Forum

แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

การศึกษา : ความรู้และความจำ

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
253 เข้าชม
IL Admin
(@il-admin)
Reputable Member Admin
เข้าร่วม: 6 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 134
หัวข้อเริ่มต้น  

          เรื่องการศึกษามีหลายประเด็นที่เป็นเรื่องสำคัญมากน้อยแตกต่างกัน การจัดการศึกษาบางเรื่องก็เป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะมองว่าการศึกษาเป็นเรื่องของการพัฒนาคน เมื่อคนในสังคมได้รับการพัฒนาจากการศึกษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ผลประโยชน์โดยรวมก็จะได้กับสังคมนั่นเอง แต่ก็มีบางคนในสังคมไม่ได้มองอย่างนั้น โดยมองว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่จะต้องค่อยเป็นค่อยไป เป็นเรื่องที่จะทำอย่างเร่งด่วนไม่ได้ ส่วนเรื่องที่เร่งกว่าคือเรื่องปากท้องหรือเรื่องกินดีอยู่ดีของคนในสังคม เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่ค่อยว่ากันทีหลังเมื่อคนในสังคมปากท้องอิ่มแล้ว ดังจะเห็นได้จากปรากฎการณ์ทางสังคมการเมืองการปกครองที่นักการเมืองในแต่ละพรรคที่จะเป็นรัฐบาลไม่ค่อยสนใจที่จะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการหรือกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการศึกษากันเลย โดยมักจะมองว่าเป็นกระทรวงที่ไม่ค่อยจะมีผลต่อการสร้างผลงานให้คนได้ชื่นชมหรือติดใจพอที่จะเลือกมาเป็นผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในสมัยต่อไป หรือมองว่าเป็นกระทรวงที่ไม่มีอำนาจอะไรมากเท่ากับกระทรวงอื่นๆ สรุปแล้ว เรื่องการศึกษานี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะคนในสังคมจะเป็นเช่นไร สามารถพิจารณาดูได้จากการศึกษาที่สังคมดำเนินการให้แก่คนในสังคมได้เลย จึงไม่เป็นการเกินเลยไปนักที่จะพูดว่าการศึกษานี้สามารถเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเจริญก้าวหน้าของสังคมได้ เพราะสังคมจะเป็นเช่นไรนั้นย่อมขึ้นอยู่กับคุณภาพการศึกษาที่คนในสังคมได้รับนั่นเอง

          เรื่องการศึกษานี้มีประเด็นที่ชวนถกเถียงอยู่ 2 ประการ คือ 1. การศึกษาคือความรู้ และ 2. การศึกษาคือความจำ โดยทั้ง 2 ประการนี้ มีข้อคิดที่จะเสนอ ดังนี้

  1. การศึกษา คือ ความรู้

          เป็นการมองว่าการศึกษาไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระดับใด ระดับประถมศึกษาหรือระดับอุดมศึกษาล้วนเป็นความรู้ด้วยกันทั้งนั้น แต่ความรู้ที่ว่านี้ต้องไม่ใช่แค่องค์ประกอบของการจัดการศึกษา เช่น หนังสือ คอมพิวเตอร์ อาคารเรียน ห้องสมุด เพราะการศึกษา คือ ความรู้ในที่นี้เป็นการให้ความสำคัญที่ความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนการประยุกต์ใช้ความรู้ของผู้เรียน ดังนั้น ความรู้จึงวัดกันที่สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนเป็นสำคัญ หากเรียนแล้ว ผู้เรียนไม่สามารถพัฒนาตนเองได้ดีกว่าเดิมหรือเรียนแล้วไม่สามารถทำให้ตนเองดีขึ้นบนพื้นฐานแห่งการคิดเป็น พูดเป็น และลงมือปฎิบัติเป็น การศึกษาดังกล่าวนี้ย่อมไม่ใช่การศึกษา คือ ความรู้ อนึ่ง การคิดเป็นต้องไม่ใช่แค่คิดเป็นแล้วจบหรือตัดสินว่ารู้เลย แต่ต้องคิดเป็นแล้วสามารถพูดและทำเป็นด้วย เรียกว่าต้องให้เป็นอย่างครบวงจรหรือเป็นองคาพยพ แต่ก็น่าคิดเหมือนกันที่หลายคนในสังคมพากันไปสนใจเรื่องการศึกษาเพียงจำนวนเกรดเฉลี่ย หรือคะแนนที่ได้รับจากการประเมินและวัดผลต่อการศึกษาหาความรู้ของผู้เรียน ทั้งที่จริงแล้ว เรื่องเกรดเฉลี่ยหรือเรื่องอื่นๆ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลที่เกิดขึ้นจากการศึกษาเล่าเรียน ซึ่งหาใช่เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากการศึกษา เพราะความรู้จริงๆ ที่เกิดขึ้นจากการเรียนนั้น คือ การที่ผู้เรียนสามารถที่จะนำสิ่งที่เรียนไปบูรณาการใช้กับตนเองหรือนำไปเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเองให้อยู่ดีมีสุข อยู่รอดปลอดภัย เป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ ตลอดจนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมด้วย ในที่นี้ การศึกษาคือความรู้จึงไม่ใช่แค่ผลการเรียนที่ผู้เรียนได้รับจากการประเมินผลโดยผู้สอน แต่เป็นเรื่องของการนำสิ่งที่เรียนไปทำให้ตนเองและสังคมโดยรวมก้าวหน้า เรียกว่าเมื่อจบการศึกษาในระบบไปแล้ว ต้องสามารถดำรงตนให้อยู่อย่างไม่เป็นภาระของใครๆ สรุปแล้ว ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการศึกษานี้จึงไม่ใช่แค่สิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดมาให้ผู้เรียนได้รับรู้ ความรู้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างและเป็นประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้รับมาจากการเรียนรู้ในระบบ ความรู้จึงไม่ใช่สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ผู้เรียนไปจดจำได้มาจากสถาบันการศึกษา ด้วยสิ่งนั้นยังไม่ใช่ความรู้ของผู้เรียนนั่นเอง คือ เมื่อผู้เรียนต้องการนำความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาใช้ประกอบกิจการ  ความรู้หรือสิ่งที่ได้เรียนมาดังกล่าวก็ไม่สามารถเป็นอุปกรณ์หรือเครื่องมือพัฒนาตนเองได้เลย เพราะความรู้ประเภทที่ได้จากการจดจำก็เป็นเพียงการรับรู้ข้อมูลที่ผ่านเข้ามาในประสาทสัมผัส ซึ่งหาใช่เป็นความรู้ที่จะทำให้ผู้เรียนคิดเป็น พูดเป็น ทำเป็นได้ แต่คงเป็นได้แค่ความรู้ที่ผู้เรียนจำได้แล้วนำไปบอกต่อกันเท่านั้น และไม่ได้เป็นความรู้ที่จะช่วยทำให้ผู้เรียนสร้างสิ่งใหม่หรือนวัตกรรมได้เลย

  1. การศึกษา คือ ความจำ

          เป็นการมองการศึกษาที่เรื่องความสามารถจดจำได้ เรียกว่าหากไม่สามารถจำในสิ่งที่ศึกษาเล่าเรียนได้ ผู้เรียนก็จะถูกขนานนามว่าไม่มีความรู้อะไรเลย ความสามารถจดจำในสิ่งที่เรียนได้เท่ากับเป็นการบอกว่าผู้เรียนมีความรู้ ดังนั้น ความรู้ในที่นี้จึงไม่ได้มองไปที่การนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม แต่ความรู้ หมายถึง การที่ผู้เรียนสามารถจดจำและทำคะแนนการประเมินผลได้ตามเกณฑ์ หากสามารถที่จะจดจำในสิ่งที่เรียนได้มากและทำคะแนนได้ในจำนวนที่มากหรือได้เกรดเฉลี่ยสะสมสูงๆ ย่อมเท่ากับเป็นการยืนยันว่าเป็นผู้มีความรู้ การมองว่าการศึกษา คือ ความจำ จะเห็นได้จากปรากฏการณ์ในสังคมการศึกษาที่มีการสอบเข้าและสอบจบการศึกษา หากผู้เรียนไม่สามารถทำคะแนนให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ประกาศไว้ได้ ก็ถือว่าไม่ผ่านการศึกษาหรือไม่มีความรู้ในสิ่งที่กำลังวัดผลนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง หากมีผู้ใดสามารถสอบผ่านได้ ก็เท่ากับเป็นการบอกว่าผู้นั้นมีความรู้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่วัดเพื่อการสอบเข้าและสอบออกนั้นก็เป็นเพียงการวัดที่ความจำเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากที่ผู้ใดสามารถจดจำในสิ่งที่เรียนได้มาก ย่อมมีโอกาสสูงที่จะสอบผ่าน ตรงกันข้าม หากผู้เรียนจดจำอะไรไม่ได้เลย การที่จะทำให้ตนเองสอบผ่านตามเกณฑ์นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ สรุปแล้ว การศึกษา คือ ความจำนี้คือ การดูที่ผลเชิงประจักษ์ในสิ่งที่ผู้เรียนได้จดจำสิ่งที่เรียนได้มากหรือน้อย หากจำได้มากเท่ากับมีความรู้มาก ส่วนที่จำได้น้อยแสดงว่ามีความรู้น้อย การศึกษา คือ ความจำ จึงเน้นให้คนในสังคมแข่งขันกันในเชิงคะแนน เพราะเชื่อว่าคะแนนที่ผู้เรียนได้มานั้นเกิดจากการที่ผู้เรียนมีความรู้ในสิ่งที่เรียน โดยมีสมมติฐานว่าเป็นไปไม่ได้ที่ผู้เรียนจะได้คะแนนประเมินผลมาก หากผู้เรียนไม่มีความรู้ในสิ่งที่เรียน การศึกษา คือ ความจำ จึงเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ในสังคม เพราะช่วยทำให้คนในสังคมต่อยอดในสิ่งที่คนในสังคมรุ่นก่อนบอกกล่าวไว้

          จากที่กล่าวมาข้างต้นเกี่ยวกับการศึกษา คือ ความรู้ กับ การศึกษา คือ ความจำ ทำให้เห็นได้ว่าการศึกษามีเงื่อนไขหรือช่องว่างให้เกิดการตีความหรือใส่ความคิดเห็นได้มาก หากตีความว่าการศึกษา คือความรู้ โดยความรู้ที่เกิดขึ้นจากการศึกษานั้นต้องเป็นสิ่งที่ผู้เรียนสามารถนำไปเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเองและสังคมโดยรวมได้ คือ ต้องเป็นความรู้ที่สามารถทำให้ผู้เรียนคิดเป็น พูดเป็น และทำเป็น ตรงกันข้าม หากจบการศึกษาตามระบบการศึกษาที่แต่ละสังคมจัดให้แล้ว ผู้เรียนไม่สามารถที่จะเอาตัวรอดบนพื้นฐานของการเป็นที่พึ่งของตนเองและคนอื่นในสังคมได้ การศึกษาก็เป็นเพียงการทำให้คนที่เรียนจบออกไปเป็นภาระของสังคมหรือเป็นปัญหาของคนอื่นต่อไป ส่วนการศึกษา คือ ความจำ ก็เป็นการมองที่การพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนผ่านการจดจำสิ่งที่เรียน หากสามารถจดจำได้มาก ความรู้ในตัวผู้เรียนก็มีมากตามไปด้วย ดังนั้น การจดจำในสิ่งที่เรียนได้มากย่อมทำให้ผู้เรียนมีโอกาสในการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้มากตามไปด้วย ตรงกันข้าม หากไม่สามารถจดจำในสิ่งที่เรียนได้ การต่อสู้แข่งขันเพื่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานย่อมเป็นไปได้ยาก การศึกษาจึงเป็นเรื่องของการจดจำในสิ่งที่เรียนได้ แต่เมื่อกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว การศึกษา คือ ความรู้ และการศึกษา คือ ความจำ ยังมีข้อโต้แย้งหรือช่องโหว่อีกมาก ในที่นี้ ผู้เขียนจึงขอเสนอมุมมองโต้แย้งดังนี้

          1)  ข้อโต้แย้งต่อการศึกษา คือ ความรู้

          การให้ความสำคัญต่อความรู้ในเรื่องการศึกษานี้นับว่าเป็นเรื่องที่ดีเป็นอย่างยิ่ง แต่ต้องยอมรับว่าการศึกษาที่แต่ละสถาบันการศึกษาจัดให้แก่ผู้เรียนนั้นก็เป็นความรู้ด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ความรู้ที่หมายถึงการคิดเป็น พูดเป็น และทำเป็นในที่นี้นั้น หากจะพูดในบริบทการศึกษาตามที่เป็นกันอยู่นี้ ทุกๆ หลักสูตรที่สถาบันการศึกษาจัดให้แก่ผู้เรียนก็ล้วนมุ่งไปสู่การคิด พูด และทำเป็นด้วยกันทั้งนั้น ส่วนผู้เรียนจะคิด พูด และทำได้มากขนาดไหนย่อมขึ้นอยู่กับศักยภาพของผู้เรียนด้วย รวมทั้งกรอบในการพัฒนาผู้เรียนที่แต่ละสถาบันการศึกษาวางไว้เป็นเงื่อนไขตามกฎเกณฑ์ของกระทรวงนั้นก็มีเรื่องระยะเวลาของการศึกษาในแต่ละระดับชั้นด้วย จึงทำให้การวัดและประเมินผลเพื่อให้เรียนคิดเป็น พูดเป็น และทำเป็นตามความคาดหวังทางการศึกษาดังกล่าวอาจจะได้บนเงื่อนไขที่พอเป็นไปได้เท่านั้น แต่ก็ไม่ชัดเจนในผลเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนนัก ดังนั้น ผู้เรียนจึงเป็นคนที่คิดเป็น พูดเป็น และทำเป็นตามคะแนนการประเมินที่ผู้สอนให้ เรียกว่าเป็นการคิด พูด และทำเป็นบนความเชื่อที่ผู้สอนมีต่อผู้เรียน ส่วนตัวผู้เรียนจะสามารถคิดเป็น พูดเป็น และทำเป็นจริงๆ หรือไม่ คงต้องใช้เวลาในการฝึกฝนผู้เรียนอยู่ไม่น้อย สรุปแล้ว การศึกษา คือ ความรู้ จำเป็นต้องใช้เวลาและจัดการศึกษาให้เข้มข้นมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ และต้องเพิ่มเนื้อหาในหลักสูตรให้เป็นไปตามความคาดหวังที่จะให้ผู้เรียนคิดเป็น พูดเป็น และทำเป็นด้วย ทั้งนี้เกณฑ์การประเมินความรู้ของผู้เรียนต้องโยงใยให้ครบองคาพยพแห่งความรู้ทั้งในแง่แนวคิดและทฤษฎี ตลอดถึงการมีทักษะในความรู้อย่างรู้เท่าทันโลกด้วย

          2) ข้อโต้แย้งต่อการศึกษา คือ ความจำ

          สำหรับการให้ความสำคัญต่อความจำที่ผู้เรียนสามารถจดจำในสิ่งที่เรียนได้ว่าเป็นการศึกษานั้นก็มีข้อโต้แย้งอยู่หลายประการ คือ หากมองว่าการจดจำในสิ่งที่เรียนได้เป็นความรู้แล้ว สิ่งใหม่ๆ หรือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในสังคมโลกคงเป็นไปไม่ได้ เพราะการจดจำในสิ่งที่เรียนของผู้เรียนได้นั้นไม่สามารถสร้างสิ่งใหม่ขึ้นได้เลย สืบเนื่องจากว่าความจำนี้เป็นเพียงแค่การสืบต่อในสิ่งที่ผู้สอนบอกกล่าวแก่ผู้เรียนเท่านั้น หากผู้เรียนมีศักยภาพในการจดจำแล้ว การได้คะแนนหรือเกรดเฉลี่ยที่ดีย่อมเป็นไปได้ แต่การมีการศึกษาที่แท้จริงนั้นไม่ได้วัดกันที่คะแนนที่ได้จากการประเมินผล เพราะลำพังคะแนนที่ได้จากผลการเรียนนั้นยังไม่สามารถเป็นเครื่องมือวัดผู้เรียนได้ว่าจะสามารถทำให้ตนเองเจริญก้าวหน้าได้ รวมทั้งยังไม่ได้บ่งบอกถึงศักยภาพในการเป็นผู้สร้างสรรค์สังคมด้วย ดังจะเห็นได้จากที่คนในสังคมเต็มไปด้วยคนเก่งแบบมีความจำดี แต่ในที่สุด คนที่มีการศึกษาคือความจำนี้ก็ล้วนนำศักยภาพแห่งความจำที่ตนเองมีเอาเปรียบคนอื่นและสังคม ที่กล่าวเช่นนี้จะเห็นได้จากคนที่มีการศึกษาสูงๆ หรือมีศักยภาพจดจำในสิ่งที่เรียนได้มากจนสามารถได้คะแนนสูงและได้รับโอกาสมากกว่าคนอื่นในสังคม แต่ท้ายที่สุด ก็เห็นผลเชิงประจักษ์แล้วว่าคนที่มีการศึกษาคือมีการจดจำในสิ่งที่เรียนได้มากนั้นมักโกงหรือคอรัปชั่นมากกว่าชาวนาที่มีการศึกษาไม่สูง  หรือแม้แต่เรื่องความสุข จริงๆ แล้วการศึกษาก็ไม่ใช่ตัวบ่งชี้หลักเลย ดังนั้น การศึกษาคือความจำนี้จึงนับว่าเป็นรูปแบบที่ส่งเสริมให้คนชนะกันที่ผลคะแนนมากกว่าเรื่องอื่น เมื่อคนที่จบการศึกษาไปจากแนวคิดแบบนี้ ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าอาจเป็นผู้ทำให้สังคมเดือดร้อนและเป็นภาระให้กับสังคมที่จะต้องคอยขัดเกลาให้ดีขึ้น ซึ่งทั้งที่จริงแล้ว เขาก็มีการศึกษาอยู่แล้ว แต่ที่เป็นความผิดพลาดนั้นก็คือได้รับการศึกษามาแบบการจดจำเท่านั้น โดยการศึกษาแบบนี้ไม่สามารถทำให้ผู้เรียนคิด พูด และทำอย่างมีปัญญาได้

          สรุปแล้ว การศึกษา คือ ความรู้ และความจำนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันเพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการการศึกษาอยู่ตลอดมา แม้แต่ในประเทศไทย เรื่องการศึกษานี้ก็พยายามเขียนสโลแกนให้สวยหรูว่ามุ่งไปสู่การมีปัญญาก็เป็นเพียงนามธรรมเท่านั้น ส่วนที่เกิดขึ้นจริงๆ การศึกษายังเน้นไปที่การแข่งขัน โดยเฉพาะการแข่งขันกันในเชิงคะแนน ซึ่งคือการต่อสู้กันด้วยความจำนั่นเอง ดังนั้น จึงปรากฎว่าหากผู้เรียนจดจำในสิ่งที่เรียนได้มาก คะแนนที่เกิดขึ้นที่ถูกตีความว่าคือความรู้ย่อมมีมากตามไปด้วย ส่วนการคิดเป็น พูดเป็น และทำเป็นนั้นเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ เพราะหากจะให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนจริงๆ สถาบันการศึกษา ตลอดถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทุกฝ่ายจะต้องพัฒนาตนเองให้เข้มข้นกว่านี้หรือทำงานให้หนักขึ้น ดังจะเห็นได้จากที่วงการการศึกษาไทยในปัจจุบันพยายามปลูกฝังให้เด็กนักเรียนเรียนรู้เรื่องการไม่ทุจริต ไม่คอรัปชั่น และไม่คดโกง แต่ในความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย คนที่ทุจริต คอรัปชั่น และคดโกง ล้วนไม่ใช่เด็ก แต่กลับกลายเป็นผู้ใหญ่เสียอีกที่ทุจริต คอรัปชั่น และคดโกง ดังนั้น โครงการ “โตไปไม่โกง” เปลี่ยนเป็นโครงการ “โตแล้วไม่โกง” น่าจะดีกว่าและถูกต้องกว่า (ไหม)

[Download PDF]

เรื่องโดย ดร.มนัสวี ศรีนนท์ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล


   
อ้างอิง

ทิ้งคำตอบไว้

ชื่อผู้แต่ง

อีเมลผู้เขียน

ตำแหน่ง *

 
ดูตัวอย่าง แก้ไข 0 ครั้ง บันทึกแล้ว
แบ่งปัน:
1,257,886 views since 16 August 2018