Forum

แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

การศึกษาตามแนววิมังสา The Education base on Vimamsa (investigation)

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
637 เข้าชม
IL Admin
(@il-admin)
Reputable Member Admin
เข้าร่วม: 6 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 134
หัวข้อเริ่มต้น  

     กิจกรรมแต่ละอย่างที่คนเราทำ จะเกิดความสำเร็จแล้วสำเร็จอีก หรือล้มเหลวแล้วล้มเหลวอีก ตลอดจนพลิกจากความล้มเหลวแล้วเกิดความสำเร็จ หรือสำเร็จแล้วกลับเกิดความล้มเหลว การที่เกิดสภาพการณ์เช่นนี้กับกิจกรรมที่ทำนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะไม่มีความพอใจ (ฉันทะ) ความเพียรพยายาม (วิริยะ) ความตั้งใจ (จิตตะ) แต่เป็นเพราะขาดการคิดวิเคราะห์ (วิมังสา) ในกิจกรรมที่ทำไปแล้วว่าจะไม่ให้เกิดความล้มเหลวได้อย่างไร หรือจะให้เกิดความสำเร็จต่อไปเรื่อยๆ ได้ด้วยวิธีการไหน ดังนั้น การทำกิจกรรมจึงควรมีการพิจารณาไตร่ตรองอยู่เสมอ ไม่ใช่จะไตร่ตรองเฉพาะกิจกรรมที่ทำแล้วล้มเหลวเท่านั้น แต่กับกิจกรรมที่ทำแล้วสำเร็จก็ควรคิดไตร่ตรองด้วยเหมือนกัน ยิ่งกิจกรรมที่ทำแล้วเกิดความสำเร็จยิ่งต้องคิดไตร่ตรองให้มากขึ้น ดังคำกล่าวที่มักได้ยินกันอยู่เสมอว่า “การแสวงหาความสำเร็จนั้นนับว่าทำได้ยากแล้ว การรักษาความสำเร็จไว้ให้ยืนยาวต่างหากที่ยากยิ่งกว่า”

     วิมังสานี้จัดว่าเป็นคุณธรรมจริยธรรมประการสุดท้ายในอิทธิบาทธรรม 4 คือ เป็นการนำสิ่งที่ทำ คำที่พูด มาพิจารณาทวบทวนหรือไตร่ตรองให้ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อจักนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เปรียบได้กับการศึกษาเล่าเรียนที่จะประสบความสำเร็จต่อเนื่องอย่างยั่งยืนได้ ไม่ใช่อาศัยเพียงแค่การคิดไตร่ตรองเชิงบวกอย่างเดียวเท่านั้น เพราะในโลกแห่งความจริงนั้น การคิดไตร่ตรองเชิงลบที่แฝงอยู่กับเชิงบวกก็ต้องคิดคาดคะเนไว้ด้วย เพราะหากคิดคาดการณ์ถึงสถานการณ์เชิงลบไว้ก่อนย่อมสามารถที่จะควบคุมตนเองได้ ดังนั้น วิมังสาคุณธรรมจึงสามารถเป็นหลักการช่วยในการศึกษาเล่าเรียนได้ดังนี้

  1. เป็นหลักการไตร่ตรองเพื่อสร้างแรงบันดาลใจเชิงบวก ได้แก่ วิมังสาเป็นคุณธรรมจริยธรรมช่วยให้ผู้ศึกษาเล่าเรียนเกิดความรู้สึกมีกำลังใจ มีความมุ่งมั่น ไม่ท้อถอย เกิดพลังสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะวิมังสาช่วยทำให้ผู้ศึกษาเล่าเรียนได้มองเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตนเองจากการศึกษา เช่น การที่ผู้ศึกษาเล่าเรียนได้เล็งเห็นความสำคัญและคุณค่าของการศึกษาจนทำให้ตนเองอยากจะประสบความสำเร็จอยู่เรื่อยๆ หรืออยากปรับปรุงพัฒนาตนเองด้วยการศึกษาเล่าเรียนอยู่เสมอ
  2. เป็นหลักการไตร่ตรองเพื่อสร้างภูมิต้านทานอารมณ์เชิงลบ ได้แก่ วิมังสาเป็นคุณธรรมจริยธรรมช่วยทำให้ผู้ศึกษาเล่าเรียนเกิดภูมิป้องกันตนเองจากความเบื่อหน่าย ท้อแท้ หดหู่ ไม่อยากทำอะไร อยากอยู่เฉยๆ ดังนั้น หากผู้ศึกษาเล่าเรียนมีวิมังสาแล้ว อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะวิมังสาจะช่วยทำให้เกิดความมั่นคงทางอารมณ์ กล่าวคือเมื่อผู้ศึกษาเล่าเรียนเกิดความล้มเหลวในการศึกษาเล่าเรียนแล้วย่อมสามารถตัดความรู้สึกด้านลบออกไปและนำตนเองมุ่งตรงต่อความสำเร็จได้อีกไม่นาน

     จากที่กล่าวมานี้ ทำให้เห็นได้ว่า วิมังสานี้เป็นคุณธรรมจริยธรรมที่คอยทำให้ผู้ศึกษาเล่าเรียนมีปัญญาในการบริหารจัดการตนเองในการศึกษาเล่าเรียน เพราะชีวิตทางการศึกษาไม่ใช่เรื่องง่าย การจะประสบความสำเร็จในการศึกษาจะต้องใช้ปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดคือการคิดวิเคราะห์ไตร่ตรองในวิธีการศึกษาเล่าเรียนของตนเอง เพราะหากสามารถไตร่ตรองหรือตั้งคำถามได้ การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องย่อมเป็นไปได้เสมอนั่นเอง อนึ่ง ความสำเร็จและความล้มเหลวในการศึกษาเล่าเรียนนั้นอาจจะไม่สำคัญเท่ากับการมีคำถามต่อความสำเร็จและความล้มเหลวที่เกิดขึ้นกับตนเอง เพราะหากมีคำถามในประเด็นดังกล่าวแล้ว การพัฒนาอย่างเสมอต้นเสมอปลายก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ

------------------------------------------------------

 

 

เรื่องโดย ดร.มนัสวี ศรีนนท์ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล


   
อ้างอิง

ทิ้งคำตอบไว้

ชื่อผู้แต่ง

อีเมลผู้เขียน

ตำแหน่ง *

 
ดูตัวอย่าง แก้ไข 0 ครั้ง บันทึกแล้ว
แบ่งปัน:
1,257,938 views since 16 August 2018