พบกันอีกครั้งกับคำถาม-คำตอบ เรื่องการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ของ สมศ. ค่ะ วันนี้จะมาขยายความคำว่า “นวัตกรรม” ซึ่งเป็นคำถามที่เคยได้รับจากผู้ที่เข้ารับการอบรมเป็นผู้ประเมินภายนอกของ สมศ. ว่า นวัตกรรมคืออะไร จริงๆ แล้ว คำว่านวัตกรรม มีคนพยายามอธิบายไว้มากมาย แต่สำหรับการประเมินรอบสี่ของ สมศ. มีรูปแบบที่ค่อนข้างชัดเจน จึงคิดว่าควรนำมาทำความเข้าใจให้ตรงกันค่ะ
คำถาม: “นวัตกรรม” สำหรับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ สมศ. คืออะไร
ก่อนอื่นขอพูดถึงความหมายของคำว่า นวัตกรรม ก่อนนะคะ คณะกรรมการพัฒนาระบบประเมินระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เห็นตรงกันว่า นวัตกรรม ต้องเป็นสิ่งที่ใหม่ในบริบท คำว่า บริบท ในที่นี้ มาจากที่มาว่า สถานศึกษาในแต่ละพื้นที่ แต่ละสังกัด มีข้อจำกัดและโอกาสที่แตกต่างกัน จึงต้องมีการคำนึงถึงบริบท สิ่งที่ใหม่ในบริบท หมายถึง สิ่งที่สร้างเพื่อการแก้ปัญหาหรือพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริงในบริบทนั้นๆ เมื่อมีความพยายามในการแก้ปัญหา หากมีการค้นหาหลักฐานเชิงประจักษ์ เราก็จะสามารถบอกที่มาที่ไปของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในสถานศึกษาได้ว่า เกิดขึ้นมาเพราะอะไร นอกจากนี้ การสร้างนวัตกรรมจำเป็นต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน มีความพยายามที่จะทำ ซึ่งความพยายามก็สามารถหาได้จากผลของการดำเนินงานที่อาจจะยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในปีก่อนๆ โดยผู้มีส่วนร่วมได้ช่วยกันปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในที่สุดสามารถบรรลุวัตถุประสงค์จนเป็นที่พอใจของผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย การบรรลุวัตถุประสงค์ แน่นอนว่าต้องบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่อาจมีผลการดำเนินงานอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ได้รับรางวัลจากหน่วยงานภายนอก หรืออาจเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สถานศึกษาอื่นๆ ในพื้นที่หรือนอกพื้นที่ แต่ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องได้รับรางวัลเสมอไป การได้รับรางวัลเป็นแค่ส่วนหนึ่งของผลการดำเนินงานที่อาจเป็นไปได้
พอเห็นภาพในส่วนของความหมายแล้วนะคะ คราวนี้ลองมาดูกรณีที่มักเข้าใจผิดเรื่องของนวัตกรรมบ้าง ตัวอย่างเช่น สถานศึกษาอาจจะต้องการพัฒนาเรื่อง Active Learning จึงมีการจัดอบรมครูหรือส่งครูไปพัฒนาเรื่องนี้ มีการตั้งโครงการให้ครูปรับเปลี่ยนแนวทางการสอน ซึ่งอาจจะยังไม่ได้ทำทั้งโรงเรียนในปีแรก แต่ปีถัดมาก็พยายามดำเนินงานให้ครบทุกระดับชั้นและทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยการประเมินความสำเร็จดูจากผลการเรียนของนักเรียนในแต่ละภาคการศึกษา/ปีการศึกษา เป็นต้น กรณีนี้ Active Learning จัดว่าเป็นเรื่องใหม่ในบริบท การตั้งโครงการ การวางแผนการอบรมครู และการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี ก็นับได้ว่าโรงเรียนมีการวางวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน การดำเนินงานที่มีส่วนร่วมของครู ตัวนักเรียนเอง ผู้บริหารสถานศึกษา อาจรวมไปถึงคณะกรรมการสถานศึกษา ก็นับว่าเป็นการทำงานร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ในกรณีนี้ ผู้ประเมินฯ ควรเริ่มจากการพิจารณาว่า การตั้งเป้าหมายในเรื่อง Active Learning มีความชัดเจนหรือไม่ และเป็นไปเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริงหรือเปล่า ผู้ประเมินฯ ควรค้นหาข้อมูลว่าเพราะเหตุใดสถานศึกษาจึงตั้งเป้าหมายในการพัฒนาเรื่องนี้ ผู้เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของเรื่อง Active Learning อย่างไร เนื่องจากข้อมูลข้างต้นที่ระบุการวัดผลเฉพาะด้านผลการเรียนของผู้เรียน เป็นการรวบผลการดำเนินงานจนอาจไม่สื่อถึงการพยายามพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง ผู้ประเมินฯ ควรพิจารณาด้วยว่า ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจเรื่อง Active Learning ว่าอย่างไร และในการปฏิบัติสอดคล้องกับความเข้าใจข้างต้นไหม สิ่งสำคัญในการพิจารณานวัตกรรม คือ การวิเคราะห์กระบวนการที่เคยทำไม่สำเร็จ ทำการปรับปรุงแก้ไขจนประสบความสำเร็จนั้น มีจุดเด่นอยู่ที่ใด จุดเด่นนี้เองเป็นหัวใจของนวัตกรรม และหน้าที่ของผู้ประเมินฯ ก็คือการถอดรหัสจุดเด่นเหล่านี้ เพื่ออธิบายกระบวนการที่สถานศึกษาสร้างนวัตกรรมขึ้นมานั่นเองค่ะ
พบกับคำถามที่น่าสนใจอื่นๆ ในโพสหน้านะคะ
เรื่องโดย
ดร.สุทธิพร สัจพันโรจน์
อาจารย์ประจำสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล