนวทางการนำการประกันคุณค่าการศึกษามาใช้ร่วมด้วยก็จะเป็นการดีมาก โดยการประกันคุณค่าการศึกษานี้มีแนวทางดังต่อไปนี้

  1. คนภายในสถาบันการศึกษามีคุณธรรมจริยธรรมในตน

บุคลากรในสถาบันการศึกษาต้องมีคุณธรรมจริยธรรมประกอบการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองในองค์กร เพราะหากบุคลากรในองค์กรไม่มีคุณธรรมจริยธรรมแล้ว ความเลวร้ายต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นตามมา เช่น การขาดความน่าเชื่อถือ การไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม เป็นต้น ดังนั้น คนภายในองค์กรฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร  คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ล้วนต้องปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนเองอย่างถูกต้องและมีคุณธรรมจริยธรรม ผู้บริหารต้องบริหารจัดการองค์กรอย่างมีคุณธรรมจริยธรรมประกอบ เช่น มีความยุติธรรม ปราศจากอคติหรือความลำเอียง ไม่เล่นพรรคเล่นพวก มีความโปร่งใส ซื่อตรง ไม่คดโกง ตรวจสอบได้  ฝ่ายคณาจารย์ต้องศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ มาบริหารจัดการการเรียนการสอนให้ทันสมัยอยู่เสมอ สร้างสรรค์องค์ความรู้ให้กับนักศึกษา ส่วนฝ่ายเจ้าหน้าที่ในองค์กรต้องพร้อมสนับสนุนการบริหารการศึกษาขององค์กร พร้อมทั้งให้บริการผู้มารับบริการอย่างรวดเร็วและถูกต้อง หากดำเนินการได้เช่นนี้ การรับประกันคุณค่าการศึกษาที่องค์กรดำเนินการอยู่ย่อมจะเป็นที่ยอมรับและเป็นหน่วยงานทางการศึกษาที่สังคมจะขาดไม่ได้ เรียกว่าสถาบันการศึกษาเช่นนี้สามารถเป็นเสาหลักในการพัฒนาสังคมได้และเป็นสถาบันการศึกษาที่ไม่มีทางล่มจ่มตามที่หวั่นกลัวกันอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน

  1. คนภายนอกสถาบันการศึกษาสนับสนุนการบริหารงาน

หน่วยงานภายนอกหรือคนภายนอกสถาบันการศึกษาต้องสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานทางการศึกษาที่ได้รับการยอมรับในการประกันคุณค่าทางการศึกษา เพราะหากสังคมขาดสถาบันการศึกษาที่เป็นหน่วยงานสร้างคนให้เป็นคนที่มีคุณค่าให้กับสังคมแล้ว สังคมจะอยู่รอดปลอดภัยได้อย่างไร และสถาบันการศึกษาที่ได้รับประกันคุณค่าการศึกษาแล้วย่อมเป็นสถาบันที่ผลิตคนออกไปรับใช้และพัฒนาสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุขได้ ตรงกันข้าม หากสังคมมุ่งแต่การประกันคุณภาพของสถาบันการศึกษาแล้ว สังคมก็ยังรับประกันไม่ได้ว่าคนที่จบการศึกษาออกไปแล้วจะสร้างคุณค่าให้กับสังคมได้ เพราะคนที่จบการศึกษาออกไปแล้วสร้างได้เพียงมูลค่าในเชิงรูปธรรมหรือจำนวนต่างตอบแทนในเชิงวัตถุ ด้วยสังคมที่ได้คนลักษณะเช่นนั้นย่อมเป็นสังคมที่จะมีแต่ความวุ่นวาย เพราะต่างก็แสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวเองเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการศึกษาที่เน้นการประกันคุณค่าการศึกษาแล้ว ผู้ที่จบการศึกษาออกไป ย่อมมองประโยชน์สังคมหรือส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนแน่นอน

          จากที่กล่าวมาทั้งหมดในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการแสดงให้เห็นว่าการบริหารการศึกษาในปัจจุบันที่มีการประเมินหรือประกันคุณภาพการศึกษานั้นยังไม่เพียงพอ ควรมีการประเมินหรือประกันคุณค่าการศึกษาของสถาบันการศึกษาด้วย เพราะที่ผ่านมา หลายสถาบันที่ได้รับการประเมินหรือประกันคุณภาพการศึกษาแล้วก็ยังไม่สามารถเป็นหน่วยงานทางการศึกษาสำหรับการพัฒนาคนในสังคมได้อย่างเสมอต้นเสมอปลายหรือได้มาตรฐานสากล แต่ถ้าได้มีการประกันคุณค่าการศึกษาด้วยแล้วย่อมจะทำให้การบริหารการศึกษาเข้มแข็งขึ้น และนักศึกษาที่จบการศึกษาออกไปย่อมจะเป็นผู้สร้างสรรค์สังคมและเป็นผู้จรรโลงสังคมให้มีความสุข ความสงบ และนำมาซึ่งความร่มเย็นได้

 

 

เรื่องโดย ดร.มนัสวี ศรีนนท์ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล


   
อ้างอิง
แท็กหัวข้อ
แบ่งปัน:
1,395,857 views since 16 August 2018