เนื่องจากตัวเองได้รับเชิญให้บรรยายในการอบรมผู้ประเมินภายนอกรอบสี่ระดับการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐานของ สมศ. อยู่หลายครั้ง บางครั้งมีคำถามที่น่าสนใจ จึงเห็นว่าน่าจะนำคำถาม-คำตอบมาเผยแพร่ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจทั้งกับผู้ประเมินภายนอก และสถานศึกษาที่จะเข้ารับการประเมินภายนอกรอบสี่ของ สมศ. มากขึ้น
คำถาม: จุดเด่นต่างกันความโดดเด่นอย่างไร
สองคำนี้มีความคล้ายกันตรงที่ เป็นผลการดำเนินงานของสถานศึกษาในลักษณะเชิงบวก แต่เรามักจะแยกไม่ค่อยออกว่า เมื่อไหร่จะเรียกว่าเป็นจุดเด่น หรือเมื่อไหร่จะจัดว่าเป็นความโดดเด่นได้ คำว่า “จุดเด่น” ใช้ในการอธิบายสิ่งที่สถานศึกษาทำได้เป็นอย่างดี ในระดับที่ดีกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ ยกตัวอย่างกรณีการดูแลรักษาความสะอาด และความปลอดภัยภายในโรงเรียน โรงเรียนอาจทำได้ดีมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ตามมาตรฐาน ไม่มีขยะ ห้องน้ำไม่มีกลิ่นเหม็น ห้องอาหารสะอาด มีการจัดเก็บเป็นระเบียบ ซึ่งเมื่อดูในกระบวนการทำงาน โรงเรียนมีการตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย มีการวางแผนงาน ดำเนินงานตามแผน ติดตามตรวจสอบ ปรับปรุงกระบวนการจนในที่สุดสามารถรักษาความสะอาดและความปลอดภัยได้ตามแผนงานที่วางไว้ ครูและนักเรียนไม่มีการเจ็บป่วยในเรื่องทางเดินอาหาร หรือไม่มีอุบัติเหตุเกิดในโรงเรียนเลยในช่วงสามปีที่ผ่านมา โรงเรียนยังอาจได้รับรางวัลความสะอาดจากองค์กรอื่นอีกด้วย ในกรณีนี้ เรายังคงเรียกว่าเป็น “จุดเด่น” ของสถานศึกษา ยังไม่อาจตัดสินได้ว่าเป็นความโดดเด่นหรือไม่
การพิจารณาความโดดเด่น จะแตกต่างกับการพิจารณาจุดเด่นตรงที่ เงื่อนไขการพิจารณาจะใช้หลัก 3A คือ ความตระหนัก (Awareness) ความพยายาม (Attempt) และ ความสำเร็จ (Achievement) จากรายละเอียดข้างต้น เราอาจนำมาอธิบาย 3A ได้ โดยเฉพาะในสองหัวข้อแรก คือ มีความตระหนัก (Awareness) คือ การตั้งเป้าหมาย การวางแผนการทำงาน รวมทั้งมีความพยายาม (Attempt) คือ การลงมือดำเนินการ แก้ปัญหา และปรับปรุงกระบวนการจนประสบผลสำเร็จ ดังนั้น เมื่อผู้ประเมินพิจารณาเห็นว่า โรงเรียนได้รับความสำเร็จเป็นรางวัล สมมติว่า เป็นรางวัลจากต้นสังกัด ซึ่งเทียบเคียงกับระดับ C2 คือ ระดับประเทศ ก็จะสรุปว่า โรงเรียนมีคุณภาพดความโดดเด่นด้านความสะอาดและความปลอดภัย ซึ่งความจริงแล้ว กระบวนการทั้งหมดนั้น ยังเป็นการพัฒนา “ตามมาตรฐาน” อยู่ เนื่องจากมาตรฐานกำหนดว่าแต่ละโรงเรียนต้องดำเนินการตามนี้ ดังนั้น หากไม่ได้มีการตั้งเป้าหมายนอกเหนือจากมาตรฐาน ก็จัดว่าเป็นการพัฒนาคุณภาพเพียงเพื่อให้ผ่านตามมาตรฐาน
กรณีนี้ จะสามารถนับเป็นความโดดเด่นได้ก็ต่อเมื่อ มีการดำเนินงานเกินกว่ามาตรฐาน เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาในลักษณะ “ยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น” เช่น หากโรงเรียนตั้งเป้าหมายว่า นอกจากการรักษาความสะอาดและความปลอดภัยซึ่งเป็นหน้าที่ของโรงเรียนตามมาตรฐานแล้ว หากผู้เรียนได้รับการส่งเสริมให้รู้จักรักษาความสะอาดและความปลอดภัยทั้งของตัวเองและสังคมด้วย ก็จะเป็นคุณลักษณะพึงประสงค์ของผู้เรียนที่ดียิ่งขึ้น โรงเรียนจึงมีการสอดแทรกกิจกรรมเพื่อสร้างคุณลักษณะเหล่านี้ในวิชาต่างๆ และในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ทำให้นักเรียนมีความรู้เท่าทันในเรื่องความปลอดภัย รู้จักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองเพื่อรักษาความสะอาดของตนเอง นักเรียนรุ่นพี่ยังสามารถสื่อสาร ถ่ายทอด หรือสร้างแรงบันดาลใจเรื่องความสำคัญของการรักษาความสะอาดและความปลอดภัยให้กับนักเรียนรุ่นน้องได้ จนเกิดเป็นแบบอย่างของโรงเรียนอื่นๆ หรือได้รับรางวัลในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ เช่นนี้ เราจึงจะสามารถจัดว่าเป็นลักษณะของความโดดเด่นได้ค่ะ
พบกับคำถามที่น่าสนใจอื่นๆ ในโพสหน้านะคะ
เรื่องโดย
ดร.สุทธิพร สัจพันโรจน์
อาจารย์ประจำสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล