Forum

แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

การศึกษาตามแนวจินตามยปัญญา

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
373 เข้าชม
(@manatsawee-srinont)
Reputable Member
เข้าร่วม: 5 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 111
หัวข้อเริ่มต้น  

       

       เรื่องการศึกษา หากถามนักวิชาการอาจให้ความหมายหรือนิยามไปตามแนวคิดและทฤษฎีที่เรียนมา แต่หากถามคนทั่วไปอาจมองว่าการศึกษา คือ การเข้าชั้นเรียนแล้วมานั่งเรียนเขียนอ่านตามครู อาจารย์ สอน ดังนั้น การศึกษาที่แต่ละฝ่ายมองก็จะมีมุมมองที่แตกต่างกันไป ทั้งแบบผิวเผินและแบบละเอียด เป็นการมุ่งไปสู่ความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการหรือการพัฒนาตนเองให้สามารถอ่านออกเขียนได้นั่นเอง เป็นเรื่องของการสร้างความรู้และการพัฒนามนุษย์ในสังคมให้เจริญก้าวหน้าจนสามารถเอาตัวรอดปลอดภัยได้

       จากที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เห็นว่าการศึกษานั้นเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่การศึกษายังไม่สามารถเป็นเครื่องมือพัฒนามนุษย์และสังคมได้อย่างเต็มที่อาจเป็นเพราะมุมมองหรือทัศนคติ ตลอดจนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาของแต่ละคนในสังคมยังไม่สอดคล้องหรือตรงกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ละคนในสังคมอาจมองปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยหลักการทางศึกษาที่แตกต่างกันมากจนไม่สามารถที่จะนำหลักการทางการศึกษามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริงๆ ซึ่งหากแต่ละคนมองปัญหาด้วยแนวคิดและทฤษฎีคล้ายๆ กันหรือไม่แตกต่างกันมากนัก ย่อมมีแนวโน้มที่ปัญหาจะถูกแก้ไขด้วยวิธีการที่แต่ละคนเห็นไม่แตกต่างกันได้ แต่การที่กล่าวเช่นนี้ ไม่ใช่หมายความว่าทุกคนในวงการการศึกษาเวลาแก้ปัญหาทางการศึกษาจะคิดและทำเหมือนกันหมดทุกคน เพียงแต่หากทุกคนมีหลักการและแนวคิดทางการศึกษาที่ไม่แตกต่างกัน ย่อมมีโอกาสที่ปัญหาทางการศึกษาจะถูกแก้ไขได้ง่ายกว่า

        สำหรับบทความนี้ ผู้เขียนต้องการแสดงให้เห็นถึงปัญหาทางการศึกษาที่เกิดขึ้นจากความรู้ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างนักวิชาการและคนทั่วไป ตลอดจนต้องการที่จะนำเสนอถึงปัญหาทางการศึกษาในปัจจุบันที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่เรื่องเกี่ยวกับความรู้เท่านั้น แต่ยังลามไปถึงเรื่องเนื้อหาที่ต้องการให้เกิดขึ้นในผู้เรียนหรือผู้ศึกษาด้วย ซึ่งมีอยู่หนึ่งทักษะ ได้แก่ ทักษะการคิด เป็นทักษะที่ควรเกิดขึ้นกับผู้เรียนเป็นอย่างยิ่ง แต่ตามสภาพการณ์ที่เป็นจริงของการศึกษาในสังคมไทยปัจจุบัน ทักษะนี้แทบจะเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ที่คนในวงการการศึกษาเน้นเท่านั้น หรือแม้แต่คนนอกวงการการศึกษาก็ได้แต่พูดกันเพียงผ่านๆ เท่านั้น แต่ถ้าจะให้เกิดขึ้นจริงๆ ในชีวิตทางการศึกษานั้นแทบจะหาได้ยาก ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องการศึกษาเช่นไรจะสามารถเป็นการศึกษาที่กระตุ้นให้เกิดการคิดอย่างแท้จริงหรือเกิดจินตามยปัญญาได้ จะได้นำเสนอเป็นข้อคิดในประเด็นต่อไปนี้

สภาพทั่วไปเกี่ยวกับปัญหาทางการศึกษา

       ในเรื่องปัญหาการศึกษา สำหรับนักการศึกษาจัดว่าเป็นเรื่องง่ายที่จะตอบ แต่สำหรับคนทั่วไปแล้วอาจตอบได้ยากอยู่เหมือนกัน ที่กล่าวเช่นนี้ก็ด้วยเหตุผลว่าคำตอบที่นักวิชาการตอบนั้นมักจะเป็นคำตอบตามหลักการหรือตามแนวคิดและทฤษฎี ส่วนคนทั่วไป มักจะตอบตามประสบการณ์ที่แต่ละคนมีอยู่ ดังนั้น จึงขอขมวดปมเกี่ยวกับสภาพการศึกษาทั่วไปเป็น 2 ประเด็นปัญหาใหญ่ๆ ดังนี้

  1. ปัญหาการสอนของผู้สอน

               ในวงการการศึกษาของไทยส่วนใหญ่ มักมองผู้สอนหรือครู อาจารย์ เป็นตัวบ่งชี้ถึงการศึกษาว่าจะเจริญหรือไม่เจริญได้ จึงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับการจัดการศึกษา คือ ทำอย่างไรจะให้ครู อาจารย์เป็นผู้สอนที่เป็นต้นแบบหรือเป็นผู้กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนที่เสริมสร้างกระบวนการคิด เป็นการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียนสามารถคิดเป็น ไม่ใช่เป็นการเรียนการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียนรับฟังและจดจำให้ได้มากๆ แล้วก็นำสิ่งที่จดจำได้ไปสอบแข่งขันกันเพื่อเข้าทำงานเท่านั้น เพราะหากเป็นเช่นนี้ สังคมโดยรวมจะได้ประโยชน์น้อยมาก ด้วยผลผลิตเช่นนี้ จะทำได้เพียงเป็นผู้ตามที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้างเท่านั้น ส่วนการได้ผู้นำหรือผู้ที่จะสามารถสร้างสิ่งใหม่นั้นย่อมเป็นไปได้ยาก สรุปแล้ว สภาพการศึกษาของไทยส่วนหนึ่งและเป็นส่วนใหญ่ที่ผู้เรียนไม่สามารถคิดเป็นนั้นเกิดจากวิธีการสอนของผู้สอนนั่นเอง จึงจำเป็นต้องปฏิรูปที่ผู้สอนเป็นสำคัญ

  1. ปัญหาการเรียนของผู้เรียน

               ปัญหาการศึกษาไทยนอกจากเกิดจากการจัดการเรียนการสอนของผู้สอนแล้ว ส่วนหนึ่งก็มาจากนิสัยหรือวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย ดังจะเห็นได้จากหลายๆ แนวคิดและทฤษฎีที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเข้าสู่องค์ความรู้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาค้นคว้าหรือการตั้งคำถาม ในสิ่งที่เรียนแล้วแสวงหาคำตอบ ดังนั้น ความรู้ที่ได้จากผู้สอนจึงนับเป็นส่วนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการได้มาซึ่งความรู้ด้วยตนเองของผู้เรียน  แต่ในสภาพความจริงของผู้เรียนไทยมักจะพึ่งผู้สอนเป็นหลัก หากผู้สอนสอนไม่ดีหรือสอนไม่รู้เรื่อง สอนไม่ชัดเจนแล้ว โอกาสที่ผู้เรียนจะประสบความสำเร็จในการศึกษาหาความรู้นั้นย่อมเป็นไปได้ยาก ตรงกันข้าม  หากผู้เรียนสามารถเป็นผู้คิดเป็นได้เอง การศึกษาที่พึ่งเนื้อหาจากผู้สอน  ก็จะลดน้อยลง ตลอดจนปัจจัยภายนอกต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมก็จะเป็นอุปกรณ์ทางการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ สภาพการณ์ดังกล่าวจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อผู้เรียนใช้วิธีการคิดสนับสนุนการเรียนรู้เป็นสำคัญ

การศึกษาตามแนวจินตามยปัญญา

        ตามที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าปัญหาการศึกษาไทยนั้นทั้งผู้สอนและผู้เรียนจำเป็นต้องปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ใหม่เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายผู้สอนต้องปรับปรุงกระบวนการสอนใหม่และฝ่ายผู้เรียนก็ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการการเรียนใหม่เช่นกัน ทั้งสองฝ่ายต้องเน้นการกระตุ้นการคิด เพราะหากผู้สอนเน้นการสอนให้คิดและผู้เรียนได้คิดเป็นแล้วย่อมเป็นการพัฒนาการศึกษาไทยในภาพรวมได้เอง ดังจะได้เสนอลักษณะการศึกษาตามแนวคิดจินตามยปัญญา ดังนี้

  1. คิดจากผลไปหาเหตุ

               ในประเด็นนี้ ฝ่ายผู้สอนต้องสามารถนำพาผู้เรียนให้สามารถจินตนาการหรือเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ ผู้สอนจะต้องบริหารการสอนของตนเองด้วยการใช้สื่อการสอนให้มาก มุ่งสอนให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งที่เรียนให้ได้มากที่สุด เช่น การสอนเรื่องการให้ทาน ผู้สอนควรที่จะได้มีกิจกรรมหรือโครงการบริจาคหรือทำบุญใส่บาตร ซึ่งเป็นการดีกว่าที่จะพูดให้ฟังว่าอะไรคือทานและทานมีประโยชน์อย่างไร ฝ่ายผู้เรียนเมื่อมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งที่ผู้สอนต้องการสื่อให้รู้และเข้าใจแล้วก็ต้องสามารถคิดเชื่อมโยงไปสู่แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการให้ให้ได้ เรียกว่าเป็นการใช้การปฏิบัติสะท้อนหาหลักการนั่นเอง 

  1. คิดจากเหตุไปหาผล

               ในประเด็นนี้ ฝ่ายผู้สอนต้องสามารถบริหารการสอนของตนเองให้ผู้เรียนผู้ศึกษาสามารถคิดจินตนาการจากสิ่งที่เรียนเฉพาะไปสู่สิ่งที่มีลักษณะเหมือนกันทั้งหมดหรือใกล้เคียงกันได้ โดยที่ผู้สอนไม่ต้องสอนทุกเรื่อง เรียกว่าผู้สอนต้องสอนให้ผู้เรียนคิดเป็นให้ได้ ฝ่ายผู้เรียนก็ต้องเป็นผู้สนใจคิดตั้งคำถามในสิ่งที่เรียน ไม่ใช่เป็นผู้เรียนก็ทำหน้าที่เพียงแค่ผู้รับสารหรือข้อมูลจากผู้สอนเท่านั้น ดังนั้น ผู้เรียนจำเป็นต้องฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้มุ่งมั่นต่อการเรียนรู้และต้องคิดวิเคราะห์ข้อมูลที่รับมาทางประสาทสัมผัสเพื่อให้การเรียนรู้ของตนเองเกิดการพัฒนา

วิเคราะห์การศึกษาตามแนวจินตามยปัญญา

            สำหรับการวิเคราะห์ในประเด็นนี้ ที่ผ่านมาการศึกษาไทยขาดการต่อยอดแนวคิดและทฤษฎีเก่าๆ ตลอดจนขาดสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงต่อๆ มา เพราะการศึกษาไทยมุ่งเน้นแค่สอนให้จดจำให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้นำไปแข่งขัน ตลอดถึงผู้สอนหรือครู อาจารย์ ก็เน้นสอนให้ผู้เรียนจดจำสิ่งที่สอนให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้ประเมินเป็นคะแนนสอบ เรียกว่าถ้านักเรียนนักศึกษาได้คะแนนในการสอบเยอะก็เท่ากับว่าตนเองสอนดี แต่ในที่สุด การจัดการเรียนการสอนของผู้สอนและผู้เรียนตามสภาพดังกล่าวก็ได้พิสูจน์แล้วว่าสังคมโดยรวมยังไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร ดังนั้น การสอนและเรียนตามแนวจินตามยปัญญาจึงควรจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับปัญหาการศึกษาไทยในปัจจุบันได้ โดยมีวิธีการประยุกต์ใช้ดังนี้

  1. สร้างแนวการสอนที่เหมาะสมให้กับผู้สอน

                ต้องสร้างรูปแบบการสอนให้เหมาะสมกับยุคสมัย เนื่องจากผู้เรียนในแต่ละช่วงวัยมีความแตกต่างกัน ดังนั้น ผู้สอนจะต้องพัฒนารูปแบบการสอนของตนเองให้เหมาะสมหรือเข้ากันได้กับผู้เรียน รูปแบบการสอนที่เคยใช้กับผู้เรียนในปีนี้ก็ใช่ว่าจะใช้ได้กับผู้เรียนในปีถัดไปได้ ดังจะเห็นได้จากวงการการศึกษามีปรัชญาการศึกษาใหม่ๆ ออกมาให้คนในวงการได้ศึกษาเรื่อยมา ยิ่งการศึกษาในยุคนี้แล้ว มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก การยึดอยู่กับระบบหรือรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งนานๆ ย่อมมีแต่เสียกับเสีย เพราะเมื่อใช้รูปแบบเดิมสอนไปนานๆ ผู้เรียน อาจหมดความสนใจได้ และอาจส่งผลให้การเรียนการสอนหมดศักยภาพไปด้วย สรุปแล้ว ผู้สอนจะต้องพัฒนารูปแบบการสอนของตนเองอยู่เสมอ จึงจะทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้

  1. สร้างแนวการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับผู้เรียน

               ผู้เรียนต้องฝึกฝนการเป็นนักคิด นักเรียนรู้ ให้เกิดขึ้นในตนเอง ให้ได้ โดยต้องปรับวิธีการเรียนรู้ของตนเอง จากเดิมผู้เรียนมุ่งรอรับความรู้จากผู้สอนอย่างเดียว ต้องปรับเปลี่ยนตนเองจากผู้รอความรู้ เป็นผู้แสวงหาความรู้ ซึ่งรูปแบบการเรียนรู้แบบนี้ ผู้สอนก็ไม่ได้หายไปไหน เพียงผู้เรียนได้ใช้วิธีการใหม่เพื่อเข้าถึงความรู้ให้กับตนเองเท่านั้น ความรู้เป็นสมบัติของโลก ดังนั้น การอ้างสิทธิ์หรือการเป็นเจ้าของ ของความรู้จึงไม่ใช่แค่ผู้สอนคนเดียวอย่างแน่นอน ความรู้จึงเป็นของทุกคน ถ้าทุกคนมีความสนใจใคร่รู้ต่อความรู้ ความรู้ย่อมเป็นสมบัติของผู้สนใจนั้นๆ

           กล่าวโดยสรุปแล้ว ปัญหาการศึกษาไทยตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาก็มีปัญหามากมาย แต่เมื่อมองให้ลึกถึงธรรมชาติแห่งการเรียนรู้ของคนไทยแล้ว คนไทยมักจะยกเรื่องนี้ให้เป็นหน้าที่ของผู้สอนหรือครู อาจารย์ ว่าเป็นเจ้าของแห่งความรู้  เมื่อผู้สอนพูดอะไรก็ให้ผู้เรียนเชื่อฟัง ห้ามถาม ห้ามโต้แย้ง เพราะนั่นเท่ากับว่าผู้เรียนไม่เชื่อฟังและไม่เคารพผู้สอน ส่วนผู้เรียนคนไทยก็มักมีวัฒนธรรมการเชื่อตามผู้สอน  ไม่แตกแถว ดำเนินตนเองตามที่ผู้สอนบอกกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า การศึกษาไทยที่ให้เดินตามผู้สอนอย่างเดียวและผู้เรียนที่ให้เชื่อฟังครูทุกอย่างนั้น ยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนาการศึกษาให้ทันโลก มิหนำซ้ำ รูปแบบการศึกษาดังกล่าวยังทำให้การศึกษาล้าหลัง ไม่สามารถก้าวทันนานาอารยประเทศได้ ดังนั้น ปัญหาการศึกษาไทยไม่ว่าจะในอดีตหรือ ในปัจจุบันจะแก้ไขได้ ด้วยการมุ่งเน้นให้ผู้สอนและผู้เรียนคิดเป็นให้ได้ ไม่ใช่สอนแค่ให้ผู้เรียนเดินตามในสิ่งที่ตนเองสอนเท่านั้น ผู้เรียนก็ต้องเรียนด้วยความคิด ไม่ใช่เรียนเพื่อเก็บข้อมูลไว้ในสมองเช่นกัน ท้ายที่สุด เมื่อผู้สอนและผู้เรียนต่างเน้นกระบวนการคิด ต่อไปทักษะการใช้ชีวิตอย่างรู้เท่าทันโลกและเอาตัวรอดก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะได้ผ่านการคิดวิเคราะห์มาแล้วอย่างสมเหตุสมผล

 

โดย ดร.มนัสวี ศรีนนท์ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล


   
อ้างอิง

ทิ้งคำตอบไว้

ชื่อผู้แต่ง

อีเมลผู้เขียน

ตำแหน่ง *

 
ดูตัวอย่าง แก้ไข 0 ครั้ง บันทึกแล้ว
แบ่งปัน:
1,257,917 views since 16 August 2018