สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน เนื่องจากอาจารย์มหาวิทยาลัยวันธรรมดาฯ ได้ถูกมอบหมายจากที่ทำงานว่าให้เขียนบทความออนไลน์ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับผู้อื่นอย่างน้อยเดือนละ 1 บทความ จริงๆ ก็ไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรดี เพราะปกติอาจารย์มหาวิทยาลัยวันธรรมดาฯ ถนัดแต่โพสรูปซะเป็นส่วนใหญ่ (ฮา...) เอาเป็นว่าจากการพินิจพิเคราะห์แล้ว เลยตัดสินใจว่าจะเขียนเกี่ยวกับงานที่ตัวเองได้กระทำในแต่ละเดือนละกันเนอะ (เดือนหนึ่งมีตั้งสามสิบวันแหนะ มาดูกันว่าทำอะไรบ้าง) โดยเลือกมาสักหนึ่งงาน เพื่อบอกเล่าให้ทุกคนฟังละกันนะคะ
ในเดือน กรกฏาคม ปีนี้ หมดไปอย่างบ้าคลั่งด้วยการที่ผู้เขียนใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับงาน MOOC ที่ผู้เขียนได้รับทุน “โครงการพัฒนารายวิชา/บทเรียนออนไลน์แบบ SPOC และ MOOC (ปีการศึกษา 2560)” จากกองบริการการศึกษามา โดยผู้เขียนเองนั้นรับผิดชอบทำรายวิชา “หลักการวัดและประเมินผลการศึกษา (สำหรับครูผู้สอนและนักวิจัย)” (อย่าลืมเข้าไปชมกันนะคะ ^^) เรียกได้ว่างานนี้ทำกันหนักหน่วงขนาดที่ว่าผู้เขียนมีแนวโน้มต้องกลับไปเริ่มต้นรักษาด้านการนอนหลับใหม่กันเลยทีเดียว
ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่า MOOC (ออกเสียงว่า “มูค”) ที่คนส่วนใหญ่เขาเรียกกันนั้นมัน คือ อะไร มีที่มาอย่างไรและมีความสำคัญมากขนาดไหน แล้วจะทราบว่าทำไมอาจารย์มหาวิทยาลัยวันธรรมดาฯ จึงสนใจรูปแบบการเรียนรู้ระบบเปิดสำหรับมหาชน หรือ MOOC มากขนาดนี้ค่ะ
MOOC คือ อะไร???
MOOC (Massive Open Online Course) หรือ การเรียนการสอนระบบเปิดสำหรับมหาชน คือ รูปแบบของการนำเสนอบทเรียนในวิชาต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตโดยให้ผู้เรียนลงทะเบียนและเรียนรู้แบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ และเว็บแอพ-พลิเคชั่น โดยเนื้อหาที่นำเสนอใน MOOC นั้นเป็นการเน้นโดยตรงไปที่การสอนสำหรับคนกลุ่มใหญ่ ไม่เจาะจงเหมือนการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ต้องวิเคราะห์ผู้เรียนรายคน และ MOOC ก็ไม่ใช่รูปแบบการบรรยายแบบการเรียนรวมที่มีผู้เข้าฟังบรรยายจำนวนมากแต่ไม่มีการปฏิสัมพันธ์กันเลย แนวทางของ MOOC จะว่าไปแล้วมีความใกล้เคียงกับ E-Learning ซึ่งแต่เดิมนั้น E-Learning ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในรูปแบบการเรียนการสอนทางไกล แล้วจึงค่อยปรับสื่อที่ใช้ประกอบการเรียนการสอน หรือสื่อการเรียนรู้ (Learning Media) ให้อยู่ในรูปของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ Digital Publishing เช่น PDF, PowerPoint, Social Media Channels ไปจนถึงไฟล์ Videos Streaming หรือ Video Tutorials บน YouTube แต่การทำ E-Learning นั้นยังติดอยู่ในกรอบของสถาบัน หรือผู้สอนอยู่ทางเดียว นั่นคือจะมีแค่นักเรียนในสถาบันที่เรียนอยู่จะรู้จักช่องทางการเข้าถึง E-Learning เฉพาะในสถาบันของตนเพียงแค่นั้น จึงมีการเกิดไอเดียในการรวมระบบของการนำรายวิชาต่างๆ จากผู้สอนที่ทรงคุณวุฒิในสถาบันชั้นนำ หรือสถาบันการศึกษาที่ขึ้นชื่อในศาสตร์แขนงเฉพาะต่างๆ มารวมตัวกันเปิดสอนบนออนไลน์โดยผู้เรียนสามารถเข้าเรียนได้ฟรีขึ้น!!!
ทั้งนี้ โดยรายวิชาที่เปิดสอนผ่านระบบออนไลน์บน MOOC จะไม่จำกัดจำนวนของผู้เรียน (ขึ้นอยู่กับแต่ละรายวิชา) เพื่อเน้นการเข้าถึงที่สะดวกผ่านเว็บไซต์ทั้งบนคอมพิวเตอร์พีซี และอุปกรณ์พกพาอย่างแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน เป็นการสร้างนวัตกรรมการศึกษาแบบเสรีที่ใครๆ ก็เรียนได้ เป็นการยกเครื่องรูปแบบการเรียนการสอนให้สูงกว่ารูปแบบ E-Learning หรือการเรียนการสอนทางไกลแบบเก่าให้อยู่ในรูปของระบบเปิดแบบไม่แสวงหาผลกำไร (แต่บางที่ก็มีการแสวงหาผลกำไร เช่น ค่าสมัครเพื่อรับใบประกาศ เป็นต้น) ในปัจจุบัน MOOC ที่ได้รับความนิยมมากนั้นประกอบไปด้วย EdX หรือ MOOC.org (ของ Google), Coursera, ITunesU, Udemy และบริการอื่นๆ อีกมากมาย
Thai MOOC คืออะไร???
สำหรับประเทศไทยนั้น โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยเพื่อการจัดการเรียนการสอนในระบบเปิด หรือ Thai-MOOC เป็นโครงการภายใต้ โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ชื่อแผนงานที่ 3 “การสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล”
เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดทำโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย ขึ้น และเป็นแกนนำในการพัฒนาระบบกลางด้านการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ระบบเปิดสำหรับมหาชนแห่งชาติ หรือ Thai MOOC ขึ้น เพื่อใช้เป็นสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศกลางเพื่อรองรับ “การศึกษาระบบเปิดเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต” (Lifelong Learning Space) และทำการเปิดตัว Thai MOOC อย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนมีนาคม 2560
โดยลักษณะการทำงานนั้น แต่ละหน่วยงานจะร่วมดูแล Thai MOOC โดยการจัดการทั้งระบบ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ระบบเครือข่าย โปรแกรมระบบจัดการเรียนรู้ และการจัดการเรียนการสอน โดยมีสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ร่วมพัฒนารายวิชาและจัดการเรียนการสอน โดยโครงการ มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (หน่วยงานภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ) จะเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลและประสานให้เกิดการจัดเรียนการสอน มาตรฐานการศึกษาและการจัดเก็บประวัติและการเทียบโอนผลการเรียนรู้
Thai MOOC เหมาะสำหรับใครบ้าง???
Thai MOOC เป็นการศึกษาแบบเปิดสำหรับประชาชนคนไทยทุกคน ตั้งแต่นักเรียน นิสิต นักศึกษาทุกระดับชั้น ประชาชน ทุกกลุ่ม ทั้งในวัยทำงานจนถึงผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุจากการทำงานแล้วก็สามารถเรียน Thai MOOC เพื่อเพิ่มเติมความรู้ เพิ่มโอกาสในการทำงานและการประกอบอาชีพ หรือจะเพื่อพัฒนาศักยภาพตัวเองก็ได้
มีอะไรให้เรียนใน Thai MOOC และเรียนแล้วจะได้อะไร???
ปัจจุบันรายวิชาที่มีให้บริการใน Thai MOOC มีอยู่มากมายหลากหลายสาขา ทั้งรายวิชาที่เปิดทำการสอนในสถาบันการศึกษาในมหาวิทยาลัย รายวิชาเพื่อการศึกษาต่อเนื่องของวิชาชีพต่างๆ รายวิชาความรู้เพื่อการดำรงชีวิต รายวิชาความรู้เพื่อการทำงานหรือพัฒนาศักยภาพในการทำงาน รายวิชาด้านสังคม เช่น การพัฒนาทักษะในการดำรงชีวิตและคุณภาพชีวิต และการใช้ภาษาต่างๆ เป็นต้น
การเรียนใน Thai MOOC สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ ได้แก่
- ลักษณะที่เป็น cMOOC คือ มีความยืดหยุ่นสำหรับผู้เรียนซึ่งจะเรียนเมื่อไหร่หรือนานเท่าไหร่ก็ได้ตลอดเวลา ส่วนใหญ่มักเป็นรายวิชาที่ผู้เรียนไม่ได้ต้องการนำผลการเรียนไปใช้ต่อแต่อย่างใด เป็นรายวิชาที่ผู้เรียนเรียนเพื่อรู้ตามความสนใจเท่านั้น กับ
- xMOOC คือ รายวิชาที่มีกรอบระยะเวลาในการเรียนที่ชัดเจน เหมือนการเปิด-ปิดภาคเรียนแบบในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเป็นรายวิชาที่ผู้เรียนต้องการเก็บประวัติและผลการเรียนไว้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ในการเทียบโอนเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา เป็นหน่วยกิตในการเรียนหลักสูตรปกติของตัวเอง หรือเก็บประวัติและผลการเรียนเพื่อเสนอหัวหน้างานและหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อการเลื่อนตำแหน่ง เพื่อการต่ออายุใบประกอบวิชาชีพ (วิชาชีพครู วิชาชีพพยาบาล วิชาชีพเภสัชกร ฯลฯ) หรือเพื่อการสมัครงาน เป็นต้น
หากสนใจเรียนสามารถติดตามได้ที่ไหน???
(แหล่งที่มา: www.thaimooc.org)
Thai MOOC ใช้แพลตฟอร์มของ EdX ที่มีคุณภาพและใช้งานอย่างแพร่หลายในระดับสากล ผู้สนใจสามารถเข้าไปได้ที่เว็บไซต์ www.thaimooc.org เพื่อลงทะเบียนเรียนวิชาต่างๆ เนื้อหาการเรียนแบ่งออกเป็นบทคล้ายกับ E-learning ทั่วไป โดยเน้นสื่อประเภทวิดีโอเป็นหลัก มีแบบทดสอบก่อนและหลังเรียน นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชั่นให้ผู้เรียนสามารถอภิปรายโต้ตอบกันผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งสามารถเพิ่มเติมหรือแก้ไของค์ความรู้ในรายวิชานั้นๆ ลงใน Wikipedia เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน และติดตามความก้าวหน้าการเรียนรู้ของตนเองได้อีกด้วย
สุดท้ายนี้หากใครสนใจแต่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะลงเรียนวิชาไหน ก็ขอฝากรายวิชา “หลักการวัดและประเมินผลการศึกษา (สำหรับครูผู้สอนและนักวิจัย)” ของอาจารย์มหาวิทยาลัยวันธรรม ชาวนาวันหยุด (คาดว่าจะ online ช่วงเดือนมกราคม 2562) ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจด้วยนะคะ
(แหล่งที่มา: https://muxdev.mahidol.ac.th/dashboard)
References:
เรื่องโดย ดร.มนต์อมร ปรีชารัตน์ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล
MOOC กับ MOOCs เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรคะ
น่าจะเหมือนกันนะครับ