Forum

แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

การศึกษาตามแนวจิตตะ The Education base on Citta (thoughtfulness)

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
551 เข้าชม
IL Admin
(@il-admin)
Reputable Member Admin
เข้าร่วม: 7 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 134
หัวข้อเริ่มต้น  

     อิทธิบาท 4 เป็นหลักคุณธรรมจริยธรรมในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงสอนด้วยประสงค์ให้ชาวพุทธประสบความสำเร็จในกิจการงานต่างๆ ที่ลงมือทำ ดังนั้น หากอยากให้ตัวเองประสบความสำเร็จจึงต้องนำหลักธรรมดังกล่าวมาบูรณาการใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันให้ได้

     จิตตะ เป็นหลักธรรมข้อที่ 3 ในอิทธิบาท 4 มุ่งไปที่การบริหารจิตใจไม่ให้อ่อนแอ ให้มีความมุ่งมั่นต่อการกระทำการงาน ได้แก่ การเรียน การทำงาน หรือการดำเนินชีวิต กล่าวคือในความเป็นจริงของวิถีชีวิต ไม่มีทางที่กิจการที่ลงมือทำจะประสบความสำเร็จไปเสียทั้งหมด เรียกว่าทำอะไรๆ สักร้อยอย่าง อาจจะสำเร็จเพียงอย่างเดียวก็ได้ ถึงกระนั้น ก็ไม่ควรท้อถอย ควรตั้งหน้าตั้งตาทำสิ่งนั้นๆ ต่อไป ด้วยหากลงมือทำต่อไปเรื่อยๆ ความสำเร็จตามที่คาดหวังย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ไม่เกิดขึ้นในวันนี้ ก็วันหน้า ซึ่งเมื่อทุกอย่างในกิจการลงตัวหรือสมเหตุสมผลแล้ว ความสำเร็จในสิ่งที่ทำย่อมเป็นไปได้อย่างแน่นอน

     อุปสรรคหรือปัญหาอย่างหนึ่งของคนเราคือการไม่รู้จักการรอคอย การอยากประสบความสำเร็จไปเสียทุกอย่าง เรียกว่าทำอะไรก็อยากสำเร็จหรือได้กำไรนั่นเอง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการลงมือทำนั้น ไม่ใช่จะเป็นลักษณะเดียวกันทั้งหมด บางอย่าง ความสำเร็จหรือการได้กำไรก็ไม่ใช่ในเชิงวัตถุเสมอไป การได้ความรู้สึกที่ดีหรือได้ความสบายใจก็จัดเข้าในความสำเร็จได้เหมือนกัน ดังนั้น จิตตะหรือการเอาใจใส่ ซึ่งเป็นคุณธรรมจริยธรรมต่อเนื่องจากการมีฉันทะและวิริยะนั้นสามารถมองได้ทั้งในแง่การประสบความสำเร็จแล้วจะบริหารจัดการอย่างไรต่อไป หรือพอใจและมีความเพียรพยายามแล้วก็ไม่ได้ดังใจหวังจะบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดความสำเร็จขึ้นได้

     สรุปแล้ว จิตตะที่กล่าวมานี้เป็นหลักการที่สัมพันธ์กับทุกเรื่องในชีวิตและสัมพันธ์กับหลักฉันทะและวิริยะ แต่หากกล่าวเฉพาะเรื่องการศึกษาแล้ว จิตตะสามารถเป็นแนวคิดหรือเป็นแนวทางแห่งการศึกษาเล่าเรียนดังนี้

  1. ความพอใจในการศึกษาเล่าเรียน หากปราศจากการเอาใจใส่ แรงบันดาลใจก็ขาดหาย กล่าวคือการศึกษาเล่าเรียนของคนเรา หากดำเนินการตามหลักฉันทะ ความพึงพอใจแล้ว ก็จะเป็นการศึกษาที่หึกเหิมในช่วงแรกๆ เป็นรูปแบบการศึกษาแบบไฟไหม้ฟาง ไม่มีความยั่งยืน ขยันเป็นพักๆ หากเจออุปสรรคก็ถอยได้ง่าย ดังนั้น การศึกษาเล่าเรียนหากขาดเสียซึ่งการเอาใจฝักใฝ่อย่างต่อเนื่องแล้ว เป็นไปได้ว่าการศึกษาเล่าเรียนจะค่อยๆ หมดแรงบันดาลใจหรือเฉื่อยชาลงไปเรื่อยๆ ตรงกันข้าม หากมีความพึงพอใจที่ผสมปนเปด้วยการเอาใจใส่แล้วย่อมจะทำให้การศึกษาเล่าเรียนมีแรงฮึดสู้ ไม่ท้อถอย หากมีอุปสรรค ก็จะคิดหาทางออกหรือปรับปรุงพัฒนาได้ในที่สุด
  2. ความเพียรพยายามในการศึกษาเล่าเรียน หากปราศจากการเอาใจใส่ ความตั้งใจอย่างต่อเนื่องก็ขาดหาย กล่าวคือการศึกษาเล่าเรียนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความเอาใจใส่ผสมกับความเพียรพยายาม เพราะลำพังความตั้งใจหรือวิรยะอุตสาหะเพียงอย่างเดียวย่อมประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ยาก หมายความว่า การกระทำของคนเรา รวมทั้งการศึกษาเล่าเรียนด้วย จะมีเพียงบางอย่างเท่านั้นที่ได้ดังใจหวังหรือประสบความสำเร็จ ดังนั้น การศึกษาเล่าเรียนจึงต้องอาศัยการเอาใจใส่อย่างไม่ขาดสาย มีความเข้มข้น หากตั้งใจแล้ว ผลลัพธ์ที่คาดหวังไม่เกิดขึ้นก็จะสามารถประคับประคองตัวเองให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้ และในที่สุดก็จะสามารถเห็นช่องทางแห่งความสำเร็จได้ ด้วยการมีจิตตะเป็นหลักบูรณาการนั่นเอง

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า การศึกษาเล่าเรียนของคนเรา นอกจากอาศัยความพอใจและความเพียรพยายามอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังจำเป็นต้องอาศัยจิตตะหรือการเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอด้วย ดังนั้น จิตตะจึงถือว่าเป็นคุณธรรมจริยธรรมที่ช่วยประคับประคองอารมณ์ดีและร้าย หรืออารมณ์ด้านบวกและด้านลบที่เกิดขึ้นในขณะลงมือทำกิจกรรมต่างๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้

-------------------------------

 

 

เรื่องโดย ดร.มนัสวี ศรีนนท์ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล


   
อ้างอิง
แบ่งปัน:
1,395,857 views since 16 August 2018