Forum

แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

“จุดเปลี่ยน” การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ สมศ.

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
0 Reactions
3,005 เข้าชม
IL Admin
(@il-admin)
Reputable Member Admin
เข้าร่วม: 7 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 134
หัวข้อเริ่มต้น  

https://www.youtube.com/watch?v=eAuyGNJCKww

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่ง ต้องจัดให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกห้าปี[1] ซึ่งขณะนี้ กำลังอยู่ในช่วงระหว่างการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ. 2559-2563)  สถานศึกษาที่ถึงกำหนดระยะเวลาการประเมินคุณภาพภายนอก จึงต้องศึกษาเกี่ยวกับเกณฑ์การประเมินฯ เพื่อจะได้จัดเตรียมข้อมูล เอกสารหลักฐานต่างๆ รองรับการประเมินคุณภาพภายนอก คำถามที่อาจเกิดขึ้นกับสถานศึกษา คือ “การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่นั้น แตกต่างกับรอบที่ผ่านมาอย่างไร”

สำหรับสถานศึกษาที่ติดตามข่าวสารการประเมินฯ คงได้ทราบว่า สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) หรือ สมศ. ประกาศกรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ตั้งแต่ปี 2560[2]  โดยมีคำศัพท์หลายคำที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ เช่น การประเมินเชิงคุณภาพ การประเมินแบบองค์รวม (Holistic approach) การใช้วิจารณญาณโดยผู้เชี่ยวชาญ (Expert judgment) ฯลฯ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจแนวคิดใหม่ของการประเมินฯ รอบสี่ จะขอนำเสนอ “จุดเปลี่ยน 3 ประการ” ที่สำคัญในการประเมินฯ รอบสี่ของ สมศ.  ทั้งนี้ แม้ว่าจุดเปลี่ยนดังกล่าวเป็นแนวทางการประเมินฯ ที่สอดคล้องกันในทุกระดับการศึกษา แต่ด้วยธรรมชาติของบริบทสถานศึกษาแต่ละระดับที่ไม่เหมือนกัน ในทางปฏิบัติ อาจพบความแตกต่างในรายละเอียดบางประเด็น การอธิบายจุดเปลี่ยนนี้ จึงขอเน้นไปที่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งมีจำนวนสถานศึกษามากที่สุด ดังนี้

  1. การใช้ “กรอบแนวทางการประเมินฯ” แทน “มาตรฐานการประเมินฯ”

เนื่องจากการประเมินฯ ในรอบที่ผ่านมา มีข้อโต้แย้งเรื่องการกำหนดตัวชี้วัดของการประเมินคุณภาพภายนอกที่อาจแตกต่างกับการประเมินคุณภาพภายในอยู่บางประเด็น ทำให้สถานศึกษาต้องใช้เวลามากในการศึกษาทั้งสองมาตรฐาน การจัดเตรียมเอกสารและรวบรวมข้อมูลก็ต้องดำเนินการแยกกัน ในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ สมศ. จึงไม่มีการกำหนดมาตรฐานการประเมินฯ ใหม่ แต่เป็นเพียงการกำหนดกรอบแนวทางการประเมินฯ​ เพื่อดูกลไกการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา เน้นพิจารณาความเหมาะสม (เช่น ความเหมาะสมในการกำหนดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ภายใต้ข้อจำกัดของสถานศึกษานั้นๆ) ความเป็นระบบ (เช่น การบริหารงานที่เป็นระบบ มีการวางแผน กำหนดแนวทางการดำเนินงาน ลงมือปฏิบัติตามแผนงาน รวบรวมข้อมูลการดำเนินงานเพื่อนำไปปรับปรุงแผนการดำเนินงานเดิม) ความน่าเชื่อถือ (เช่น ผลการดำเนินงานสอดคล้องตามสภาพจริง มีหลักฐานเชิงประจักษ์) และประสิทธิผล (เช่น การดำเนินงานในด้านต่างๆ ส่งผลเชิงบวกแก่ผู้เรียน)

จุดมุ่งหมายของการใช้กรอบแนวทางการประเมินฯ ข้างต้น คือ การให้ความสำคัญกับบริบทของสถานศึกษา โดยผู้ประเมินฯ จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจว่าสถานศึกษาที่เข้าไปประเมินนั้น อยู่ในบริบทใด ใช้มาตรฐานการประกันคุณภาพภายในอะไร ตั้งเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาไว้อย่างไร และดำเนินการอะไรบ้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่สถานศึกษาตั้งไว้  โดยผู้ประเมินฯ จะพิจารณาการดำเนินงานในแต่ละด้าน พร้อมทั้งมองภาพรวม (Holistic approach) ว่าการดำเนินการทั้งหมดนั้นเกิดประสิทธิผลหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสิทธิผลที่จะนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียน ซึ่งการพัฒนาผู้เรียนจะไม่ได้พิจารณาจากผลการสอบแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ตามระดับความสามารถของผู้เรียน และตามที่สถานศึกษาตั้งเป้าหมายในการพัฒนาของตัวเองไว้

  1. เน้นการประเมินเชิงคุณภาพ

การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม และรอบที่ผ่านมา ใช้วิธีการพิจารณาการดำเนินงานและประสิทธิผลในรูปแบบคะแนนและตัวเลข แม้ว่าค่าคะแนนแต่ละระดับจะมีคำอธิบายกำกับอยู่ แต่คำอธิบายเหล่านั้นอาจไม่ได้เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสถานศึกษาเสมอไป ผลการพิจารณาในรูปแบบตัวเลขจึงไม่สามารถสะท้อนปัญหา บริบท และการดำเนินงานของสถานศึกษาตามสภาพจริง ทำให้สถานศึกษาและต้นสังกัดไม่สามารถนำผลการประเมินฯ ในรูปแบบตัวเลขไปใช้เพื่อการพัฒนาต่อยอดได้

ในการประเมินฯ รอบสี่ สมศ. จึงเน้นการประเมินเชิงคุณภาพ คือ เป็นการพิจารณาหลักฐานเชิงประจักษ์ จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย โดยผู้ประเมินจะรวบรวมข้อมูลทั้งจากการศึกษาเอกสาร การสังเกต การสัมภาษณ์บุคคล ฯลฯ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ การประเมินเชิงคุณภาพไม่ได้เป็นการปฏิเสธข้อมูลเชิงตัวเลข แต่เป็นการพิจารณาข้อมูลในทุกรูปแบบ ทั้งข้อมูลตัวเลข เอกสารที่เป็นทางการ รวมไปถึงเอกสารหรือข้อมูลไม่เป็นทางการที่ใช้ในการสื่อสารเป็นประจำภายในสถานศึกษา สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการอ้างอิงถึงการดำเนินงานต่างๆ ได้ ตรงนี้จึงเป็นจุดที่สร้างความยืดหยุ่นให้กับสถานศึกษา ในการลดภาระงานเอกสาร สถานศึกษาไม่จำเป็นต้องทำเอกสารหลักฐานใดๆ เพิ่มเติม เพียงแต่ให้ความร่วมมือกับผู้ประเมินฯ ในการให้ข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อช่วยให้ผู้ประเมินฯ เห็นภาพกระบวนการทำงานต่างๆ ของสถานศึกษาได้ตามที่เป็นจริง 

  1. เน้นการประเมินเพื่อพัฒนา ผลการประเมินฯ ไม่มี ได้/ตก หรือ รับรอง/ไม่รับรอง

ข้อมูลที่ได้จากการประเมินเชิงคุณภาพ จำเป็นต้องใช้วิจารณญาณของผู้ประเมินฯ (Expert judgment) ในการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ประเมินฯ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเพราะผ่านการอบรมจาก สมศ. จะทำความเข้าใจเหตุผล ที่มาที่ไป และความเชื่อมโยงของข้อมูล เพื่อวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของสถานศึกษา การรายงานผลการประเมินฯ  ในรอบสี่นี้ อาจมองได้เป็นสองรูปแบบกว้างๆ คือ 1) ระดับคุณภาพ มี 5 ระดับคือ ดีเยี่ยม ดีมาก ดี พอใช้ ปรับปรุง และ 2) ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การพัฒนา ซึ่งทั้งสองส่วนไม่มีการระบุผลการประเมินฯ ในลักษณะ ได้/ตก หรือ รับรอง/ไม่รับรอง  การนำเสนอผลการประเมินจะนำเสนอทั้งสองส่วนคู่กัน โดยสถานศึกษาจะทราบผลการพิจารณาระดับคุณภาพและข้อเสนอเป็นรายด้าน (แบ่งด้านตามมาตรฐานการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษานั้นๆ) ว่าคุณภาพของการดำเนินงานอยู่ในระดับใด และจะสามารถต่อยอดการพัฒนาในแต่ละด้านอย่างไร

 

“จุดเปลี่ยน” ข้างต้น เป็นความพยายามของ สมศ. ที่จะเปลี่ยนการประเมินฯ จาก one-size-fit-all เป็นการคำนึงถึงบริบทของสถานศึกษาให้มากขึ้น เพื่อการประกันคุณภาพภายนอกสามารถส่งเสริมกระตุ้น และจูงใจให้เกิดการพัฒนาคุณภาพภายในสถานศึกษาซึ่งเป็นการนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนอย่างยั่งยืน

 

อ้างอิง :

[1] กระทรวงศึกษาธิการ. (2542). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542, 19 ธันวาคม 2561. http://www.moe.go.th/moe/nipa/ed_law/p.r.g.edu1.pdf

[2] สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน). กรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.2559-2563), 19 ธันวาคม 2561. http://www.onesqa.or.th/upload/download/201709292308583.pdf

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน :

อ.ดร.สุทธิพร สัจพันโรจน์
อาจารย์ประจำสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล และ
คณะกรรมการพัฒนาระบบประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)


   
อ้างอิง
แบ่งปัน:
1,395,865 views since 16 August 2018