เมื่อวันพุธที่ 5 มิถุนายน 2562 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมฟังการเสวนาหัวข้อ “การปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษาไทยในปัจจุบัน” จัดขึ้นที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ณัฐกริช เปาอินทร์ มีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนา 3 ท่าน คือ 1) รศ.ยืน ภู่วรวรรณ ที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2) รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 3) นางสาวนุชนภา รื่นอบเชย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ชื่อเดิม สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) มีประเด็นน่าสนใจ ดังนี้
เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์ของการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในปัจจุบันเป็นที่น่าเป็นห่วง จากสถิติการเกิดลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 ประกอบกับจำนวนมหาวิทยาลัยมีมากเกินความต้องการ จำนวนนักศึกษาที่จะเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยจึงลดลงจนน่าใจหาย หลายมหาวิทยาลัยต้องปิดตัวลง ส่วนที่เหลืออยู่ก็จำเป็นต้องเผชิญปัญหาท้าทายอีกหลายประการทั้งปัญหาภายในประเทศและปัญหาด้านคุณภาพของบัณฑิตเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในต่างประเทศ
รศ.ยืน ภู่วรวรรณ ชี้ประเด็นว่า ปัญหาอุดมศึกษาหลักๆ คือ ขาดการพัฒนาให้ทันโลก ทั้งด้านคุณภาพของบัณฑิตและคุณภาพของบุคลากร การกำหนดตัวชี้วัดไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและยังขาดการพัฒนาไปสู่นวัตกรรม เห็นได้ชัดจากการกำหนดวิสัยทัศน์ที่ค่อนข้างเพ้อฝัน เช่น การสร้างคุณภาพแข่งกับระดับโลก ซึ่งยังคงห่างไกลจากความเป็นจริง นอกจากนี้ กลไกการพัฒนาคุณภาพการศึกษายังเป็นลักษณะจากบนสู่ล่าง (Top-down approach) คือ เน้นการบริหารงานจากส่วนกลาง ทำให้การพัฒนาไม่เป็นไปตามบริบทและเน้นการตรวจสอบตามเอกสารมากเกินไป จึงไม่เกิดการปรับเปลี่ยนที่แท้จริง รศ.ยืน ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ประเด็นสำคัญของการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตอยู่ที่การเน้นที่ตัวเด็ก การสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการพัฒนาตนเอง และในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีและการสื่อสารไปไกล ควรส่งเสริมให้นักศึกษามีความฉลาดในการเลือกรับและแยกแยะข่าวสารข้อมูล โดยเฉพาะการแยกแยะความจริงหรือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง (Fact) กับ ความคิดเห็น (Opinion) เพราะเป็นปัจจัยหลักในกระบวนเรียนรู้ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังควรปรับเปลี่ยนบทบาทจากเดิมที่เป็นสถาบันให้ความรู้ ไปเป็นสถาบันผู้ให้บริการ เนื่องจากความรู้ในปัจจุบันเข้าถึงได้ง่าย เด็กที่ต้องการเรียนรู้ศาสตร์บางอย่าง เช่น วิชาเคมี ยังสามารถลงเรียนออนไลน์กับอาจารย์ที่เก่งที่สุดในโลกได้ ไม่จำเป็นต้องลางานเพื่อไปศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษาในมหาวิทยาลัยอีกต่อไป ดังนั้น การปรับเปลี่ยนบทบาทให้เป็นลักษณะการอำนวยความสะดวกในกระบวนการเรียนรู้ จึงอาจตอบโจทย์ความต้องการมากกว่า
รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสริมว่า รูปแบบการเรียนรู้เปลี่ยนจากการเรียนเพื่อได้รับปริญญา ไปเป็นการเรียนแบบหลักสูตรระยะสั้น (Short course) มากขึ้น นักศึกษาไม่ต้องการเสียเวลาเดินทาง รวมทั้งต้องการหารายได้ระหว่างเรียน การเรียนแบบเต็มเวลา (Full-time course) จึงไม่น่าสนใจเท่ากับการเรียนรู้แบบทุกที่ทุกเวลา สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้เริ่มมีการดำเนินการส่วนนี้ เรียกว่า ตลาดวิชา ซึ่งจะเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเลือกลงเรียนหลักสูตรที่ต้องการ สะสมหน่วยกิตไปจนครบ 25% ของหลักสูตรนั้น แล้วจะสามารถโอนเข้าหลักสูตรปกติได้ ทำให้ผู้เรียนเรียนจบเร็วขึ้น และรู้ตัวเองก่อนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยว่าสิ่งที่เรียนนั้นเป็นสิ่งที่ต้องการจริงหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์ตลาด ในส่วนของมหาวิทยาลัย ก็ยังต้องปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการเช่น การส่งเสริมให้อาจารย์ทำวิจัยมากขึ้น สนับสนุนในการหาแหล่งทุนจากภายนอก และการให้บริการวิชาการด้านอื่นๆ เป็นต้น
นางสาวนุชนภา รื่นอบเชย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ชื่อเดิม สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานแบบหลักสูตรระยะสั้นนั้น มหาวิทยาลัยสามารถทำได้ เนื่องจากไม่ใช่หลักสูตรที่ต้องให้ปริญญา ดังนั้น กรณีข้างต้นก็เป็นทางออกหนึ่งที่สามารถทำเพื่อตอบโจทย์ความต้องการ และเมื่อผู้เรียนสนใจเข้าศึกษาในหลักสูตรปริญญาก็สามารถคัดเลือกตามคุณสมบัติต่อไป แต่นอกจากการสร้างหลักสูตรระยะสั้นและปรับเปลี่ยนบทบาทแล้ว ยังมีบางมหาวิทยาลัยที่ต้องการเปิดวิชาแบบสหวิทยาการมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับกระบวนการเรียนรู้ในยุคอนาคต โดยทางสำนักงานฯ ก็ให้การสนับสนุนเท่าที่ทำได้ แต่สิ่งที่มหาวิทยาลัยอาจจะต้องวางแผนเพิ่มเติมคือ เรื่องการโอน การเทียบโอน การนับหน่วยล่วงหน้า การย้ายสาขาที่เรียน ฯลฯ ซึ่งเป็นประเด็นในการบริหารจัดการศึกษาที่สำคัญ
นอกเหนือจากประเด็นความท้าทายด้านการสร้างผลิตภัณฑ์และการบริหารจัดการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ข้างต้น ผู้ร่วมเสวนายังกล่าวถึงการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ดูมีแนวโน้มไปในทางที่ดี แต่ยังคงไม่เห็นรูปร่างที่ชัดเจนเนื่องจากเพิ่งประกาศออกมาได้เพียงหนึ่งเดือน และยังมีพระราชบัญญัติที่ยังไม่ประกาศ ซึ่งจะต้องติดตามต่อไป
เรื่องโดย ดร.สุทธิพร สัจพันโรจน์ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล