ในวงการการศึกษา “PBL” เป็นคำที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้ง แต่กลับสร้างความสับสนให้ผู้สอนจำนวนไม่น้อย เนื่องจาก PBL อาจหมายถึง Project-Based Learning หรือ Problem-Based Learning ซึ่งถึงแม้ทั้งสองแนวทางจะมีรากฐานจากปรัชญาการเรียนรู้แบบสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism) หัวใจและกระบวนการมีความแตกต่าง อย่างชัดเจน การเข้าใจผิดอาจทำให้การจัดการเรียนรู้ไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
Project-Based Learning (PjBL): เรียนรู้ผ่านการทำโครงการ
- หัวใจ: ผู้เรียนเรียนรู้จากการสร้าง “ชิ้นงานหรือโครงการ” ที่ตอบโจทย์สถานการณ์จริง
- ลักษณะกิจกรรม: มีโจทย์หรือภารกิจที่นำไปสู่การผลิตผลงานจริง
- บทบาทผู้สอน: โค้ช ผู้อำนวยความสะดวก และผู้ให้ feedback ระหว่างกระบวนการ
- ผลลัพธ์ที่คาดหวัง: ผลงานจับต้องได้ (tangible product) และความเข้าใจจากการลงมือทำ
- ตัวอย่าง: ผู้เรียนออกแบบนวัตกรรมที่ช่วยแยกประเภทขยะในหอพักนักศึกษา
Problem-Based Learning (PrBL): เรียนรู้ผ่านการแก้ปัญหา
- หัวใจ: ผู้เรียนเรียนรู้ผ่านการ “แก้ปัญหาที่ซับซ้อน” โดยไม่ได้มุ่งเน้นสร้างชิ้นงาน
- ลักษณะกิจกรรม: มีปัญหาที่ไม่มีคำตอบตายตัว ต้องใช้กระบวนการวิเคราะห์
- บทบาทผู้สอน: กระตุ้นให้ผู้เรียนตั้งสมมติฐาน ตั้งคำถามและชี้นำการสืบค้นความรู้ และกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดสังเคราะห์วิธีแก้ปัญหาด้วยตนเอง
- ผลลัพธ์ที่คาดหวัง: การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ ทักษะในการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล และการทำงานร่วมกัน
- ตัวอย่าง: นักศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์วิเคราะห์กรณีผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อน เพื่อหาสาเหตุและแนวทางการรักษาที่เหมาะสม
ประเด็นที่พบบ่อยในการนำ PBL ไปใช้ผิดบริบท
- ใช้ “Project-Based Learning” แต่ไม่มี “ชิ้นงานหรือผลผลิต” ที่เป็นรูปธรรม
- ใช้ “Problem-Based Learning” แต่เน้นให้ผู้เรียนทำ “โครงงาน” หรือ “รายงาน” โดยไม่มีการแก้ปัญหาจริง
- ขาดความเข้าใจว่าทั้งสองวิธี เน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าผลลัพธ์เพียงอย่างเดียว
ข้อเสนอแนะสำหรับผู้สอน
- เข้าใจหัวใจของแต่ละวิธี – ถามตนเองว่า “เราอยากให้ผู้เรียนสร้างโครงการหรืออยากให้เขาฝึกแก้ปัญหา?”
- ออกแบบโจทย์ให้สอดคล้อง – PjBL ควรมีผลผลิตที่จับต้องได้ ส่วน PrBL ควรมีปัญหาที่ท้าทายที่ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป และต้องใช้การสืบค้นจริง
- ทำหน้าที่เป็นโค้ชมากกว่าผู้บรรยาย – สนับสนุนผู้เรียนให้เรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการตั้งคำถามและให้ feedback อย่างมีคุณภาพ
- ประเมินทั้งกระบวนการและผลลัพธ์ร่วมกัน – ให้คุณค่ากับวิธีคิด การทำงานร่วมกัน ทักษะที่ผู้เรียนได้พัฒนา และองค์ความรู้ที่เกิดขึ้น
สรุป
การเลือกใช้ PjBL หรือ PrBL ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดขึ้นอยู่กับการเข้าใจแก่นของแนวคิดและจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ การออกแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทของผู้เรียนและวิชานั้น ๆ จะช่วยให้กระบวนการเรียนรู้มีความหมายและพัฒนา “สมรรถนะ” ของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง ทั้งในด้านวิชาการและทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21
อ้างอิง
Kokotsaki, D., Menzies, V., Wiggins, A. (2016). Project-based learning: A review of the literature. Improving Schools, 19(3), 267-277.
Hmelo-Silver, C.E. Problem-based learning: What and how do students learn?. Educational Psychology Review 16, 235–266 (2004). https://doi.org/10.1023/B:EDPR.0000034022.16470.f3
Tan, O.S. (2003). Problem-based learning innovation: Using problems to power learning in the 21st century. Singapore: THOMSON
Yew, E.H.J., & Goh, K. (2016). Problem-based learning: An overview of its process and impact on learning. Health Professions Education, 2(2), 75-79. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2452301116300062