Forum

แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

คำถาม-คำตอบ การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ สมศ. (ตอนที่ 2)

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
1,086 เข้าชม
(@iladmin)
Reputable Member Admin
เข้าร่วม: 5 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 110
หัวข้อเริ่มต้น  

พบกันอีกครั้งกับคำถาม-คำตอบ เรื่องการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ของ สมศ. ค่ะ เมื่อไม่นานนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปบรรยายเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ให้กับสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “การสมัครใจเข้ารับการประเมินภายนอก” ซึ่งเห็นว่าน่าจะนำมาแบ่งปันกันค่ะ

คำถาม: “การประเมินภายนอกรอบสี่ เป็นการประเมินโดยสมัครใจ หมายความว่า ถ้าโรงเรียนไม่พร้อม ก็ไม่ต้องเข้ารับการประเมินภายนอก ใช่หรือไม่?

คำถามนี้ สามารถตอบแบบตรงไปตรงมาได้ว่า “ไม่ใช่” ค่ะ เนื่องจากมีการออกข่าวตามสื่อต่างๆ ว่าให้โรงเรียนที่มีความพร้อม เข้ารับการประเมินภายนอกโดยสมัครใจ จึงเกิดการสรุปว่าถ้าไม่สมัครใจก็ไม่ต้องเข้ารับการประเมินภายนอก ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ไม่ถูกต้อง ต้องยอมรับว่า ตัวผู้เขียนเองก็เคยเข้าใจผิดในช่วงแรก แต่หลังจากได้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมาย จึงพบว่า เป็นความเข้าผิด

เนื่องจาก ปัจจุบันเรายังอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4 พ.ศ.2562) ซึ่งใน พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคสอง ระบุไว้ชัดเจนว่า สถานศึกษาทุกแห่งต้องเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกห้าปี นับตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้าย หมายความว่า หากสถานศึกษาไม่เข้ารับการประเมินภายนอก ก็นับว่าเป็นการกระทำผิดตาม พรบ. ดังนั้น จนกว่าเราจะมีพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่ที่กำหนดเป็นอย่างอื่น หรือมีฉบับแก้ไขที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ สถานศึกษาที่ได้รับการประเมินภายนอกครบห้าปีแล้ว จะต้องดำเนินการขอรับการประเมินภายนอกรอบใหม่นะคะ

สถานศึกษาอาจมีคำถามต่อเนื่องว่า แล้วกฎกระทรวงที่ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 เกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา มีประเด็นสำคัญอะไร หรือทำให้กระบวนการประกันคุณภาพการศึกษาเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร ในอดีต สถานศึกษาต้องใช้มาตรฐานการประกันคุณภาพภายในตามที่ต้นสังกัดกำหนด และต้องได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. ตามมาตรฐานที่ สมศ. กำหนด โดยสถานศึกษาต้องส่งรายงานการประเมินตนเอง หรือ SAR ให้กับต้นสังกัดฉบับหนึ่ง และส่งให้กับ สมศ. อีกฉบับหนึ่ง ทำให้เป็นภาระงานอย่างหนักของสถานศึกษา กฎกระทรวง เรื่องการประกันคุณภาพ พ.ศ.2561 จึงกำหนดใหม่ ให้สถานศึกษาสามารถกำหนดมาตรฐานการประกันคุณภาพภายในได้เอง โดยอาจใช้มาตรฐานการศึกษาที่ทางกระทรวงศึกษาธิการประกาศมาเทียบเคียง และจัดทำ SAR ตามมาตรฐานการประกันคุณภาพภายในที่สถานศึกษากำหนด ส่งให้กับต้นสังกัด ซึ่งต้นสังกัดก็จะเป็นผู้ส่ง SAR ของสถานศึกษาที่พร้อมรับการประเมินภายนอก ให้กับ สมศ. อีกทีหนึ่ง

เพื่อทำการประเมินภายนอก สถานศึกษาจึงไม่ต้องจัดทำ SAR สองฉบับอีก ขณะเดียวกัน สมศ. ก็ไม่ได้กำหนดมาตรฐานการประเมินภายนอกขึ้นมาใหม่ มีแต่เพียงกรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอก ที่ใช้ในการพิจารณาผลการประกันคุณภาพภายในของสภานศึกษานั่นเอง

โดยสรุป การประกันคุณภาพการศึกษาในปัจจุบันยังคงมีอยู่ทั้งการประกันคุณภาพภายใน และการประเมินคุณภาพภายนอก แต่ปรับเปลี่ยนที่มาของมาตรฐานที่ใช้ในการประกันคุณภาพและกระบวนการตรวจสอบติดตามค่ะ

พบกับคำถามที่น่าสนใจอื่นๆ ในโพสหน้านะคะ

ดร.สุทธิพร สัจพันโรจน์
อาจารย์ประจำสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล


   
อ้างอิง

ทิ้งคำตอบไว้

ชื่อผู้แต่ง

อีเมลผู้เขียน

ตำแหน่ง *

 
ดูตัวอย่าง แก้ไข 0 ครั้ง บันทึกแล้ว
แบ่งปัน:
1,257,917 views since 16 August 2018